เชฟรอนลงทุน2แสนล.ต่อสัมปทานผลิต 7 พื้นที่ 10 ปี มูลค่า 3.34 แสนล.รัฐได้แบ่งกำไร71%

14 ธ.ค. 2559 | 08:00 น.
เชฟรอนออฟชอร์ อัดงบลงทุน 2.27 แสนล้านบาท ลงทุนผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย หลังครม.ไฟเขียวให้ต่อสัญญาสัมปทานอีก 10 ปี ในแหล่งทานตะวัน และนอกพื้นที่อีก 6 พื้นที่ ไปสิ้นสุดในปี 2573 ตีมูลค่าที่ผลิตได้ 3.34 แสนล้านบาท ยันรัฐได้ผลประโยชน์ทุกเม็ดบวกส่วนแบ่งกำไรรวม 7 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม ให้กับบริษัทเชฟรอนออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสำรวจ B8/32 ในอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ 1,992 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ผลิตทานตะวัน และนอกพื้นที่ทานตะวัน ได้แก่ เบญจมาศ ผกากรอง มะลิวัลย์ จามจุรีเหนือ เบญจมาศเหนือ และชบา ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี รวม 7 พื้นที่ ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563-31 กรกฎาคม 2573 จากสัญญาปัจจุบันที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 และจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 ที่จะครบสัญญา 20 ปี

ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาดังกล่าว ทางบริษัท เชฟรอนฯ ได้ส่งแผนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพิจารณาแล้วว่าจะใช้งบการลงทุนในช่วง 10 ปี ประมาณ 6,514 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.27 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือคิดเป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่จะได้รับราว 9,548 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.34 แสนล้านบาท จากปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีอยู่ราว 156 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมัน แบ่งเป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว 76.2 ล้านบาร์เรล และผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณ 478 พันล้านลูกบาศก์ฟุต จากปัจจุบันทำการผลิตน้ำมันดิบอยู่ที่ 2.9 หมื่น บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 107 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

สำหรับการต่ออายุให้กับบริษัท เชฟรอนฯครั้งนี้ ทางรัฐบาลเห็นว่า จะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศในการรักษากำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่ให้ลดปริมาณลง และทำให้ผู้รับสัมปทานสามารถวางแผนการผลิตปิโตรเลียมได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้เกิดเอกชนลงทุนวางแผนผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และเป็นการส่งเสริมการสร้างงานในประเทศ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง

โดยผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่ได้นั้น จะยังอยู่ภายใต้ระบบไทยแลนด์ ทรี ซึ่งภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวง 692.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.42 หมื่นล้านบาท ได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 262.5 ล้านบาท จัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมได้ 856.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.99 หมื่นล้านบาท รวมผลประโยชน์ที่ภาครัฐได้ 1,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.44 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้รับสัมปทานจะมีกำไรสุทธิอยู่ที่ราว 633.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งผลกำไรดังกล่าวนี้ทางภาครัฐจะได้รับในสัดส่วน 71% หรือประมาณ 1.56 หมื่นล้านบาท และ 29% เป็นของผู้รับสัมปทาน เมื่อรวมผลประโยชน์ที่รัฐจะได้ทั้งหมดประมาณ 7 หมื่นล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับการต่ออายุให้กับบริษัท เชฟรอนฯครั้งนี้ ทางรัฐบาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศในการรักษากำลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทยไม่ให้ลดปริมาณลง และทำให้ผู้รับสัมปทานสามารถวางแผนการผลิตปิโตรเลียมได้ล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี ก่อนที่สัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้เกิดเอกชนลงทุนวางแผนผลิตอย่างต่อเนื่องได้ และเป็นการส่งเสริมการสร้างงานในประเทศ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การอนุมัติต่อสัญญาดังกล่าวให้กับเชฟรอนครั้งนี้ ถือว่าไม่ได้เป็นแหล่งใหญ่อย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ เนื่องจากกำลังการผลิตก๊าซฯเพียงวันละ 107 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น เมื่อเทียบกับแหล่งเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 รวมกับกว่า 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และยังเห็นได้ว่าการจะนำก๊าซขึ้นมาจากหลุมต้องใช้เงินในช่วง 10 ปี เป็นจำนวนมาก เพราะจะต้องลงทุนเจาะหลุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากช่วงปี 2538 - 2557 บริษัท เชฟรอนฯได้ลงทุนในแหล่งดังกล่าวไปแล้ว 7,127 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.49 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปี จะทำให้บริษัท เชฟรอนฯลงทุนในระยะเวลาที่เหลือเพียง 1,741 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.06 หมื่นล้านบาทเท่านั้น คิดเป็นมูลค่าปิโตรเลียมที่ได้ 3,741 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตอบแทนรัฐที่ได้รวมกันประมาณ 1,072 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.75 หมื่นล้านบาท โดยที่รัฐจะได้แบ่งสัดส่วนของกำไรอยู่ที่ 63% หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,217 วันที่ 11-14 ธันวาคม 2559