สพม.โชว์ผลงาน2ปีมุ่งการเมืองฐานราก ‘อลงกรณ์-ประวิช’ประกาศหนุนเต็มตัว

22 พ.ย. 2559 | 04:00 น.
สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) เปิดเวทีใหญ่จัดงานแสดงผลงานในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการส่งท้ายสพม.สมัยที่ 2 ที่จะครบวาระอย่างเป็นทางการ 21 พฤศจิกายนนี้ ท่ามกลางความกังวลของผู้เกี่ยวข้อง

เนื่องจากสพม. ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาการเมืองขึ้น และตั้งสพม.เป็นกลไกกำกับติดตาม โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รวมทั้งมี พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 มารองรับการทำงาน

ผลจากการเข้าควบคุมอำนาจปกครองของคสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ความไม่แน่นอนของสพม.สูงขึ้นอีก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องการพัฒนาการเมืองหรือกลไกใด ๆ ในเรื่องนี้ และซ้ำเติมด้วย สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ(สปท.) เห็นชอบรายงานการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ของกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เสนอให้ยุบเลิกสพม. แล้วให้ตั้งกรรมการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เป็นกลไกขับเคลื่อนแทน

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสพม. กล่าวว่า เมื่อทางคสช.ยังไม่มีประกาศหรือคำสั่งใดออกมา ก็ต้องเดินหน้าตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมืองที่มีอยู่ โดยทางสำนักงานสพม. ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาฯได้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสพม.ชุดใหม่อยู่ ซึ่งตามกฎหมายมาจาก 7 องค์ประกอบ ที่ดำเนินการ 4 องค์ประกอบ ได้ เช่น 1.สมาชิกจากผู้แทนภาคประชาสังคมที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเลือกกันเอง จังหวัดละ 1 คน 2.สมาชิกจากตัวแทนภาคประชาสังคม 16 คน 3.สมาชิกโดยตำแหน่ง เลขาธิการองค์กรอิสระต่าง ๆ จำนวน 6 คน 4.สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิอื่น 10 คน

[caption id="attachment_114610" align="aligncenter" width="500"] ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์[/caption]

ส่วนสมาชิกจาก 3 องค์ประกอบที่ยังไม่มีสถานภาพให้รอไปก่อน ได้แก่ 1.สมาชิกจากหัวหน้าหรือผู้แทนพรรคการเมืองที่อยู่ในสภา เลือกเหลือ 1 คน 2.สมาชิกจากหัวหน้าหรือผู้แทนพรรคการเมือง ที่ไม่มีที่นั่งในสภา เลือกกันเองเหลือ 2 คน และ3.สมาชิกจากประธานกมธ.กิจการวุฒิสภา และประธานกมธ.สามัญ วุฒิสภา เลือกกันเองเหลือ 1 คน

แม้จะได้สมาชิกไม่ครบทุกองค์ประกอบ แต่กฎหมายสพม.บัญญัติให้สมาชิกเท่าที่มีดำเนินการไปพลางก่อนได้ เมื่อองค์ประกอบที่เหลือมีสถานภาพขึ้นมาแล้วค่อยเข้ามาเติมในภายหลัง และระหว่างรอสมาชิกสพม.สมัยที่ 3 เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สพม.ชุดเดิมให้ทำหน้าที่ต่อไป

นายธีรภัทร กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสพม.มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การขับเคลื่อนประชาธิปไตยฐานราก ตามแนวทางของแผนพัฒนาการเมือง ฉบับที่ 1 (2550-2559) ได้แก่การส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การให้การศึกษาทางการเมือง และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่จะเป็นเสาเข็มให้การเมืองไทยมีความเข้มแข็งต่อเนื่อง โดยในแผนฯฉบับที่ 2 ที่ปรับลดระยะเหลือ 5 ปี (2560-2564) จะเริ่มตั้งแต่ต้นปีหน้า เรื่องฐานรากยังสำคัญที่สุด ต้องทำต่อ ควบคู่ไปกับโครงสร้างส่วนกลางและบน

สพม.สร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง ได้ผลักดันให้เกิดเครือข่ายประชาสังคมจังหวัด(คปจ.) เพื่อเป็นเวทีกลางของตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ทั้งตัวแทนองค์กรประชาสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนท้องที่ ส่วนราชการ เอกชน และสปท. เพื่อร่วมตัดสินใจในการกำหนดนโยบายสาธารณะและประเด็นปัญหาในพื้นที่ เป็นสภาพลเมืองที่แข็งขัน เตรียมความพร้อมยกระดับเป็นจังหวัดจัดการตนเอง โดยเวลานี้มีหลายจังหวัดเข้มแข็งจนร่วมทำแผนจังหวัดกับส่วนราชการได้แล้ว แม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ

“ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เป็นจังหวะสำคัญ ที่ต้องรวมพลังสร้างความร่วมมือแต่ต้น ซึ่งก็อยู่ที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเห็นความสำคัญและเร่งดำเนินการ”

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นวิทยากรร่วมอภิปราย ”การมีส่วนร่วมของประชาชนกับการพัฒนาประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง” ว่า จากประสบการณ์ที่ได้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมด้านสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนในจังหวัดเพชรบุรี เป็นนักการเมืองในพรรคและเป็นส.ส. กระทั่งเข้าร่วมขบวนปฎิรูปประเทศทุกวันนี้ การเมืองของนักการเมืองนำมาซึ่งการรัฐประหาร ไม่สามารถรักษาประชาธิปไตยได้

กระแสโลกกำลังปฎิเสธพรรคการเมือง ไม่สามารถสร้างศรัทธาจากประชาชน จึงล้มลุกคลุกคลานเป็นระยะ ขณะที่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนถดถอยลงไปนี้ การเมืองแบบมีส่วนร่วมของพลเมือง กลับเติบโตต่อเนื่อง และยกระดับการมีส่วนร่วมเข้มข้นยิ่งขึ้น “ผมสนับสนุนให้มีสภาพัฒนาการเมืองต่อไป”

นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านการมีส่วนร่วม แสดงความเห็นว่า ได้ทำโครงการ“หลักสูตรพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย”ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้เป็นศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง จากระดับจังหวัดลงไปอำเภอ จนถึงทุกศูนย์ของกศน.ระดับตำบล

“เมื่อต้องจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญ ที่คราวนี้มีผู้วิจารณ์ว่าเปิดให้ถกเถียงได้จำกัดมาก หากเทียบกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่เปิดกว้างกว่า แต่จริง ๆ แล้วในแง่ระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญ ปร 2550 ให้เวลาอภิปรายถกเถียงก่อนลงประชามติเพียง 16 วัน เทียบกับคราวนี้มีเวลาให้ถึงร้อยกว่าวัน ขณะที่การจัดทำประชามติคราวนี้ใช้งบประมาณน้อยมากและมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจากการทำงานกับเครือข่ายพลเมืองดังกล่าว ความสำเร็จเกิดจากมีประชาชนเข้าร่วม”

นายประวิช กล่าวย้ำว่า ต่อจากนี้ไปกกต.จะไม่คิดเรื่องอื่น นยอกจากการทำงานร่วมกับประชาชน เป็นหน้าที่ของสปท.ที่จะต้องผนึกพลังภาคส่วนต่างๆ เข้ามา เพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้เติบโตขึ้น เป็นพื้นฐานของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งต่อไปได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559