ชงนายกฯถกลาวยืดแวต ค้าชายแดนอีสานป่วนยอดขายทรุด-เอกชนจี้รัฐแก้ด่วน

22 พ.ย. 2559 | 03:00 น.
หอการค้าไทยฟังเสียงสะท้อน 18 ด่าน พร้อมหอบผลกระทบแวตลาว ชงพาณิชย์-นายกฯเจรจาผู้นำลาวเลื่อนใช้ หลังประเดิมหนองคายที่แรกฉุดยอดค้าวูบ นักท่องเที่ยวผวา ด้านเชียงรายดอดเจรจาแขวงบ่อแก้ว ยันคนซื้อสินค้าจำหน่าย-หลบด่านเจอดี พร้อมยํ้าขอเลื่อนใช้จนกว่าจะพร้อม มั่นใจค้าชายแดนเชียงของพุ่ง 20%

จากยอดการค้าชายและนักท่องเที่ยวบางตาหลังกระทรวงการเงิน สปป.ลาว ประกาศใช้กฎหมายเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% กับสินค้าติดตัวของนักท่องเที่ยวและชาวลาวข้ามซื้อสินค้าไทยมูลค่าเกิน 50เหรียญดอลลาสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุด ดร.อนุรัตน์ อินทร ประธานคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าได้สอบถามทางการแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว เกี่ยวกับการจำแนกวิธีจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 10% จากราคาสินค้านั้น ซึ่งได้รับคำตอบว่า จะจัดเก็บเฉพาะกรณีที่ซื้อสินค้าจากไทยไปเพื่อจำหน่าย และ ไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้องเท่านั้น ส่วนประชาชนทั่วไปซื้อเพื่อโภคบริโภคจะไม่จัดเก็บ เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าเป็นของฝากของที่ระลึก ก็จะไม่จัดเก็บเช่นกัน

อย่างไรก็ดีแขวงบ่อแก้วยังแจ้งกับคณะจากจังหวัดเชียงรายอีกว่า แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้แล้วก็แต่ในทางปฏิบัติแขวงบ่อแก้วยังไม่ได้ดำเนินการจัดเก็บแต่อย่างใด เพราะต้องทำความเข้าใจกับร้านค้ารายย่อย และเจ้าหน้าที่ก่อนดังนั้น จึงยังเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อนจนกว่าจะพร้อม

ขณะที่ การตรวจสอบตัวเลขค้าชายแดนด้านอำเภอเชียงของ 5 ปีได้เปรียบดุลการค้ากว่า 4 หมื่นล้านบาท เพราะส่งออกมากแต่นำเข้าน้อย แม้จะเผชิญอุปสรรคแต่มั่นใจว่า ปี 2560 ภาพรวมปริมาณการค้ายังขยายตัว 10-20% สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว ผ่านด่านศุลกากรเชียงของในปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 - กันยายน2559) มีการส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากรเชียงของทั้งสิ้น 14,611.27 ล้านบาท ส่วนการนำเข้ามีเพียง 5,983.08 ล้านบาท ทำให้ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลมากถึง 8,628.16 ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าการค้าชายแดนของเชียงราย ที่ผ่านด่านศุลกากรเชียงของ ไทยเป็นฝ่ายที่ได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด เมื่อสอบย้อนหลังไป 5 ปี (ปีงบประมาณ 2555-2559) มีการส่งออกสินค้าเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 59,715.78 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้ามีเพียง 19,457.61 ล้านบาท ไทยจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าถึง 40,228.14 ล้านบาท

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานีว่า ส่งผลกระทบต่อการค้าขายชายแดนไทย-ลาว ทั้งรายใหญ่ รายย่อย ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และ จังหนองคายกว่า 30 % เพราะปัจจุบันเริ่มใช้แล้วที่จังหวัดหนองคายเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าผ่านด่านทั้งๆที่ไม่อยู่ในข่ายเรียกเก็บภาษี ทางออกต้องลดอุปสรรคที่เกิดขึ้น

ล่าสุด ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย ตัวแทน หอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัด ฯลฯ เดินทางพบกงสุลใหญ่ สปป.ลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น เพื่อผ่อนปรน ข้อกำหนดบ้างประการ เช่น เพิ่มมูลค่าสินค้าติดตัวเข้าประเทศ สปป.ลาว จากเดิมเรียกเก็บครั้งละ 50 เหรียญสหรัฐฯ เป็นขอเพิ่มจำนวนครั้งที่นำเข้า เป็นต้นปรากฏว่าการหารือเป็นไปในทางที่ดี และได้รับการแจ้งว่า ประกาศดังกล่าวปัจจุบันอยู่ในขั้นทดลองใช้

ปัจจุบันทดลองกับด่านศุลกากรหนองคาย-เวียงจันทน์เพียงแห่งเดียว พร้อมกันนี้จะนำอุปสรรคที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน และแก้ไขต่อไป ขณะเดียวกันหอการค้าอุดรธานี ได้เสนอให้รัฐบาล ออกกฎหมายแทกรีฟันทางบก เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดน นอกจากแทกรีฟันทางอากาศที่ปัจจุบันดำเนินการอยู่ 8 พื้นที่ อาทิ หลักๆได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ตเป็นต้น

ขณะที่นายภมร เชาว์ศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหารและในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการเศรษฐกิจเพื่อนบ้านไทย-ลาว สะท้อนว่าภาพรวมไม่กระทบต่อการค้าชายแดนกลับกันมองว่ายังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ซึ่งผลกระทบจริงๆ จะตกอยู่ที่กลุ่มทุจริตหลบเลี่ยงด่านศุลกากรลาว ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ประจำด่านจะทราบว่า กลุ่มไหนซื้อเพื่อจำหน่ายและกลุ่มไหนซื้อเพื่อบริโภค ซึ่งเชื่อว่า กลุ่มที่หลบเลี่ยงก็มักจะหาช่องทางอื่นเช่น ใช้เส้นทางทางน้ำขนส่งสินค้าหรือใช้ด่านอื่นที่ลาวยังไม่เรียกเก็บแทน เพราะที่ผ่านมาลาวไม่เคยเก็บแวต ซึ่งแต่ละวันจะมีพ่อค้าลาวนำรถกระบะเข้ามาขนสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าชายแดน ไม่ต่ำกว่า 100 เที่ยว ทำให้ลาวเสียโอกาสทางภาษี แต่เนื่องจากที่ผ่านมา หอการค้าตื่นตัวต่อเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ทำให้สภาหอการค้าไทย ต้องจัดประชุม 18 ด่านที่รับความเดือนร้อนเพื่อหาทางออก ต่อรัฐบาลและ เพื่อให้รัฐบาลเจรจากับทางการลาวต่อไป

สอดคล้องกับ นาย นิยมไวรัช พาณิชย์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่า วันที่ 21 พฤศจิกายน นี้ จะนำข้อสรุปของ 18 ด่าน ไทย-ลาว เสนอต่อ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสนอข้อผ่อนปรนกับทางรัฐบาลลาว กรณีประกาศจัดเก็บแวต 10% นอกจากนี้ยังเสนอให้ พ่อค้านักท่องเที่ยวต่อชาติ สามารถขอคืนแวต 7% บริเวณด่านเหมือนกับนิติบุคคลไทย การเลือกใช้แวตกับด่านอื่นออกไปอีก 1ปี หลังใช้ที่หนองคายแล้ว เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,211 วันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน 2559