ดีเอสไอแจงการยุติสอบสวนคดี“สมชาย นีละไพจิตร”

03 พ.ย. 2559 | 07:39 น.
รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษที่ ๕๒/๒๕๔๘ กรณีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นคดีพิเศษตามมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง (๒) ประกอบมาตรา ๑๐ (๓) โดยมีพนักงานอัยการร่วมสอบสวนตามมาตรา ๓๒ แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๗

ซึ่งต่อมากรมสอบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้มีความเห็นทางคดีควรให้งดการสอบสวน ตามความเห็นของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และต่อมาสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ ๑ สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้วได้มีคำสั่ง “ให้งดการสอบสวน หากต่อมารู้ตัวผู้กระทำผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไปได้”  และตามที่คุณอังคณา นีละไพจิตร ได้ยื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษในประเด็นที่เกี่ยวข้อง นั้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษขอชี้แจงรายละเอียด ดังนี้   ๑.) คดีดังกล่าวถือว่าเป็นคดีประเภท “ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด” ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๐ ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อผู้รับผิดชอบการสอบสวนเห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้วให้ส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการ พร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน และกรณีคดีเช่นนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีระเบียบว่าด้วยมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.๒๕๕๐ ข้อ ๕ กำหนดระยะเวลาการสอบสวนคดีที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด ให้คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษทำการสืบสวนสอบสวนมีกำหนด ๑ ปี โดยที่ข้อเท็จจริงพบว่าคดีนี้ได้ใช้เวลาสอบสวนมาเป็นเวลานาน จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเสนอสำนวนไปให้พนักงานอัยการพิจารณา แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า

คดีนี้จะยุติการสอบสวนหรือการดำเนินการใด ๆ  โดยสิ้นเชิง แต่ยังสามารถทำการสืบสวน และหากต่อไปภายหน้ารู้ตัวผู้กระทำผิดจะสอบสวนต่อไป

๒.)กรณีร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้ สูญหาย พ.ศ. ... นั้น  หากภายหลังได้มีการประกาศและบังคับใช้เป็นกฎหมาย กรมสอบสวนคดีพิเศษขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ในคดีพิเศษที่มีลักษณะเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกับกรณีบุคคลสูญหายทุกเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษรับไว้ดำเนินการนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามกฎหมายต่อไป