“อินเดีย”ตลาดศักยภาพใหม่ บูมค้าไทย 5 แสนล้าน เล็งคนชั้นกลาง 350 ล้านคน

04 พ.ค. 2567 | 02:49 น.

เสียงจากภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ ชี้ตรงกันว่า ในปีนี้ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ของการขยายตัวเศรษฐกิจ และการค้าโลก

เวลานี้การค้าไทยกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (มีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปีที่ผ่านมากว่า 1.3 ล้านล้านบาท) มีความเสี่ยง จากสงครามอิสราเอลกับอิหร่าน และกับอีกหลายกลุ่มที่ต่อต้านอิสราเอลยังเกิดขึ้นเป็นระยะ ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปตะวันออกกลางตั้งอยู่บนความเสี่ยง และต้องเร่งหาตลาดชดเชย

ทั้งนี้หากพิจารณาประเทศในเอเชีย อีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่ผู้ส่งออกของไทยไม่ควรมองข้าม และต้องเร่งขยายตลาดคือ “อินเดีย” ที่ไทยและอินเดียมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน รวมถึงมี FTA อาเซียน-อินเดีย ที่ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก โดยในปี 2566 การค้าไทย-อินเดีย มีมูลค่า 555,217 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 348,551 ล้านบาท และนำเข้า 206,665 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ส่วนช่วง 2 เดือนแรกปี 2567 การค้าไทย-อินเดีย มีมูลค่ารวม 90,787 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 55,621 ล้านบาท และนำเข้า 35,165 ล้านบาท

“อินเดีย”ตลาดศักยภาพใหม่ บูมค้าไทย 5 แสนล้าน เล็งคนชั้นกลาง 350 ล้านคน

จีดีพีอินเดียโตต่อเนื่อง

สำหรับความน่าสนใจของอินเดีย มีมากมายหลายประเด็น ที่สำคัญ อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (ปี 2565-2566 จีดีพีอินเดียโต 6.84% และ 6.05% ตามลำดับ และคาดการณ์ปี2567 จะขยายตัวที่ 6.81%) ในปี 2566 อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก มีตลาดผู้บริโภคกว่า 1,300 ล้านคน (ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากจีน) ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคสินค้าและการบริการภายในประเทศ, มีมหาเศรษฐีมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก มีคนชั้นกลางประมาณ 350 ล้านคน นอกจากนี้โครงสร้างประชากรมีอายุระหว่าง 20-49 ปี ซึ่งอยู่ในวัยทำงาน ที่มีกำลังซื้อสูง

จากตลาดอินเดียที่มีขนาดใหญ่ นอกจากเป็นโอกาสด้านการค้าแล้ว ยังเป็นโอกาสด้านการลงทุนของไทย โดยอินเดียมีนักวิทยาศาสตร์และช่างเทคนิคมากเป็นอันดับ 3 ของโลก และใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางในการทำธุรกิจ ทำให้อินเดียเป็นจุดหมายปลายทางที่นักลงทุนต่างชาติชื่นชอบมาอย่างยาวนาน

บิ๊กธุรกิจไทยแห่ค้า-ลงทุน

ปัจจุบันธุรกิจไทยรายสำคัญที่เข้าไปลงทุน/ดำเนินธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ในอินเดียแล้ว ในสาขาอุตสาหกรรมเกษตรและเกษตรแปรรูป ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดัชมิลล์ จำกัด

สาขาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ และโลหะขั้นพื้นฐาน ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด (เครือซีเมนต์ไทย) สาขาอุตสาหกรรมเบา ได้แก่ บริษัท แพรนด้า จำกัด (มหาชน) (อัญมณีและเครื่องประดับ), บริษัท ร้อกเวิธ จำกัด (มหาชน) (เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน), บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) (เมลามีน) และบริษัท แอลเอ ไบซิเคิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด (รถจักรยาน)

สาขาอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องจักร ได้แก่ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท ยูเรก้า ดีไซน์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซัมมิท โอโต้ชีท อินดัสตรี จำกัด, บริษัท อีสเทิร์น โพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน)

ขณะเดียวกันมีบริษัทอินเดียที่มาลงทุนในไทย ได้เแก่ กลุ่ม Indo Rama, Aditya Birla, GP, Polyplex และ Tata โดยในปี 2566 อินเดียเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทย 12 โครงการ เงินลงทุน 1,042 ล้านบาท อยู่ในอันดับที่ 21 ของการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ(FDI) ที่มาขอรับการส่งเสริมในไทย

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

ติวเข้มเคล็ดลับเจาะตลาด

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การเจาะตลาดอินเดียให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว หากสามารถสรรหาคู่ธุรกิจได้อย่างถูกต้องในระยะแรกถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากเนื่องจากตลาดของอินเดียมีความหลากหลายและมีความซับซ้อน แตกต่างกันใน 29 รัฐและ 7 ดินแดนสหภาพ มีความหลากหลายทางด้านภาษาที่มีมากถึง 380 ภาษา และความหลากหลายในเรื่องอาหาร ภูมิอากาศ และวัฒนธรรมทางธุรกิจ

นอกจากนี้ราคาสินค้า เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ จากรายได้ต่อหัวของอินเดียยังตํ่ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้วมาก ดังนั้นคู่ธุรกิจที่ดีจะมีบทบาทที่สำคัญในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุนธุรกิจ เพื่อช่วยในเรื่องการวางแผนธุรกิจ ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ

“ข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจในอินเดียมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง การสรรหาคู่ธุรกิจในอินเดียได้อย่างถูกต้องนอกจากจะช่วยทำให้การดำเนินธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น และยังจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายของอินเดีย โดยคู่ธุรกิจที่ดีจะช่วยคาดการณ์และแก้ไขปัญหาอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินธุรกิจที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพื่อจัดตั้งธุรกิจที่ต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับของอินเดียที่เกี่ยวข้อง ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้สนใจที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจในอินเดียจำเป็นที่จัดต้องสรรหาคู่ธุรกิจในอินเดียที่ถูกต้องสำหรับแต่ละประเภทธุรกิจ ซึ่งจะทำให้ประสบความสำเร็จได้ในระยะยาว”

นอกจากนี้กลยุทธ์ในการเจาะตลาดอินเดียให้สำเร็จ มีอย่างน้อย 5 กลยุทธ์ ได้แก่ การตั้งราคาสินค้าให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ, สินค้าอาหารที่มีศักยภาพในการเจาะตลาด อาทิ อาหารมังสวิรัติผสมเครื่องเทศ, การเลือกเจาะตลาดทีละที่, การใช้กรอบการค้าเสรี (FTA) เป็นตัวช่วยสำคัญ ขณะเดียวกันจากการค้าในรูปแบบออนไลน์ที่มาแรงในอินเดีย จะต้องศึกษพฤติกรรม ผู้บริโภคจากช่องทางออนไลน์ให้ถ่องแท้ ซึ่งทุกกลยุทธ์ที่กล่าวมาคงไม่ยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการของไทย