"นายก TEA" ชี้เทรนด์ ‘เอ็กซิบิชั่น’ ปี 67 ติดปีกธุรกิจ ชิงตลาด 2 หมื่นล้าน

05 พ.ค. 2567 | 10:28 น.

ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้า (เอ็กซิบิชั่น) มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวเกือบ 100% ในปี 2567 ซึ่งเทรนด์การจัดงานในปีนี้จะเป็นทิศทางเช่นไร “ปนิษฐา บุรี” นายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) หรือ TEA มีคำตอบ

การจัดงานแสดงสินค้า (เอ็กซิบิชั่น) ก่อนโควิด ทำรายได้เข้าประเทศสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท ด้วยจำนวนการจัดงานรวม 534 งาน แบ่งเป็น งานแสดงสินค้าในประเทศ 407 งาน และงานแสดงสินค้านานาชาติ 127 งานมีผู้เข้าร่วมงานต่างชาติ 264,005 ราย ซึ่งในปีที่ผ่านมาฟื้นตัวกลับมา 80% แล้ว และคาดว่าในปีนี้จะฟื้นตัวกลับมาเกือบ 100%

โดยเทรนด์ ปี 2567 นี้จะเห็นงานใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” ของรัฐบาลมากขึ้น อาทิ งานทางด้าน Fintech, Wellness, Food และ Logistics ด้าน TEA ให้ความสำคัญกับ “Regenerative Exhibitions” หรือการจัดงานแสดงสินค้า ฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน

ปนิษฐา บุรีนายกสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมงานแสดงสินค้า (Exhibitions) จำนวนการจัดงานเริ่มกลับมาเกือบ 100% และเริ่มเห็นงานใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงขนาดของการจัดงานที่เคยลดลง ก็เริ่มขยายพื้นที่ขึ้น อีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสำหรับเทรนด์การจัดงาน ในอดีตจะเน้นจำนวนการจัดงาน แต่ ณ ปัจจุบันเน้นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผู้ซื้อ (Buyers) ที่มีคุณภาพและชัดเจน มีการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาคุณภาพของงาน การให้ไพโอริตี้ลูกค้ามากขึ้น

\"นายก TEA\"  ชี้เทรนด์ ‘เอ็กซิบิชั่น’ ปี 67  ติดปีกธุรกิจ ชิงตลาด 2 หมื่นล้าน

เฉพาะตัวเลขของการจัดงานตลอดปี 2566 จาก 4 ศูนย์การแสดงสินค้าหลักของไทย คือ รอยัล พารากอน ฮอลล์, อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เป็นงาน Trade Exhibition 39% และงาน Consumer 61% ใช้พื้นที่ในการจัดงานทั้งสิ้น 23 ล้านตารางเมตร และคาดในปี 2567 ยังมีแนวโน้มการเติบโตขึ้น 10 % จากปี 2566

ขณะที่เทรนด์ของการจัดงานแสดงสินค้าในปี 2567 หลายงานจะสอดรับกับวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND: จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ของรัฐบาล โดยวิสัยทัศน์ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ 1. ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว 2. ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ 3. ศูนย์กลางอาหาร 4. ศูนย์กลางการบิน 5. ศูนย์กลางขนส่งของภูมิภาค 6. ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7. ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. ศูนย์กลางทางการเงิน

“ปีนี้เราจะเห็นงานที่เกี่ยวกับ Fintech, Wellness และ Logistics เข้ามามากขึ้น รวมถึงงานทางด้านการท่องเที่ยว อาหาร และนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิต จะยังคงมีอย่างต่อเนื่อง การที่รัฐบาลประกาศวิสัยทัศน์ทั้ง 8 ด้าน ทำให้ผู้จัดงานมองเห็นว่าเทรนด์ของการจัดงานว่าควรไปในทิศทางใด เพราะงาน Exhibition ถือเป็น กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญขององค์กร” นางปนิษฐา กล่าว

ขณะที่เทรนด์ใหญ่สำหรับการจัดแสดงสินค้าในระดับโลก จะมุ่งสู่ “Regenerative Exhibitions” การจัดงานฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน เป็นเทรนด์สำคัญอีกอย่างที่ผู้จัดงานจะต้องเตรียมพร้อม คือ sustainability (ความยั่งยืน) ยกระดับเป็น Regenerative Exhibitions (การจัดงานฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน) เนื่องจากลูกค้าจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ประเทศไทยในฐานะเป้าหมายศูนย์กลางการจัดงานของเอเชีย เราต้องพร้อมที่จะต้อนรับและสนองต่อเทรนด์ความต้องการของบริษัทใหญ่ๆ จากทั่วโลก

\"นายก TEA\"  ชี้เทรนด์ ‘เอ็กซิบิชั่น’ ปี 67  ติดปีกธุรกิจ ชิงตลาด 2 หมื่นล้าน

ในส่วนของ สมาคม TEA มีแนวคิดที่อยากให้คนในอุตสาหกรรมเข้าใจ เทรนด์โลก สิ่งที่เน้นในปีนี้คือ Regenerative การฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน คือ แนวคิดตั้งแต่ต้นน้ำเลย เช่น การใช้ทรัพยากรทดแทนในการก่อสร้าง การลดปริมาณขยะหลังการจัดงาน การสื่อสารเพื่อให้มีความเข้าใจ ที่ต้องเป็นความร่วมมือกันทั้งระบบที่เกี่ยวข้อง  (ซัพพลายเซน)  อาทิ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่สมาชิก ถึงการเลือกต้องใช้วัสดุอะไร ที่เหมาะแก่การใช้งาน (function) และไม่สร้างภาระ หรือการออกแบบเพื่อเอาไปใช้ต่อ ส่งต่อ และไม่ทำลายธรรมชาติ การเอาของไปทิ้ง ต้องทิ้งอย่างไรถึงจะถูกต้องและปลอดภัย เป็นต้น

สำหรับการแข่งขันในตลาดการจัดแสดงสินค้าคู่แข่งสำคัญของไทย คือ สิงคโปร์และฮ่องกง แต่ด้วยประเทศไทยมีเสน่ห์เอกลักษณ์ความเป็นไทย และความหลากหลายในหลายๆ ด้าน เช่น การเดินทางมีตั้งแต่ Private Jet จนถึงรถตุ๊กตุ๊ก อาหารมีตั้งแต่ Street Food จนถึง Michelin Stars ราคาห้องพักโรงแรมก็ไม่แพง หากเทียบกับสิงคโปร์ เป็นต้น ทำให้ขณะนี้ไทยเป็น อันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับ 4 ของเอเชียในด้านการจัดงานแสดงสินค้า

อย่างไรก็ดีสิ่งที่ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเอง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน คือ การอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ามาจัดงาน และคนทำงานต้องพร้อมในเรื่องของภาษาเพื่อรองรับผู้เข้าชมงานจากต่างประเทศ สมาคม TEA จะต้องผลักดันการจัดเทรนนิ่งบุคลากรหรือองค์กรขนาดเล็ก ให้พร้อมสำหรับตลาดจัดงานแสดงสินค้า พร้อมเสริมองค์ความรู้ใหม่ให้กับสมาชิกอย่างต่อเนื่อง

\"นายก TEA\"  ชี้เทรนด์ ‘เอ็กซิบิชั่น’ ปี 67  ติดปีกธุรกิจ ชิงตลาด 2 หมื่นล้าน

อย่างการจัดงาน Thailand MICE X-Change 2024 งานแสดงนวัตกรรมและบริการ การจัดงานแสดงสินค้า การจัดประชุมองค์กรและการจัดอีเว้นท์ ระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ก็เกิดจากแนวคิดเพื่อสร้างโอกาส ประกาศความพร้อมของเครือข่ายธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าไทยในการรองรับงานระดับนานาชาติ เป็นการรวมตัว Supply Chain ผู้ประกอบการงานแสดงสินค้าทุกสาขาได้นำเสนอสินค้าและบริการ

เวทีนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่สมาชิกได้เข้าถึงบริษัท องค์กร ที่ต้องการใช้งานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือทางการตลาดแล้ว ในครั้งนี้ก็จะเป็นโชว์เคส ด้วย Regenerative Exhibitions ที่เป็นวิสัยทัศน์ของสมาคมด้วย เพื่อยกระดับมาตรฐานการการจัดงาน รองรับงานระดับโลก

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นภารกิจภายใต้วิชั่น ของ TEA ที่ว่า “To be the driving force in making Thailand one of the preferred choices for the Regenerative Exhibitions by 2030” นำไทยสู่ความเป็นหนึ่งในด้านการจัดงานแสดงสินค้านั่นเอง

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,989 วันที่ 5 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567