เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สร้าง 9 ปี โครงสร้างพื้นฐานเสร็จ 89%

05 พ.ค. 2567 | 09:07 น.

เปิดความคืบหน้า “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” ใน 10 พื้นที่เป้าหมาย หลังจากระดมพัฒนาตั้งแต่ปี 2558 พบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการดำเนินงานเฉลี่ย 89%

ความคืบหน้า “เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน” โดยได้เริ่มดำเนินงานพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ใน 10 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และเชียงราย เมื่อปี 2558 เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน จัดระเบียบความมั่นคงชายแดน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศ การตั้งอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจสำคัญของประเทศในภูมิภาค และการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนในด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน การจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จด้านการบริหารจัดการแรงงาน และการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากร การจัดหาพื้นที่พัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการลงทุน

สำหรับกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เดิมใช้กลไลของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ซึ่งต่อมาได้รับการยกเลิกไปโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 และปัจจุบันได้มีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) เป็นกลไกในการดำเนินงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564

ล่าสุดกองยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานความก้าวหน้าล่าสุด (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567) พบว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ใน 10 พื้นที่ ครอบคลุมทั้งในด้านการคมนาคมขนส่งระบบสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ การพัฒนาด่านพรมแดน/ด่านศุลกากร การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสังคม สามารถดำเนินการได้ตามแผน 

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าการดำเนินงานเฉลี่ยร้อยละ 89 และมีโครงการสำคัญที่แล้วเสร็จ/จะทยอยแล้วเสร็จในช่วงปี 2562-2568 โดยโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่น 

  • ทางหลวงหมายเลข 12 ตาก-แม่สอด (แล้วเสร็จทั้งเส้นในปี 2562) 
  • อาคารท่าอากาศยานแม่สอด (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2562) 
  • สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 (เปิดใช้งานแล้วในปี2562)
  • ด่านศุลกากรและระบบอำนวยความสะดวกการผ่านแดน เช่น ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2562) 
  • ด่านพรมแดนแม่สอดแห่งที่ 2 (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี2562)
  • ด่านบ้านพุน้ำร้อน (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563) 
  • อาคารที่ทำการด่านศุลกากรเชียงแสนแห่งใหม่และสิ่งปลูกสร้างประกอบ (ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563) 
  • การต่อเติมความยาวทางวิ่งสนามบินแม่สอดให้สามารถรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น Boeing 737 (ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี2564) 
  • ทางหลวงหมายเลข 3 ตราด – หาดเล็ก ตอนแยก ต.ไม้รูด - บ.คลองจาก (ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี2565) 
  • ทางหลวงหมายเลข 1021 อ.เทิง – อ.ดอกคำใต้ ตอน อ.เชียงคำ –อ.เทิง ปรับปรุงสิ่งอ านวยความสะดวกด่านศุลกากรคลองใหญ่ ทางหลวงหมายเลข 4 – ด่านสะเดาแห่งที่ 2 (ตอนที่ 1)
  • โครงการเพิ่มหม้อแปลงด่านนอกในพื้นที่ด่านศุลกากรสะเดา อ.สะเดาจ.สงขลา (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) (ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี2566)

 
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น 

  • ถนนแยก ทล.4 –ด่านสะเดา แห่งที่ 2 (ตอนที่ 2) 
  • ด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 และศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนม 
  • ทางหลวงหมายเลข 81 บางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี
  • ทางเลี่ยงเมืองหนองคายด้านตะวันออกด่านศุลกากรอรัญประเทศ (บ.หนองเอี่ยน) (คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2567) 
  • ถนนสาย มห. 3019 แยก ทล. 212 –อ.เมือง จ.มุกดาหาร (ตอน 2) สถานีขนส่งสินค้าจังหวัดหนองคาย (คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2568) 

นอกจากนี้หากพิจารณามูลค่าการลงทุนเอกชน และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พบว่า ตั้งแต่ปี 2558 – ปัจจุบัน มีมูลค่าการลงทุนรวม 45,744.36 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • การลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดำเนินการลงทุนแล้ว 78 โครงการ วงเงิน 20,287.53 ล้านบาท ในประเภทกิจการ อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป พลาสติก อาหารสัตว์ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน อุปกรณ์ก่อสร้าง โรงพยาบาล ถุงมือยางทางการแพทย์ (จากโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 121 โครงการ วงเงิน 30,236 ล้านบาท)
  • โครงการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่พัฒนาซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด กาญจนบุรี และนครพนม รวม 5,106.02 ล้านบาท 
  • การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้วและสงขลา รวม 5,731.21ล้านบาท (เฉพาะเงินลงทุนของ กนอ.และการลงทุนของภาคเอกชนในนิคมฯ)
  • การจัดตั้งธุรกิจใหม่ 7,456 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 14,082 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น SMEs สูงถึงร้อยละ 98 มีประเภทกิจการ อาทิ ก่อสร้างอาคารทั่วไป โลจิสติกส์ ผลิตเสื้อผ้า อสังหาริมทรัพย์ และโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากไม้แปรรูป
  • การจัดตั้งเขตปลอดอากรในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หนองคาย และสงขลาและคลังสินค้าทัณฑ์บนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มุกดาหาร สงขลา หนองคาย และเชียงราย วงเงินรวม 510 ล้านบาท ซึ่งขอรับสิทธิประโยชน์ของกรมศุลกากร
  • การให้สินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (Exim Bank) เพื่อการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายและสงขลา รวม 27.6 ล้านบาท