“คมนาคม” สั่งรื้อระบบ “รถไฟฟ้าโมโนเรล” ปมล้อสายสีเหลืองหล่นใส่แท็กซี่

03 ม.ค. 2567 | 10:16 น.

“คมนาคม” สั่งทบทวนระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลในอนาคต หลังเกิดเหตุล้อสายสีเหลืองหล่นใส่แท็กซี่ เตรียมเพิ่มบทลงโทษติดแบล็คลิสต์ผู้ประกอบการ คาดใช้เวลาพิจารณาหลักเกณฑ์ 2 เดือน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังกระทรวงคมนาคม เรียก บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) เข้าพบกรณีเหตุล้อประคองหลุดร่วงจากขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เข้าร่วมการประชุมว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางกระทรวงคมนาคม มีความห่วงใยถึงความปลอดภัยของประชาชน และเตรียมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ตลอดจนประชาชนที่เดินทางใต้ทางรถไฟฟ้า ซึ่งประเด็นสำคัญคือการตรวจสอบสาเหตุต้องไม่จบเพียงเท่านี้ ต้องมีการหาสาเหตุเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง อาทิ เรื่องอุณหภูมิของประเทศไทยว่ามีผลต่อล้อหรือไม่ เป็นต้น   

“คมนาคม” สั่งรื้อระบบ “รถไฟฟ้าโมโนเรล” ปมล้อสายสีเหลืองหล่นใส่แท็กซี่

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า  จากการตรวจสอบหากพบว่าเป็นความบกพร่องของเอกชน ในเรื่องของการบำรุงรักษาไม่ดี หรือมีความรับผิดชอบไม่เต็มที่ ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำสมุดพกสำหรับตัดคะแนนบริษัทเอกชน หรือพิจารณาขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ หากมีการประมูลครั้งถัดไปในอนาคตจะถูกตัดคะแนนเข้าร่วมการประมูล ซึ่งจะช่วยสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาหลักเกณฑ์ภายใน 2 เดือน

 

“เชื่อว่าการจัดทำสมุดพก หรือการตัดคะแนนดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการทุกรายอยากที่จะรักษาธุรกิจของตัวเองไว้ เพราะบริษัทที่เข้ามารับงานส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ หากถูกแบล็คลิสต์ไปจะกระทบต่อธุรกิจโดยตรง อาจถึงกับล้มละลายได้เลย เพราะฉะนั้นหากมีกฎเกณฑ์ออกมาชัดเจน เอกชนก็จะมีความรอบคอบ และความใส่ใจมากขึ้น” นายสุริยะ กล่าว 

นายสุรพงษ์   ปิยะโชติ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า  ภายหลังการลงพื้นที่เมื่อคืนบริเวณที่จุดเกิดเหตุนั้น พบว่าจากการตรวจสอบหาสาเหตุ เกิดจากข้อผิดพลาดจากบริษัท Alstom ผู้ผลิตรถไฟฟ้าโมโนเรล ส่งผลให้เบ้าลูกปืน (Bearing) ของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหาย ทำให้ล้อประคองหลุดร่วงลงมาจากการใช้งาน ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อหาสาเหตุโดยละเอียดต่อไป 

“คมนาคม” สั่งรื้อระบบ “รถไฟฟ้าโมโนเรล” ปมล้อสายสีเหลืองหล่นใส่แท็กซี่

ทั้งนี้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ ที่มีการใช้งานเดินรถไปเพียง 62,000 กิโลเมตร (กม.) คิดเป็น 20% จากปกติที่สามารถใช้งานเดินรถได้ 320,000 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งจากการตรวจสอบประวัติการซ่อมบำรุง (Maintenance Log) พบว่า มีการซ่อมบำรุงตามรอบวาระโดยสม่ำเสมอ (วาระประจำวัน ,วาระประจำสัปดาห์ และวาระตรวจละเอียดทุก 15 วัน) 

 

นายสุรพงษ์  กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับความปลอดภัย แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.งดใช้ขบวนรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ใช้ชุดแคร่ล้อ (Bogie) ในล๊อตเดียวกับขบวนที่เกิดเหตุ 2. ตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงร่วมกับผู้ผลิต เพื่อดำเนินการแก้ไขและป้องกันให้ถูกจุดต่อไป  

 

3.เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเบ้าลูกปืนของล้อต่างๆ เพิ่มเติมจากการตรวจตามวาระปกติ ก่อนนำขบวนรถไฟฟ้าขึ้นมาให้บริการประชาชน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จวันที่ 8 ม.ค. 67 โดยคาดว่าจะพิจารณาเปลี่ยนชุดล้อช่วงล่างจากโรงงานใหม่ที่มี track record ให้หมดภายใน 6 เดือนหรือภายในมิ.ย.67  ส่วนแผนระยะยาว จะเร่งรัดการออกพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เพื่อใช้ในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดบทลงโทษ และการชดเชยแก่ผู้โดยสารและผู้ได้รับผลกระทบ ภายในเดือนธ.ค.67

“ขณะที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบนั้น เบื้องต้นได้นำขบวนรถที่ได้รับการตรวจสอบว่า มีความมั่นคงปลอดภัยมาให้บริการจำนวน 6 ขบวน โดยปกติวิ่ง 21 ขบวนจากทั้งหมด 30 ขบวน  ซึ่งมีการปรับรูปแบบการให้บริการโดยมีความถี่ทุก 30 นาที จนถึงวันที่ 6 ม.ค. 67 ที่จะมีการตรวจสอบจนครบและทยอยปรับความถี่ในการให้บริการจนเป็นปกติ (ทุก 5-10 นาที) ภายในวันที่ 8 ม.ค. 67 ทั้งนี้จะให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฟรีโดยไม่คิดค่าโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 3-5 ม.ค. 67 และหากเกิดข้อผิดพลาดในการเก็บค่าโดยสารไปแล้ว สามารถเรียกขอเงินคืนได้ทันที โดยจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในวันที่ 6 ม.ค. 67”  

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจะมีการเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนในการใช้บริการรถไฟฟ้าโมโนเรลอย่างไรนั้น เบื้องต้นจะมีการพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าในอนาคตว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะจากการทราบข้อมูลพบว่าข้อดีของระบรถไฟฟ้าโมโนเรลเป็นระบบที่สามารถไต่ความลาดชันได้ดีกว่าเมื่อเข้าสู่ภายในเมือง  ส่วนข้อเสียคือการใช้งานอะไหล่ซ้ำๆเกิดการสึกหรออาจเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของโมโนเรล 

 

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยืนยันว่าภาครัฐจะไม่มีการชดเชยรายได้ให้กับเอกชนในช่วงที่เปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองแก่ประชาชนฟรี ซึ่งจะมีบทลงโทษแก่เอกชนผู้รับสัมปทานหากมีการประมาทเลินเล่อจากการขับรถ,เกิดจากข้อบกพร่องของบริษัทผู้ผลิต นอกจากนี้หากโอเปอเรเตอร์ไม่ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อยกระดับความปลอดภัยจะถูกแบล็คลิสต์จากการประมูลครั้งถัดไป”  


นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า จากอุบัติที่เกิดขึ้น ยืนยันว่ามีการทดลองการเดินรถโมโนเรลสายสีเหลือง มาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว ก่อนที่เปิดให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบแล้วกว่า 2-3 เดือน ซึ่งในช่วงการทดลองได้มีการทดสอบในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยมาแล้ว แต่ก็ไม่เคยเกิดเหตุการดังกล่าวขึ้น และจากการตรวจสอบชิ้นส่วนเบ้าลูกปืนในเบื้องต้น พบว่าอุณหภูมิไม่เกินขอบเขตของวัสดุที่ระบุไว้ในสเปค

 

" ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยถึงการนำรถไฟฟ้าโมโนเรลมาใช้ในประเทศไทย เหมาะสมหรือไม่ นั้น ยังไม่อยากให้ตัดสินว่ารถไฟฟ้าโมโนเรลดีหรือว่าไม่ดี เนื่องจากทุกระบบมีจุดบอบบาง รถเฮฟวี่เรล ก็เคยเกิดเหตุกับระบบอาณัติสัญญาณมาแล้ว ดังนั้น เราต้องใช้เหตุการณ์ดังกล่าวในการเพิ่มความระมัดระวังในส่วนที่เคยเกิดเหตุให้มากๆ ต่อไป"