เศรษฐกิจสีเงิน สังคมสูงวัย และการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสไตล์ซามูไร

21 ก.พ. 2567 | 06:57 น.

เศรษฐกิจสีเงิน สังคมสูงวัย และการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสไตล์ซามูไร : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.กติกา ทิพยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,968 หน้า 5 วันที่ 22 - 24 กุมภาพันธ์ 2567

หากเราสามารถขอพรได้หนึ่งข้อจากยักษ์จินนี่ในตะเกียง วิเศษ ผู้เขียนเชื่อว่านอกจากความมั่งคั่งแล้ว พรข้อหนึ่งที่ทุกคนน่าจะขอก็คือ การขอให้เราสุขภาพดี มีชีวิตที่ยืนยาว แต่ในความเป็นจริงแล้ว คงไม่มีใครที่จะสามารถหยุดอายุของตนเอง หรือ ทำให้อายุน้อยลงได้

แต่อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของอายุขัยเฉลี่ยในมนุษย์นั้นแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จทางด้านการพัฒนาคุณภาพสุขอนามัย การรักษาพยาบาล คุณภาพของโภชนาการ การเข้าถึงระบบการศึกษาและการวางแผนครอบครัว

 

 

รวมไปถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ที่ช่วยให้มนุษย์ใช้ชีวิตในความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ในปัจจุบัน เราก็จะเห็นจำนวนของผู้สูงอายุในชีวิตประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น

จากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาติในปี 2023 ได้สรุปไว้ว่า จำนวนของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีทั่วโลกจะมีจำนวนสูงขึ้นกว่าเท่าตัวภายในปี 2050 โดยจะสูงถึง 1.6 พันล้านคน หรือ กว่าร้อย 16 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งโลก
 

 

 

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุไม่เพียงแต่จะนำโอกาสทางเศรษฐกิจมาให้ แต่ยังนำความท้าทายในแง่มุมต่างๆ มาด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับมุมมองในแง่ของโอกาสนั้น หลายภาคส่วนมองว่ากลุ่มผู้สูงอายุนั้น เป็นกลุ่มที่ทำงานมาทั้งชีวิต และเมื่อเกษียณอายุแล้ว จึงเป็นกลุ่มผู้ซื้อกลุ่มหนึ่งที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง

ปัจจัยดังกล่าวเป็นแนวคิดของกลไกเศรษฐกิจใหม่ของผู้สูงอายุที่ถูกเรียกว่า Silver economy หรือ เศรษฐกิจสีเงิน แต่ในอีกมุมหนึ่งสถานการณ์ดังกล่าว ก็นำความท้าทายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มาเช่นเดียวกันในประเด็นของสังคมสูงวัย หรือ aging society ซึ่งเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่มากพอสมควร

ผู้เขียนขอกล่าวถึงผลกระทบ เชิงบวกทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุก่อน สำหรับเศรษฐกิจสีเงินนั้น หมายถึง กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบนำเข้าในการผลิต กระบวนการผลิต การ กระจายการขนส่งสินค้า และการบริโภค รวมไปถึงทั้งสินค้าและบริการ ที่ถูกออกแบบสำหรับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

โดยแนวคิดดังกล่าวเกิดมาจากคำว่า “Silver market” ที่เป็นการอธิบายถึง ตลาดสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ การเงิน และ การธนาคาร รถยนต์ อาคารและที่อยู่อาศัย โทรศัพท์และการสื่อสาร ตลอดจนการท่องเที่ยวและการพักผ่อน เป็นต้น

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เข้ามาผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจสีเงินนี้ขับเคลื่อนได้ราบรื่น ก็คือ ระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นระบบ Automation ในบ้านที่จะทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในบ้านสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

หรือระบบ Tele-medics ที่จะเข้ามาช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถรับคำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจากผุ้เชี่ยวชาญได้อย่างทันท่วงทีและไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาลอีกด้วย 

มากไปกว่านั้น กลุ่มผู้สูงอายุยังมีแนวโน้มที่จะมีการใช้จ่ายที่ค่อนข้าง มากเช่นเดียวกัน จากการศึกษาของ McGuirk และคณะ (2022) ระบุว่าในช่วงปี 2015 ผู้สูงอายุทั่วโลกใช้จ่ายเงินไปกับการอุปโภคและบริโภคสูงถึง 142 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว 

เศรษฐกิจสีเงิน สังคมสูงวัย และการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนสไตล์ซามูไร

 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ข้อดีของประชาชนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจสีเงินนี้มีอยู่มากมาย อาทิเช่น

1) ประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงและไม่ค่อยจะมีอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจเท่าใดนัก ซึ่งจากข้อมูลของ American Federal Reserve โดยเฉลี่ยประชากรกลุ่ม baby boomers มีความมั่งคั่งมากกว่ากลุ่ม millennials ถึง 11 เท่า

2) คนกลุ่มนี้มีเวลาว่างค่อนข้างมากสามารถใช้เงินได้ในหลากหลายกิจกรรม เช่น อาหาร การท่องเที่ยวศิลปะและวัฒนธรรม เป็นต้น

3) ประชาชนกลุ่มนี้จะมีแนวโน้มในการรักษาสุขภาพ ชอบการออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และชอบการแต่งตัวมากยิ่งขึ้น

4) มากไปกว่านั้นคนกลุ่มดังกล่าวยังมีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ของสินค้า (brand loyalty) ที่ใช้เป็นอย่างมาก และมีแนวโน้มในการเปลี่ยนยี่ห้อของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างน้อย

และข้อสุดท้าย ในเชิงสังคมประชากรกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์และความรู้เฉพาะค่อนข้างมาก ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องนำผู้สูงอายุกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะกลุ่ม baby boomers (คนที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2478-2503) แต่ในอีกมุมหนึ่งประชากรกลุ่มนี้ก็นำความท้าทายมาให้เช่นเดียวกันในประเด็นของสังคมสูงวัย 

สังคมผู้สูงอายุนั้นเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของทุกประเทศทั่วโลก เทรนด์นี้เป็นผลกระทบจากการพัฒนาของคุณภาพการรักษาพยาบาล คุณภาพและความสะอาดของอาหารและนํ้าดื่ม รวมไปถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ ล้วนแต่ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์สูงขึ้น

จากข้อมูลของ The World Bank และ World Health Organisation (WHO) ได้รายงานไว้ว่า ในปี 2020 อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์จะอยู่ที่ 72.5 ปี สูงกว่าอายุขัยเฉลี่ยในปี 1960 ถึง 20 ปี

มากไปกว่านั้นจำนวนของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ในปี 2050 จะมีประมาณร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดทั่วโลก

เหล่านี้ล้วน แต่เป็นตัวเลขที่เราจะต้องเตรียมตัวเป็นอย่างมากทั้งประเด็นของผลกระทบเชิงสังคมและเศรษฐกิจ

ในประเด็นทางสังคมจากผลกระทบของจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้น ก็มีหลากหลายเรื่องที่เราควรจะนำมาพิจารณา แต่ในมุมมองของผู้เขียนเรื่องที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของสภาวะสุขภาพและการรักษาพยาบาล

โดยปกติแล้ว ผู้สูงอายุมักจะมีโอกาสเจ็บป่วย และมีอัตราการเข้าโรงพยาบาล มากกว่าประชากรในกลุ่มอายุอื่นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดมากจากโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ (Non-Communicable Diseases: NCDs) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคความดัน ฯลฯ

ในประเด็นดังกล่าวก็จะมีปัจจัยสำคัญอยู่สองข้อที่ต้องพิจารณาก็คือ

(1) การเข้าถึงสถานที่ในการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกันของประชากรผู้สูงอายุทุกกลุ่ม

และ (2) ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเด็นดังกล่าวจะมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเปราะบาง

มากไปกว่านั้นในประเด็นทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ ก็มีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน อย่างที่เราทราบกันดีว่า ภายหลังการเกษียณอายุ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะไม่มีงานประจำทำซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักในการเลี้ยงชีพ

และถึงแม้ว่าจะมีผู้สูงอายุบางส่วนที่มีเงินเก็บก้อนหนึ่ง ที่ได้รับมาจากการเก็บออมตลอดช่วงระยะเวลาการทำงานก็ตาม แต่ก็อาจจะไม่พอต่อการดำรงชีพในระยะยาว

ดังนั้น เมื่อผู้เกษียณอายุขาดรายได้หลักที่ใช้ในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ผู้สูงอายุบางส่วนก็หันมาพึ่งพารายได้จากรัฐเป็นรายได้หลัก เพื่อใช้ทดแทนรายได้ที่หายไป แต่ในประเด็นของเงินบำนาญจากรัฐ การเพิ่มขึ้นของอายุส่งผลโดยตรงต่องบประมาณที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ ที่ในหลายประเทศต่างก็ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก

ปัญหาผู้สูงอายุและแนวทางการบรรเทาของประเทศญี่ปุ่น 

หนึ่งในอีกตัวอย่างที่น่าสนใจที่สุดที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวก็คือ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนในประเทศสูงที่สุดในโลก (ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 29.1)

และคาดว่าในปี 2040 ประเทศญี่ปุ่นนั้น จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 34.8 เลยทีเดียว รวมไปถึงญี่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดที่ตํ่าที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ด้วยคุณภาพของระบบการดูแลผู้สูงอายุ สิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขของประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และทำให้ญี่ปุ่นนั้น เป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยเป็นจำนวนมาก

จากที่กล่าวมาทั้งหมด รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมในประเทศออกมาในหลากหลายวิธี 

การเพิ่มอายุเกษียณของข้าราชการในประเทศ

จากรายงานของ The Japan times (2023) ได้ระบุไว้ว่าโดยปกติแล้วอายุเกษียณของข้าราชการในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะอยู่ที่ 60 ปี คล้ายคลึงกับประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก

แต่หลังจากเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมาอายุการเกษียณของข้าราชการได้ถึงขยายออกไปเป็น 61 ปี เนื่องมาจากความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนวัยแรงงาน และการลดลงของอัตราการเกิดในประเทศญี่ปุ่น

มากไปกว่านั้นรัฐบาลญี่ปุ่นยังกำหนดเป้าการขยายอายุเกษียณของข้าราชการไว้ที่ 65 ปี โดยจะเป็นการขยายอายุการเกษียณ 1 ปี ในทุก ๆ 2 ปีของปีงบประมาณ

แต่จะมีเงื่อนไขอยู่ 2 ข้อสำหรับข้าราชการที่ได้รับการต่ออายุเกษียณก็คือการไม่สามารถรับงานที่เกี่ยวข้องกับงานบริหารได้ และเงินเดือนจะถูกปรับลดให้เหลือเพียงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับเงินเดือนก้อนสุดท้ายก่อนเกษียณเท่านั้น

การขึ้นภาษีเพื่อการบริโภค

ประเทศญี่ปุ่นนั้น เป็นประเทศที่มีรายได้จากภาษีสูงถึงร้อยละ 60 ของรายได้ภาครัฐ และกว่าร้อยละ 20 มาจากภาษีเพื่อการบริโภค (Consumption tax) โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ขึ้นภาษีดังกล่าวจากระดับที่ร้อยละ 8 มาเป็นร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2019

และจะเป็นการขึ้นในเกือบทุกชนิดสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น สุรา ยาสูบ แม้กระทั่งหนังสือ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หลัก ๆ ในสองรูปแบบคือ การดูแลสวัสดิการ การศึกษา และ การรักษาพยาบาลเด็กเล็ก และสวัสดิการและการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น

ถึงอย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากสภาวะเงินเฟ้อ และการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน รัฐบาลจะกำหนดให้สินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ สินค้าอุปโภคบางชนิด และหนังสือพิมพ์จะถูกยกเว้นการขึ้นภาษี (แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ การสั่งอาหารกลับบ้านจะถูกเก็บภาษีที่ร้อยละ 10)

การนำแรงงานต่างชาติ (ทักษะเฉพาะ) มาทำงาน

ในปี 2023 จำนวนของชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยมีจำนวนมากกว่า 3.2 ล้านคน เนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงาน การลดลงของอัตราการเกิด และการเพิ่มสูงขึ้นของจำนวนผู้สูงอายุในประเทศ

โดยแรงงานกลุ่มที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็คือ กลุ่มแรงงานที่มีทักษะเฉพาะ ที่สามารถเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องมีการฝึกอาชีพแต่อย่างใด

โดยเฉพาะกลุ่มทักษะทางด้านวิศวกรรม ด้านมนุษย์ศาสตร์และความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ด้านการรักษาพยาบาลและดูแลผู้สูงอายุ รวมไปถึงด้านภาษาต่างประเทศ เป็นต้น

โดยรวมจำนวนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 32.2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ถึงอย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องการแรงงานที่มีทักษะตํ่าในบางอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ เป็นต้น

การอนุญาตให้มีคาสิโน

เมื่อช่วยต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนการสร้างคาสิโนเต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศ โดยคาสิโนดังกล่าว จะถูกสร้างขึ้นทางตอนใต้ ของเมืองโอซาก้า ผ่านงบลงทุนจำนวนมหาศาลกว่า 430,000 ล้านบาท (1.8 ล้านล้านเยน) และตั้งใจจะเปิดให้บริการผู้ที่สนใจในช่วงปี 2029

โดยในสถานที่ดังกล่าวจะไม่ได้มีเพียงคาสิโนเท่านั้น แต่จะประกอบไปด้วย ร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า สวนสนุก สถานที่ประชุม และจัดแสดงสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และคนในประเทศญี่ปุ่นเองเช่นเดียวกัน

ซึ่งโดยปกติแล้วการพนันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในญี่ปุ่น แต่ในช่วงปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ผ่านกฎหมายที่มีชื่อว่า IR law หรือ Integrated resort law เพื่อสามารถอนุญาตให้การเล่นการพนันบางชนิดได้เช่น โป๊กเกอร์ หรือ บาคาร่า ในเฉพาะสถานที่ที่ได้จัดเตรียมและขออนุญาตไว้ เพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้เข้ามาใช้จ่ายเงินในประเทศ

แม้ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากคนในประเทศค่อนข้างมากก็ตาม โดยรัฐบาลญี่ปุ่น คาดว่าคาสิโนดังกล่าวจะสามารถที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อเข้ามาใช้บริการกว่า 6 ล้านคนทั่วโลก และสามารถหารายได้เข้าประเทศได้ปีละกว่า 500,000 ล้านเยน (หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท) 

นโยบายสนับสนุนการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ

ประเด็นด้านสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ก็เป็นหัวข้อสำคัญที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะประเด็นของการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม ในวัยสูงอายุของคนส่วนใหญ่ มักจะประสบปัญหาทางด้านของสุขภาพ และเมื่อผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ไม่ดีมักจะเลือกที่จะอยู่บ้านและถอยห่างออกจากสังคม

โดยรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ได้เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มปริมาณช่วงปีแห่งสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น สามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น

ในปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายที่เรียกว่า “Smart Platinum Society” เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพตนเองให้ถึงอายุ 100 ปี อย่างดีและมีคุณภาพ

มากไปกว่านั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังนำเอาแนวคิด Society 5.0 เข้ามาปรับใช้ในสังคมญี่ปุ่น โดยจะเป็นการให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงผู้สูงอายุในประเด็นทางด้านสุขภาพ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน และการเป็นส่วนหนึ่งในตลาดแรงงานและสังคมให้ยาวนานมากขึ้น

จากรายงานของ BBC (2023) ระบุว่า แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากอันดับต้น ๆ ของโลกก็ตาม แต่แรงงานวัยดังกล่าวก็ยังคงมีสุขภาพดีและอยู่ในตลาดแรงงานสูงถึงร้อยละ 13 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้สูงด้วยกัน

นำเทคโนโลยีมาใช้แทนมนุษย์และเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน

เมื่อนึกถึงประเทศญี่ปุ่น เราน่าจะนึกถึงความทันสมัยของประเทศผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องในเรื่องต่าง ๆ ในประเด็นของผู้สูงอายุทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างก็นำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน

โดยรัฐบาลจะเน้นการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยพัฒนาระดับของสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านข้อมูลสำคัญ ๆ ในพื้นที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ การพัฒนาเทคโนโลยีให้ใช้ได้ง่ายขึ้นสำหรับการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนฝูงและครอบครัว

มากไปกว่านั้น ญี่ปุ่นยังพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการพูดคุยและการดูแลผู้สูงอายุ โดยในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้งบประมาณเพื่อพัฒนาหุ่นยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นจำนวนสูงถึงกว่า 10,000 ล้านบาท เลยทีเดียว 

มองกลับมาที่ประเทศไทยของเรานั้น ก็ตกอยู่ในสถานการณ์ของสังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดน้อยลงอย่างมากเช่นเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ให้ความสำคัญกับประขากรชาวไทยกลุ่มนี้อยู่ไม่น้อย ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากนโยบายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็น บัตรทอง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือ การลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่สภาวะเศรษฐกิจของผู้สูงอายุเท่านั้น ที่ภาครัฐควรจะต้องให้ความสนใจ แต่ประเด็นทางด้านสังคมของกลุ่มผู้สูงอายุ ก็เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน เพื่อให้ประชากรกลุ่มนี้รู้สึกว่าตนเองมีประโยชน์ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน และพวกเขาเหล่านั้นยังสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติได้ 

หมายเหตุ: ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณปัญจพล สัตยานุรักษ์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยนาโงย่า ประเทศญี่ปุ่น สำหรับการค้นคว้า และช่วยรวบรวมสำหรับการเขียนบทความนี้

 

อ้างอิง :

BBC (2023). Japan population: One in 10 people now aged 80 or older. Japan population: One in 10 people now aged 80 or older - BBC News

McGuirk, H., Conway Lenihan, A., & Lenihan, N. (2022). Awareness and potential of the silver economy for enterprises: a European regional level study. Small Enterprise Research, 29(1), 6-19.

The Japan times (2023). Japan to raise retirement age of civil servants April 1. https://www.japantimes.co.jp/news/2023/03/26/national/japan-raise-retirement-age-civil-servants/

United Nations (2023). Leaving No One Behind in An Ageing World. United Nations publication