แจงพัลวันแบนกุ้งไทย

24 ก.พ. 2560 | 11:00 น.
สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง-กรมประมงออกโรงแจงกรณีกุ้งไทยถูกสหรัฐฯปฏิเสธนำเข้า 5 ชิพเมนต์แค่สินค้าตัวอย่างให้ลูกค้าส่งแล็บตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพสินค้าก่อนสั่งซื้อแต่เขี้ยวไม่ยอมรับภาระค่าใช้จ่ายกว่าหมื่นดอลล์ แจ้งขอทำลายสินค้า

จากที่"ฐานเศรษฐกิจ"ได้นำเสนอข่าว กุ้งไทยเสี่ยงถูกแบน สหรัฐฯเบรกนำเข้าในฉบับที่ 3227 นั้น ทางสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ร่วมกับกรมประมงได้เปิดแถลงข่าว

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ทางสหรัฐฯไม่ได้แจ้งให้ประเทศไทยดำเนินการใด ๆ เนื่องจากหลักเกณฑ์การนำเข้าสินค้าประมงของสหรัฐฯจะมีระบบควบคุมมาตรฐานโรงงานแปรรูปที่ดำเนินการโดยอย.ของสหรัฐฯเอง ไม่ได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกทำหน้าที่กำกับดูแแลแทน ดังนั้นโรงงานที่ประสงค์จะส่งสินค้าไปสหรัฐฯต้องจดทะเบียนและจัดทำระบบการควบคุมความปลอดภัยในการผลิตอาหารตามระบบ HACCP หลังจากนั้น อย.สหรัฐฯ (USFDA)จะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงาน หากผลการตรวจผ่านมาตรฐาน โรงงานก็สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายยังสหรัฐฯได้ โดยไม่ต้องมีใบรับรองสุขอนามัยจากหน่วยงานราชการของประเทศผู้ส่งออกกำกับไป

สำหรับกรณีของบริษัท ณรงค์ซีฟูด จำกัดที่มีปัญหาเกิดขึ้นในครั้งนี้เคยถูกสหรัฐฯปฏิเสธการนำเข้า 1 รายการในปี 2559 และทางบริษัทได้แจ้งขอกลับเข้ามาสู่มาตรการตรวจสอบตามปกติ และอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการของ อย.สหรัฐฯ ซึ่งตามมาตรการของสหรัฐฯกำหนดให้ต้องตรวจสอบสินค้าจำนวน 5 รุ่นอย่างต่อเนื่อง หากไม่พบปัญหาก็จะกลับเข้าสู่ระบบการตรวจสอบตามปกติ

[caption id="attachment_131699" align="aligncenter" width="503"] แจงพัลวันแบนกุ้งไทย แจงพัลวันแบนกุ้งไทย[/caption]

"สำหรับสินค้าที่เป็นปัญหาทั้ง 5 รุ่นนั้น มิได้รับการตรวจสอบว่าพบสารตกค้างไนโตรฟูแรนส์แต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิเสธนำเข้าเนื่องจากเป็นสินค้าตัวอย่างส่งให้กับลูกค้าในสหรัฐฯทดสอบก่อนมีคำสั่งซื้อ และ อย.สหรัฐฯอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับสถานะการตรวจสอบเข้าสู่มาตรการตรวจตามปกติทำให้สินค้ายังอยู่ในมาตรการเฝ้าระวังซึ่งจะต้องถูกกักกันเพื่อตรวจวิเคราะห์ตามมาตรการที่สหรัฐฯกำหนด แต่ด้วยเหตุผลที่ผู้นำเข้าจะต้องรับผิดชอบค่าตรวจวิเคราะห์และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างการเก็บสินค้าเอง ดังนั้นผู้นำเข้าไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงได้แจ้งขอทำลายสินค้ากุ้งทั้ง 5 รายการ ดังนั้นสินค้ากุ้งแช่แข็งของบริษัทจึงถูกประะกาศว่าถูกปฏิเสธการนำเข้า เนื่องจากตรวจพบไนโตรฟูแรนส์ตามที่เคยมีประวัติในรุ่นปี 2559 ไปโดยปริยาย"

ด้านนายอาทร พร้อมพัฒนภัคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ณรงค์ซีฟูด กล่าวว่า สินค้าที่มีปัญหาเกิดขึ้น ใน 5 รุ่นหรือ 5 ชิพเมนต์ที่ส่งไปให้ลูกค้าในสหรัฐฯในความเป็นจริงแล้วมีปริมาณรวมเพียง 19.8 กก.เท่านั้นไม่ได้มากถึง 5 ตู้คอนเทนเนอร์อย่างที่เข้าใจกัน และก็ไม่ได้มีปัญหาเรื่องสารตกค้าง แต่เป็นสินค้าที่บริษัทส่งให้ลูกค้าเพื่อส่งให้ห้องแล็บตรวจวิเคราะห์ตามาตรการที่สหรัฐฯกำหนดตามปกติ แต่ผลจากมีค่าใช้จ่ายค่าตรวจวิเคราะห์ที่สูง(ค่าตรวจ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัวอย่าง 5 ตัวอย่างรวม 1หมื่นดออลาร์) ลูกค้าไม่ต้องการรับภาระจึงไม่ส่งตรวจ ทำให้สินค้าของบริษัทยังถูกประกาศว่าถูกปฏเสธการนำเข้า

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งไทยในภาพรวมขณะที่เวลานี้โรงงานแปรรูปกุ้งก็มีการส่งวัตถุดิบเข้าตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บป้องกันสารตกค้างทุกราย กรณีที่เกิดขึ้นได้ให้แต่ละบริษัททำความเข้าใจกับผู้นำเข้าต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ที่ปลายทางเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในกรณีเช่นนี้อีกในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560