เบอร์ 1 เสิร์ชเอนจินจีน ปั้น ‘ไป่ตู้ แอ็กเซส’รุกไทยเจาะเอฟไอทีจีน

15 ก.พ. 2560 | 07:00 น.
จากความได้เปรียบของการเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจเสิร์ชเอนจิน ของจีน หรือที่คนไทยเรียกกันตามความเข้าใจว่า กูเกิลจีน และการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในหลายธุรกิจในจีน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจด้านมีเดีย,ท่องเที่ยว,ธนาคาร และธุรกิจด้านนวัตกรรมต่างๆ ทำให้ไป่ตู้ มีแต้มต่อของฐานข้อมูลลูกค้าชาวจีนที่แม่นยำที่สุดอยู่ในมือและขณะนี้ไป่ตู้ เล็งเห็นโอกาสในการสร้างโปรดักต์ใหม่มาเจาะตลาดในไทย เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที)ที่เดินทางมาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น อ่านได้จากสัมภาษณ์ นางสาวพัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ ไปตู้ ประเทศไทย

 ชี้เทรนด์เอฟไอทีจีนโต74%

จากข้อมูลของไป่ตู้ เสิร์ช พบว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 1 ใน 5 ท็อปเดสติเนชันที่คนจีนอยากเดินทางมาท่องเที่ยว และจากดาต้าเบสท์จากกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจที่เราถือหุ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยูเนียน เพย์ และซีทริป ก็พบว่านักท่องเที่ยวเอฟไอที ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ เฉลี่ยอายุอยู่ที่ 25-34 ปี ที่มาเที่ยวเมืองไทย ไม่ใช่กลุ่มทัวร์ศูนย์เหรียญ มีการใช้จ่ายเงินในไทยถึง 6.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวเอฟไอทีจีนอยู่ที่ 59% และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นกว่า 74%

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเมืองไทย เป็นเดสติเนชันท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสำหรับกลุ่มเอฟไอทีจีน แต่ปัญหาที่พบคือการหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในไทยมีน้อยมาก ไม่เหมือนที่ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ที่เป็นประเทศที่มีข้อมูลต่างๆของผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม แหล่งช็อปปิ้ง บริการท่องเที่ยวต่างๆขณะเดียวกันผู้ประกอบการคนไทยก็อยากจะได้เงินจากจีน แต่ก็อาจจะเข้าช่องทางการโปรโมตไม่ถูกวิธี หรือไม่รู้ว่าจะโปรโมตในช่องทางใดที่จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนมองเห็นธุรกิจของตัวเอง

 ไป่ตู้ฯ เชื่อมธุรกิจไทยสู่จีน

เราเห็นปัญหาจากผู้ประกอบการไทย ที่จะเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้อย่างไร และจะสื่อสารกับนักท่องเที่ยวไร ทำให้เรามาคิดแทนว่าจะเข้ามาช่วยทำอะไรได้บ้าง ที่จะเอาตังค์ชาวจีนเข้ากระเป๋าผู้ประกอบการไทยได้ นี่เองจึงทำให้ไป่ตู้ ประเทศไทย จึงได้เปิดตัวบริการใหม่ ภายใต้ชื่อ “ไป่ตู้ แอคเซส ( Baidu Access) ” เพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำธุรกิจที่เจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าชาวจีน โดยไป่ตู้ แอคเซสจะให้บริการเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดจีนครบวงจร ซึ่งบริการนี้จะเป็น The best cross border Chineses marketing platform หรือ บริการที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจของผู้ประกอบการชาวไทยไปยังกลุ่มลูกค้าชาวจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในแบบวันสต็อปเซอร์วิส

ทั้งนี้การให้บริการของไป่ตู้ แอคเซส จะประกอบด้วยบริการใน 4 ด้าน ได้แก่ 1.บริการวิจัยทางการตลาด ซึ่งจะวิเคราะห์ข้อมูลสินค้า บริการเชิงลึก สร้างกลยุทธ์ และแผนการตลาดที่เหมาะสมให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำตลาดกับชาวจีน 2.บริการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งเราจะสร้างคอนเทนต์สำหรับสินค้าและบริการของผู้ประกอบการไทย และเผยแพร่ลงในแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงของประเทศจีน อาทิ Sohu,Sina,Xinhua,Weibo และ WeChat3.บริการการตลาดเชิงผลประกอบการ ที่เราจะทำการตลาดออนไลน์ผ่านเครื่องมือค้นหาทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งนำโดยไป่ตู้ เสิร์ช เป็นช่องทางการสื่อสารหลัก เพื่อทำให้สินค้า และบริการของผู้ประกอบการไทยเป็นที่รู้จักของคนจีน ทำให้ขายได้มากขึ้น

บริการที่ 4 คือบริการจดจำ และแสดงสถานที่ หรือไป่ตู้ แมพแอพพลิเคชันแผนที่ที่จะบอกเส้นทางแก่ชาวจีน ดังนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทย ผู้ประกอบการที่ใช้บริการไป่ตู้ แอคเซส ก็จะได้รับการเผยแพร่สินค้าและบริการ ที่เป็นจุดน่าสนใจในไป่ตู้แมพ ซึ่งจากสถิติพบว่าคนจีนที่มาเที่ยวไทยใช้บริการไป่ตู้ แมพ เฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน

ชูฐานข้อมูลจีนปึ้กเหนือคู่แข่ง

สำหรับการให้บริการของไป่ตู้ แอคเซส ในฐานะที่ปรึกษาด้านการตลาดจีนครบวงจร หากถามว่ามีคู่แข่งไหม เธอบอกว่า มีหลายบริษัทที่ให้บริการแบบนี้ แต่ไม่มีใครครอบคลุมเท่าไป่ตู้ ไม่มีใครรู้ข้อมูลที่เป็นเชิงคอนเทนต์ เพราะเขาไม่มีเสิร์ชเอนจินและจุดแข็งของเราคือ เรารู้จักแบ็กราวด์ รู้ความต้องการ รู้เทรนด์ทิศทางที่จะเกิดขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนได้ เราจึงมีข้อมูลให้ว่าผู้ประกอบการไทย กำลังคิดผิดหรือคิดถูกและเราสามารถบอกกับ ผู้ประกอบการได้ว่ามีการเข้าถึงมากน้อยเท่าไร จากจุดแข็งที่เป็นไชนิสนัมเบอร์วัน มีเดียโพรไวเดอร์

“เราทำธุรกิจแบบบีทูบี โดยมองว่าไป่ตู้ แอคเซสจะเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดจีนครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการไทย เราเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม2559 ซึ่งปัจจุบันคิงเพาเวอร์ ก็เป็นลูกค้าของเรา และเรากำลังจะเริ่มทำการตลาดอย่างเต็มตัวในปีนี้ทั้งผ่านเซลทีม และการจัดสัมมนาที่จะดึงผู้ประกอบการราว 80-100 ธุรกิจ มานำเสนอบริการใหม่ที่เกิดขึ้นซึ่งเรามองลูกค้าในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าคอร์ปอเรตรายใหญ่ ทั้งในส่วนที่เป็นธนาคาร โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านค้าชั้นนำต่างๆ ผู้ประกอบการระดับกลาง และระดับเอสเอ็มอี เพราะความต้องการของลูกค้าต่างกันเราจึงมีการจัดแพ็กเกจในการขายให้เหมาะสม เพราะบางผู้ประกอบการอาจจะต้องการบริการในบางเรื่อง ไม่ได้อยากได้บริการครบทั้ง 4 ด้าน เป็นต้น ซึ่งราคาแพ็กเกจก็จะแตกต่างกัน โดยแพ็กเกจพื้นฐาน จะอยู่ที่ราว 3 หมื่นบาทต่อแพ็กเกจ” นางสาวพัชรพร กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560