โมเดลปรองดองฉบับ‘เอนก’ ชงสารพัดมาตรการยุติขัดแย้ง

14 ก.พ. 2560 | 01:00 น.
พลันปรากฏชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ร่วมเป็น 1 ใน 33 อรหันต์ในคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คุมหางเสือ โมเดลสร้างความปรองดองสมัยที่เขาเคยเป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

“ฐานเศรษฐกิจ”หยิบแง่มุมบางส่วนของรายงานฉบับดังกล่าวมานำเสนอซึ่งกรอบการศึกษาให้น้ำหนักกับการใช้แนวคิดของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน(Transitional Justice)มาเป็นเครื่องมือคลี่คลายความขัดแย้งที่ยืดเยื้อมานานที่ทางสากลมักใช้ทั้งในลักษณะของการเจรจาไกล่เกลี่ยกันเองระหว่างคู่ความขัดแย้ง หรือมีคนกลางเข้ามาดำเนินการทั้งทางปิดและทางเปิด มีแนวทางสำคัญ ดังนี้

 เครื่องมือยุติขัดแย้ง

สร้างความไว้ใจและพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน,จัดตั้งกลไกที่เป็นกลางมาตรวจสอบค้นหาความจริงให้ครบถ้วน ตั้งแต่การชุมนุมประท้วงปี 2548 ถึงเหตุการณ์ปี 2556-2557, จัดทำฐานข้อมูลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ปี 2548-2557

วางมาตรการกำหนดขอบเขตการชุมนุมและมาตรการเยียวยาผลกระทบจากเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองให้มีกฎหมายรองรับเพื่อกำหนดฐานความผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือก่อเหตุรุนแรงเพื่อปกป้องสิทธิผู้ได้รับผลกระทบและวางมาตรการป้องกันเหตุเกิดซ้ำรวมถึงเร่งรัดดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาคโดยเคารพสิทธิผู้ต้องหา รวมถึงการแสดงออกถึงความเสียใจ,สำนึกในผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม

ตลอดจนหาฉันทามติเพื่อกำหนดขอบเขตและจังหวะเวลาของการนิรโทษกรรมที่สังคมยอมรับได้ โดยไม่ครอบคลุมคดีทุจริต คดีอาญารุนแรงทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) รวมถึงสร้างพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และรู้สึกเป็นเจ้าของกระบวนการปฏิรูปและการปรองดองเพื่อกำหนดกติกาอยู่ร่วมกันในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตลอดจนปรับบทบาทสื่อมวลชนให้เคารพความเป็นมนุษย์และลดอคติระหว่างคนในสังคม

 มาตรการป้องกันรุนแรงซ้ำ

ข้อสรุปครั้งนี้ยังอธิบายถึงเสาหลัก 6 ประการที่ต้องทำควบคู่กันเพื่อคลี่คลายปัญหาและผลกระทบจากความขัดแย้งและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำเริ่มจากการสร้างความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้งเพื่อกำหนดข้อเสนอแนะและแนวทางเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นในอนาคตพร้อมกับดำเนินการแสวงหารวบรวมข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง เปิดเผยชื่อและแรงจูงใจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ใด เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายและมีความเหมาะสมของสถานการณ์เพื่อความเข้าใจร่วมกันของสังคมต่อเหตุการณ์และนำมาสรุปบทเรียนเพื่อป้องกันมิให้ประสบกับวิกฤตการณ์ซ้ำ

พร้อมกับนำกลไกตามกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันและการตรากฎหมายพิเศษเพื่อนำกระบวนการยุติธรรมมาใช้สร้างปรองดองและสมานฉันท์ โดยนำเฉพาะคดีอาญาที่เกี่ยวเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2548-2557 มาจัดกลุ่มประเภทและสถานะของคดี โดยคดีในชั้นสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ควรเร่งรัดกระบวนการให้ได้ข้อสรุปโดยจำแนกมูลเหตุแห่งการทำผิดเป็น ความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองความผิดอาญาโดยเนื้อแท้ และความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ ซึ่ง สตช.และดีเอสไอ อาจใช้อำนาจทำความเห็นต่อประเด็นสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเสนอต่ออัยการเพื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.140-147

ส่วนคดีในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการก่อนฟ้องศาลยุติธรรมให้พนักงานอัยการพิจารณาว่าการฟ้องคดีอาญาใดไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศหรือไม่ เพื่อเสนอต่ออัยการสูงสุดพิจารณาสั่งไม่ฟ้องตามพ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ม.21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.2554 เฉพาะกรณีความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น

ขณะที่กรณีฐานความผิดทางอาญาโดยเนื้อแท้ หรือเป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองแต่มีฐานความผิดอื่นประกอบ เช่น ทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตาย ก่อการร้ายยาเสพติดลักทรัพย์หรือทำความผิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ให้ดำเนินการพิจารณาตามกระบวนการยุติธรรมโดยปกติโดยคำนึงถึงเกณฑ์การประกันตัว และปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมจัดหาทนายให้แก่ผู้ต้องหา สำหรับกรณีคดีอยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรม ให้พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ม.21 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.2554 พิจารณาไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนคำร้อง ถอนอุทธรณ์ และถอนฎีกาต่อคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เฉพาะในกรณีความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองเท่านั้น

กรณีที่ศาลได้พิจารณาคดีเสร็จสิ้นเด็ดขาดแล้ว ให้คำนึงถึงเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด หากจำเป็นต้องการตรากฎหมายพิเศษให้นำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านอันเป็นหลักความยุติธรรมในระยะที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่พยายามทำความเข้าใจผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และกระบวนทัศน์แบบความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ที่ให้ความสำคัญกับผู้เสียหายเป็นอันดับแรกมาดำเนินการเพื่อการอำนวยความยุติธรรม เอื้อให้เกิดสำนึกผิดและการให้อภัย

 เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ส่วนการเยียวยา ดูแลและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุชุมนุมให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติเสมอภาคเท่าเทียมกันมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทั้งในส่วนที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน
ต้องพัฒนาปรับปรุงจัดทำกฎหมาย กฎระเบียบที่จำเป็น รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ฐานการคิดคำนวนอัตราในการให้การชดเชย ความเสียหายและการเยียวยาโดยไม่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ปัญหาและเงี่อนไขของความขัดแย้งต่อเนื่องรวมถึงสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมที่ควรดำเนินการทั้งในด้านพัฒนายุทธศาสตร์สันติวิธีเพื่อความมั่นคงของชาติบูรณาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธีเป็นหลักปฏิบัติเชิงนโยบาย

 10วิธีป้องกันปัญหาในอนาคต

ในรายงานของนายเอนก ได้เสนอมาตรการป้องกันปัญหาความขัดแย้งในอนาคตไว้ด้วย ดังนี้

1.เฝ้าระวังสถานการณ์ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือปะทะรุนแรงระหว่างฝ่ายประชาชนหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง

2.ปฏิรูปและกำกับบทบาทของสื่อให้เป็นไปตามจรรยาบรรณโดยนำเสนอเนื้อหาสาระที่สร้างสรรค์ ไม่ยุยง บิดเบือนข้อเท็จจริง จนก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างคนในสังคมโดยยังให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน

3.จัดให้มีกลไกกติกาและส่งเสริมให้มีพื้นที่ในการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยใช้แนวทางสันติวิธีที่สอดรับกับหลักรัฐธรรมนูญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี

4.สร้างสำนึกและความตระหนักถึงการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลให้มีความรับผิดชอบและเคารพในสิทธิของผู้อื่นในการใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ

5.การควบคุมฝูงชน ใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติต่อสถานการณ์อย่างรอบคอบ เน้นใช้การเจรจา และปฏิบัติกฎการปะทะตามหลักสากลอย่างเคร่งครัด

6.ในเหตุการณ์ชุมนุมควรให้หน่วยบริการทางการแพทย์เข้าถึงผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิตโดยเร็วและปกป้องคุ้มครองผู้ให้บริการอย่างปลอดภัยที่สุด

7.ส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามหลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด

8.ปรับเปลี่ยน ปฏิรูปและลดบทบาทของหน่วยงานหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจกลับคืนมาสู่สังคม

9.มีมาตรการตรวจสอบ ลงโทษ และการแสดงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและแกนนำที่ทำเกินกว่าเหตุจนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และ10.สร้างเครื่องเตือนใจ สัญลักษณ์ความทรงจำให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อรำลึกถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นและคุณค่าของการสร้างความปรองดอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560