'ไทยรุ่ง' เปิดแผนปี60 สู่เป้าหมายรายได้2,300ล้าน

14 ก.พ. 2560 | 11:45 น.
เอ่ยถึงชื่อแบรนด์ “ไทยรุ่ง” หลายคนอาจจะนึกภาพว่าเป็นผู้ผลิตรถตรวจการณ์คันใหญ่ อย่าง ทีอาร์ ทรานฟอร์เมอร์ แต่นอกเหนือจากรถรุ่นดังกล่าวแล้ว ไทยรุ่งยังถือเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วน – ผู้รับจ้างประกอบรายใหญ่ของไทย ซึ่งผู้ที่กุมบังเหียนอย่างคุณ สมพงษ์ เผอิญโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ก็มิได้จะหยุดอยู่แค่นี้ โดยปีนี้ได้เตรียมแผนรับโปรเจ็กต์ ทั้งในส่วนของรถรุ่นใหม่ – การเจาะเซกเมนต์ใหม่ – การรุกตลาดต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดจะขับเคลื่อนไปได้อย่างไร และไปในทิศทางไหนนั้น วันนี้ฐานเศรษฐกิจพร้อมนำเสนอ

 ผลการดำเนินงปี59

ปีที่แล้วสถานการณ์ตลาดรวมไม่ดี เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานของไทยรุ่ง โดยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศ ที่บริษัทรับจ้างประกอบ ,ผลิตชิ้นส่วน มีการเลื่อนเปิดตัวโมเดลใหม่ ส่วนตลาดส่งออกที่ส่งรถประเภทกระบะพื้นเรียบไปตะวันออกกลาง ,ออสเตรเลีย หรือรถขุดตักที่ใช้ในเหมืองที่อินโดนีเซีย ก็มีการชะลอคำสั่งซื้อ ส่งผลให้ผลประกอบการในปีที่ผ่านมาทำได้ 1,900 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้านั้นที่ทำได้ 2,200 ล้านบาท และเมื่อแบ่งสัดส่วนรายได้จะพบว่า การผลิตชิ้นส่วนและแม่พิมพ์ คิดเป็นสัดส่วน 60% การรับจ้างประกอบ 25% ,การขายรถทีอาร์ทรานฟอร์เมอร์ 8 % และอื่นๆ 7%

 แนวโน้มและแผนปี60

ปีนี้เราวางเป้าหมายรายได้ไว้ 2,300 ล้านบาท เติบโตจากปีที่ผ่านมา เพราะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้นของอุตสาหกรรม เริ่มมีคำสั่งซื้อรถในกลุ่มอุตสาหกรรมหนักทั้งรถบรรทุก ,รถขุดตัก,รถที่ใช้ในการก่อสร้าง โดยมีแนวโน้มเติบโตทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ ในช่วง 2 - 3ปีนี้ และรถบรรทุกจะเป็นตัวนำ

สำหรับไทยรุ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว เพราะมีการจับมือจอยต์ เวนเจอร์ กับบริษัทญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท เทรกไทยรุ่ง ผลิตและประกอบรถดัมป์ ,รถตู้ปีกนกที่ใช้ขนส่งสินค้า ขนของทั่วไป,รถโม่ปูน,รถเทรลเลอร์ และในอนาคตจะทำรถห้องเย็น เพราะพันธมิตรมีเทคโนโลยีที่พร้อมในการพัฒนาอยู่แล้ว

 แนวรุกของรถใหม่

รถทีอาร์ ทรานฟอร์เมอร์ (TR TRANSFORMER II )เพิ่งจะได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทย ทำให้การเจาะเข้าไปยังกลุ่มลูกค้าภาครัฐทำได้ง่าย เพราะการจัดซื้อจัดจ้างหรือการผลิตในเชิงพาณิชย์ จากผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่มีรายชื่อตามบัญชีนวัตกรรมไทยโดยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ ขณะที่แผนงานสำหรับเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไป ในปี 2560 จะปรับปรุงรถให้มีขนาดกะทัดรัดลง โดยปัจจุบันมีแบบให้เลือกคือ 5 ที่นั่ง ,7 ที่นั่ง,11 ที่นั่ง มีทั้งแบบสแตนดาร์ด ราคาเริ่มต้น 1.465 ล้านบาท ไปจนถึงหลังคาสูง ราคา 1.63 ล้านบาท อีกทั้งจะมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม จาก 6 แห่ง เป็น 10 แห่ง

ส่วนแผนส่งออกของทีอาร์ ทรานฟอร์เมอร์ในปีนี้ จะมีทั้งการเข้าร่วมประมูลที่สิงค์โปร์ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งหากประมูลชนะก็จะส่งมอบรถรุ่นนี้กว่า 1,000 คัน นอกจากนั้นแล้วจะส่งออกไปยังมาเลเซียเพราะปีที่ผ่านมามีออร์เดอร์จำนวน 150 คัน และยังมองไปถึงประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ อาทิ เมียนมา ,ลาว,เวียดนาม ,กัมพูชา โดยอยู่ในระหว่างการหาคู่ค้าเพื่อทำตลาดในประเทศต่างๆ

บริษัทคาดว่าจากแนวรุกดังกล่าวจะทำให้ยอดขายรวมของทีอาร์ ทรานฟอร์เมอร์ในปีนี้ทำได้ 300 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 180 คัน

 ความพร้อมสู่เขตฟรีโซน

ในปีที่ผ่านมา เราให้ความสนใจและศึกษาเรื่องขอใช้สิทธิฟรีโซนจากกรมศุลกากร ทั้งนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบของการรับจ้างประกอบ เพราะจะได้สิทธิพิเศษด้านภาษี ซึ่งไทยรุ่งแต่เดิมไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว แต่ตอนนี้ได้เริ่มดำเนินการเพื่อขอพื้นที่ส่วนหนึ่งที่โรงงานหนองแขมให้เป็นพื้นที่ฟรีโซน โดยได้มีการยื่นเรื่องขอจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบและพิจารณา ซึ่งตามปกติใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าภายในไตรมาส 1 จะได้ข้อสรุปและคาดว่าจะอนุมัติ พอถึงไตรมาส 2 ก็เริ่มดำเนินการได้ทันที โดยประโยชน์หลังจากการได้สิทธิฟรีโซนคือสามารถรองรับการว่าจ้างการประกอบรถยนต์จากยี่ห้ออื่นๆมากขึ้น

 โรงงานจะลงทุนเพิ่มไหม

โรงงานประกอบรถยนต์ที่หนองแขมมีกำลังการผลิตสูงสุด 5 หมื่นคัน ตอนนี้ผลิตแค่ 30 - 40 % ดังนั้นในปีนี้จะยังไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม อย่างไรก็ดีกำลังพยายามมองหาโปรเจ็กต์ใหม่ๆโดยเฉพาะการประกอบมินิบัส ซึ่งภาครัฐออกมาสนับสนุนให้วิ่งแทนรถตู้ และไทยรุ่งก็เห็นด้วยกับแนวความคิดดังกล่าว เพราะรถมินิบัสมีความสะดวกสบายกว่า และปลอดภัยสูงกว่า โดยคาดว่าโปรเจ็กต์นี้จะเริ่มประมูลหรือมีความชัดเจนช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะประมูลในจำนวน 300 คัน

สำหรับโปรเจ็กต์ดังกล่าวหากเคาะสเปกออกมา ทางผู้ประกอบการก็มีการเตรียมความพร้อม โดยไทยรุ่งยังมีพื้นที่เหมราช-บ่อวิน อีก 60 ไร่ ซึ่งซื้อไว้เพื่อเตรียมรองรับการผลิตชิ้นส่วน -การพ่นสี แต่เนื่องจากภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่ผ่านมามีการชะลอตัว อย่างไรก็ดีหากรถมินิบัสมีความต้องการมาก ก็สามารถที่จะมาประกอบที่โรงงานดังกล่าวได้

โดยสรุปหากโรงงานหนองแขมพร้อมได้สิทธิฟรีโซน และได้รับโปรเจ็กต์มินิบัสในปีนี้ ก็คาดว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 150 -200 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,235 วันที่ 12 - 15 กุมภาพันธ์ 2560