วัดใจรัฐ! เรียกคืนภาษีเชฟรอน 3 พันล้าน

24 ม.ค. 2560 | 09:00 น.
การที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือตอบกรมศุลกากรอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันของบริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด จากชายฝั่งในราชอาณาจักรไปใช้ยังแท่นขุดเจาะปิโตรเลียมที่ตั้งอยู่ในเขตไหล่ทวีปนอกอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ.) ศุลกากรพ.ศ. 2469 และ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ.2527 ไม่ได้บัญญัติคำว่า“ราชอาณาจักร ” มีเพียง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514ที่เป็นกฎหมายเฉพาะซึ่งบัญญัติคำว่า “ราชอาณาจักร”ว่าหมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ยอมรับกันโดยทั่วไป และตามสัญญากับต่างประเทศด้วย

 นับ 1 ใหม่เก็บภาษีฯเชฟรอน

ดังนั้นการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์น้ำมันไปใช้ในการสำรวจและการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ดังกล่าวจึงต้องถือตามกฎหมายปิโตรเลียม กล่าวคือเป็นการขนของไปใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมในราชอาณาจักร หากมีภาระภาษีใด ๆเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการก็ต้องมีการจัดเก็บภาษี
การตีความดังกล่าว แม้จะสร้างความชัดเจน และทำให้รัฐกลับมามีรายได้จัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงจากการเชฟรอน โดยนาย สมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต ประมาณว่าปีงบประมาณ 2560 จะมีรายได้ในส่วนนี้เกือบ 1,000 ล้านบาท

หากแต่ปมปัญหาที่ค้างอยู่คือ กรณีที่รัฐได้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต จำนวน 3,000 ล้านบาทให้กับบริษัทเชฟรอนฯ ไปแล้ว จะสามารถเรียกคืนกลับมาได้หรือไม่ ?

ประเด็นดังกล่าวแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่าเมื่อกฤษฎีกา ตีความเช่นนี้แล้ว อะไรที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีก็ต้องเสีย อะไรที่รัฐคืนให้ไปแล้ว และควรจะเป็นของรัฐก็ต้องเรียกคืน ต้องว่าไปตามนั้นซึ่งเป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร ต้องไปกำหนดกรอบกรอบเวลาขั้นตอนออกมา

  เชฟรอนยันยังไม่ได้เข้าพบ

ก่อนหน้านี้นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่าหลังกรม ฯได้รับหนังสือตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะเรียกประชุมฝ่ายกฎหมายและเจ้าหน้าที่ทันที โดยกรมฯจะทำหนังสือแจ้งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงบริษัทเชฟรอนฯ ขณะที่นายสมชาย อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า ผู้บริหารของบริษัท เชฟรอนฯได้ประสานเข้ามาเพื่อขอเข้าพบในช่วงสัปดาห์นี้ (16-20 ม.ค.2560) คาดจะเจรจาในเรื่องภาษีน้ำมันที่ต้องชำระ

แต่เมื่อ”ฐานเศรษฐกิจ”สอบถามไปยังนายบุญญฤทธิ์ ศรีอ่อนคง ผู้จัดการฝ่ายองค์กรและรัฐสัมพันธ์ บริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย)ฯกล่าวว่า ผู้บริหารบริษัท ยังไม่ได้รับการติดต่อจากกระทรวงการคลังหรือหน่วยงานรัฐใด ๆ ผมได้อ่านตามที่สื่อลงว่าผู้บริหารเชฟรอนจะไปเข้าพบแต่ข้อเท็จจริงคือบริษัท ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือมีหนังสือแจ้งเข้ามา“ นายบุญญฤทธิ์ กล่าว ส่วนการที่เชฟรอน จะต้องจ่ายคืนภาษีสรรพสามิต 3,000 ล้านบาทคืนให้รัฐเพียงแต่เป็นการตีความพื้นที่ตามนิยามเขตราชอาณาจักรไทย

 เบื้องหลังที่มา

ที่มาที่ไปเริ่มจากการที่เชฟรอนบริษัทพลังงานสัญญาติอเมริกา ได้รับสัมปทานในอ่าวไทยนานกว่า 30 ปี ซึ่งเดิมทีกรมศุลกากรกำหนดให้เชฟรอนปฏิบัติพิธีการศุลกากรในรูปแบบของ “การค้าชายฝั่ง “ ที่ถือเป็นการซื้อขาย-ขายในประเทศ จึงทำให้เชฟรอนต้องเสียภาษีสรรพสามิต ต่อมาเมื่อปลายปี 2553 เชฟรอนได้ทำหนังสือสอบถามกรมศุลกากร ในประเด็นข้อสงสัยว่า “ กรณีที่บริษัทซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง ( SPRC)ส่งขายให้ “บริษัทเชฟรอน สผ.”ไปใช้ในแท่นขุดเจาะน้ำมันในบริเวณพื้นที่ไหล่ทวีป ถือว่าอยู่นอกเขตราชอาณาจักรไทยและถือเป็นการส่งออกตาม พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ. 2469 และตามพ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 หรือไม่อย่างไร?

  เว้นภาษี 5 ปีรัฐสูญ 3 พันล้าน.

ทั้งกฎหมายศุลกากรและกฎหมายภาษีสรรพสามิตก็ดี ไม่ได้บัญญัติคำว่า “ราชอาณาจักรไทย” (ตามรายละเอียดที่กล่าวข้างต้น) ด้วยเหตุนี้เองกรมศุลกากรจึงมีหนังสือตอบกลับ (2 พ.ค.54) ระบุว่าการขนส่งนํ้ามันเชื้อเพลิงไปยังพื้นที่สัมปทานนอกบริเวณทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลถือเป็นการส่งออกจนนำไปสู่การขอคืนภาษี 3,000 ล้านบาทของเชฟรอนในที่สุด โดยเป็นการขอคืนภาษีปี 2554-2559 แยกเป็นภาษีสรรพสามิตและเงินกองทุนนํ้ามันฯ 2,000 ล้านบาท แวต 1,170 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 กรมศุลกากรถึงมีหนังสือด่วนที่สุดส่งถึง นายสมชัย สัจจพงษ์ปลัดกระทรวงการคลัง ขอให้กระทรวงการคลังสั่งกรมสรรพสามิตชะลอการคืนภาษี (ปีภาษีที่จะจ่ายถัดไป) จนกว่ากฤษฎีกาจะตีความคำว่า “ราชอาณาจักร”และได้ข้อยุติ

ปมปัญหาที่ต้องขบต่อคือรัฐจะหาทางออกเรียกคืนเงิน3,000 ล้านบาทจากเชฟรอนได้หรือไม่? แม้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมาว่า“ทุกอย่างต้องพิจารณาไปตามกระบวนการ หากเชฟรอนผิดก็ต้องจ่าย มีกฎหมายอยู่แล้วโดยต้องคำนึงถึงประโยชน์ประเทศชาติ แต่อย่าเพิ่งไปพูดอะไรให้บริษัท เชฟรอนเสียหาย”

แต่การเรียกคืนภาษี 3,000 ล้านบาทจากเชฟรอน ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ เพราะเชฟรอนยืนยันตลอดมาว่าได้ปฏิบัติตามวินิจฉัยของสำนักกฎหมาย กรมศุลกากร และในมุมกลับกัน หากรัฐจะยกเว้นภาษีให้เชฟรอน ก็ต้องแก้ปมปัญหาใหม่ที่จะตามมา ทั้งกรณี บมจ.ปตท.สผ. ที่รับ สัมปทานในน่านนํ้าไหล่ทวีป นอกอาณาเขตเช่นเดียวกันกับเชฟรอน ทำไมไม่ได้รับการยกเว้นภาษี? และจะโยงใยเป็นปัญหาในอนาคตจากปมปัญหา “อธิปไตยทางทะเล” หรือไม่?

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560