คิดนอกกรอบ

18 ม.ค. 2560 | 10:10 น.
ขอต้อนรับผู้อ่านฐานเศรษฐกิจทุกท่านเข้าสู่โฉมหน้าใหม่ ภายใต้ความรับผิดชอบผม และคุณทิฆัมพร ศรีจันทร์ บรรณาธิการบริหาร พร้อมทีมงานกองบรรณาธิการชุดเดิม แต่เติมแง่มุมของข่าวสารที่ครบครันทันสมัยขึ้นทีมงานในกอง บ.ก.ขอปวารณากับทุกท่านว่า จะพยายามคัดสรรข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจที่ทำให้เห็นถึง “โอกาส” สะท้อนปัญหา นำเสนอข่าวสารที่ประเทืองปัญญา

แม้ในสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้ทำนายทายทักว่า สื่อเก่าจะล้มหายไปจากบรรณพิภพหลังเจอสัญญาณการมาของสื่อใหม่ที่ได้เข้าครอบครองใจคนเสพสื่อในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าตื่นตระหนก

สื่อดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทัน ต่างพากันลดภาระและต้นทุนให้ตัวเบา หรือรีบกระโจนลงสนามสื่อในโลกโซเชียลมีเดียแบบใหม่ ด้วยวิธีต่างๆ บางรายยอมจำนนด้วยการปิดตัวเองไประนาว หลังพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนคนไทยเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วปานจรวด

แน่นอนว่าความเร็วของข้อมูลข่าวสาร และการปรากฏกายของผู้สร้างคอนเทนต์ที่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคน และการแชร์ ลิงก์ข้อมูล คือ ตัวแปรสำคัญ

เช่นเดียวกับคนที่ทำข่าวไม่จำกัดวงแคบเพียงแค่นักข่าว แต่ทุกคนสามารถผลิตข่าวของตัวเองได้แทบทั้งหมด แม้กระทั่งบริษัทเอกชนที่เดิมพึ่งพาสื่อในการนำสารไปยังผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ความถูกต้องของข้อมูล การวิเคราะห์ การประมวลผล การคัดกรองชุดของข้อมูลข่าวสารที่จะส่งไปถึงมือผู้บริโภค ยังน่าจะเป็นทางรอด

ผม และฝ่ายบริหารของฐานเศรษฐกิจยังเชื่อว่า ในวิกฤติยังมีโอกาสอยู่เสมอ เพียงแค่เราหามันให้เจอเท่านั้น… รับรองเรารอด…

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น บอกให้เรารับรู้ว่า การทำงานแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกคนต้องใช้ปัญญามาขบคิด เพราะขณะนี้ตำราแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้กับยุคสมัยที่ผู้บริโภคในสังคมไทยหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนและท่องอยู่ในโลกดิจิตอล

ข้อมูลล่าสุดพบว่า จำนวนประชากรไทย 68.1 ล้านคน ในปัจจุบันไม่นิยมอ่านหนังสือ แต่หันมาใช้งานอินเตอร์เน็ต 38 ล้านคน หรือ 56% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้มีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่สูงถึง 41 ล้านคน แบ่งเป็นการใช้งาน Facebook 92.1% LINE 85.1% และ Google+ 67%

พฤติกรรมดังกล่าวทำให้การรบในสารบบเดิมทำไม่ได้แล้ว ต้องสู้แบบนอกตำรา

สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์ บอกกับผมว่า พฤติกรรมคนในปัจจุบันไม่เพียงทำให้สื่อแบบเดิม สื่ออนาล็อก เข้าไปยืนบนเชิงตะกอนที่รอวันเผาถ้าเราไม่เปลี่ยน

สปีด หรือความเร็วของข้อมูลข่าวที่มีการแชร์กัน กำลังทำลายล้างการทำงานของสื่อและสำนักข่าว Gatekeeper ที่เป็นความขลังในการคัดกรองข่าวสารของสื่อมวลชน ได้ถูกทำลายลงไปอย่างย่อยยับ

เซเลบ คนดัง ผู้ควบคุมชุมชนบนโลกเสมือนที่ไร้ตัวตน ไม่เคยคลุกวงในกับข่าวสารเหมือน “นักข่าว” ก้าวเข้ามาแทนที่ เพียงแค่มีคอมเมนต์ หรือการโพสต์

ช่องทางในการนำสารของสื่อแบบดั้งเดิมที่ บริษัทเอกชน ภาคธุรกิจ ต้องการใช้เป็นเครื่องมือในการนำสารผ่านสื่อ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจน ไม่มีความหมายอีกต่อไป ในเมื่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในโลกดิจิตอล ที่คนหันไปยึดติดกับโลกโซเชียลมีเดียนั้น ภาคเอกชนสามารถผลิตคอนเทนต์แล้วสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าได้ตรงกว่าและมีตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์จากยอดวิว จากจำนวนผู้เช้าชมที่พิสูจน์ได้

ข่าวสารจะผิด จะถูก มีศีลธรรมจรรยาหรือไม่ ไม่มีคนสนใจอีกต่อไป สนใจเพียงแค่รับรู้ คอมเมนต์ และ แชร์… เท่านั้น
“แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร… .ถ้าไม่ปรับวิธีคิด วิธีการทำงานใหม่ทั้งหมด”หนุ่มเมืองจันท์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ไม่เพียงแต่ธุรกิจสื่อเท่านั้นที่ต้องปรับตัวกับโลกดิจิตอลที่บุกรุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว ธุรกิจทุกสิ่งอย่างกำลังถูกไล่ต้อนให้ไปยืนอยู่บนหุบเหว ถ้าหากมองหาโอกาสไม่ถูก

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ นักการเมืองชื่อดัง ผู้ผันไปทำธุรกิจโรงแรมและศูนย์การค้าที่หัวหิน บอกว่า แทบไม่น่าเชื่อว่าภายในระยะเวลาแค่ 1 ปี พฤติกรรมของคนจะแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ขนาดนี้

ธุรกิจโรงแรมที่เคยมีการทำการตลาดแบบเดิม ภายใต้เชนชื่อดังต้องปรับกลยุทธ์กันขนานใหญ่ เพราะยอดการจองห้องพักผ่านทางออนไลน์มีปริมาณที่เกิน50% เข้าไปแล้ว การทำการตลาดแบบเดิมๆ ที่ทุ่มเงินทองมากมายไร้ความจำเป็นอีกต่อไป

ใครสรรค์สร้างระบบการขายแบบออนไลน์ได้โดนตรงความต้องการของผู้บริโภคบนโลกใบนี้ได้ จะกลายเป็นผู้นำ ดูอย่าง Airbnb ไม่มีห้องพักแต่มีอัตราการเติบโตอย่างน่าตกใจ ด้วยแนวคิดที่ผู้เช่าห้องพักและผู้ปล่อยเช่าห้องพักต่าง “วิน-วิน” ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะผู้เช่าก็อยากได้ห้องพักที่ราคาถูกกว่าโรงแรม ขณะที่ผู้ให้เช่าก็มีรายได้จากการเปิดห้องให้เช่า ดีกว่าทิ้งไว้เปล่าๆ โดยAirbnb จะทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” หรือ “นายหน้า” ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถเช่าหรือปล่อยห้องพักได้ง่ายขึ้น เพราะมีเว็บไซต์กลางให้ทั้งสองฝ่ายสามารถติดต่อกันได้ ซึ่งรายได้ของ Airbnb จะมาจากการบวกราคาที่พักที่ปล่อยเช่า รวมทั้งเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของที่พักอีกทางด้วย

แม้แต่ศูนย์การค้าที่เดิมนั้นเป็นช่องทางการขายอันสำคัญของแต่ละผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีสภาพไม่แตกต่างจากโชว์รูม มีไว้เพื่อโชว์สินค้า ยอดขายไม่ขยับ เพราะคนที่มาเดินแน่นขนัดในแต่ละวันหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์กันหมดแล้ว

“ที่ขายดิบขายดีในขณะนี้มีเพียงอาหารการกินเท่านั้น ที่เหลือดับสนิทศูนย์การค้าปัจจุบันจึงเสมือนห้องโชว์ จัดอีเวนต์เพื่อบูมสินค้าเท่านั้น คนทำธุรกิจจึงต้องคิดหนักและต้องฉีกตำราเดิมทิ้ง” สุวัจน์ รวบยอดความคิด

นักการเมืองผู้กลายเป็นนักธุรกิจ ตกผลึกทางความคิดว่า การทำธุรกิจในยุคนี้ อยู่ที่วิธีคิดล้วนๆ ไอเดียดีจะนำพาธุรกิจรอด

ข้อคิดของสุวัจน์ ทำให้ผมนึกถึง Alibaba… เจ้าของไอเดียดี ที่สร้างแคมเปญวันคนโสด เทศกาลลดราคาครั้งใหญ่ เชื่อหรือไม่ ขายของออนไลน์ในวันเดียวได้เงินสูงถึง 6 แสนล้านบาท

การคิดวันพิเศษของคนโสด แลวมาผนวกับการจัดอีเวนต์จูงใจให้คนช็อปแก้เครียด กลายเป็นไอเดียหาเงินได้จำนวนมหาศาล

ประเทศไทยมีเทศกาลมากมายแต่ไม่ได้รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ถ้าเราสามารถใช้โซเชียลมีเดียมาบูมในการขาย แล้วสร้างอีเวนต์พิเศษอะไรขึ้นมา เชื่อว่าจะคึกคักแน่นอน เพียงแต่หาคอนเซ็ปต์ให้เจอ ครีเอตกิจกรรมให้บูมในแต่ละชุมชน ที่สำคัญต้องกระตุกให้คนเล่นกับมันแค่นั้น ทำเงินได้มหาศาล…ไม่ต้องไปง้อทัวร์ศูนย์เหรียญจากเมืองจีน…

สภาพปัจจุบันที่เป็นอะไรก็ไม่รู้นั้น การทำงานแบบเดิมอยู่ไม่ได้ ต้องอาศัยไอเดียนอกตำรามาทำเงิน จึงจะอยู่รอด เลิกทำตามคนอื่นกันได้แล้ว พี่น้องไทย…

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560