โรดแมปข้าวครบวงจร ลดพื้นที่ปลูก-สร้างสมดุลตลาด

14 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ยาวไปถึงเดือนเมษายน 2560 ซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้งของปี 2559/2560 กรมชลประทานได้ประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าในฤดูแล้ง ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนโดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะมีเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และยังเหลือป้อนให้กับภาคเกษตรด้วย คาดจะเป็นแรงจูงใจทำให้ชาวนากลับมาปลูกข้าวนาปรังกันเพิ่มมากขึ้นอีกครั้ง

ผลพวงดังกล่าวจะมีผลต่อเนื่องทำให้วงการค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวในปีนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจาก 2 ปีก่อนหน้านี้ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติภัยแล้งอย่างรุนแรงทำให้ตลาดการค้าเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างซบเซา ขณะที่อีกด้านหนึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งกำกับดูแลด้านการผลิตพืชเกษตรของประเทศได้ "ชุติมา บุณยประภัศร"อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้ไปใช้พื้นที่ของ "กรมการข้าว" เป็นฐานบัญชาการในการบริหารจัดการผลิตข้าวครบวงจร ยิ่งทำให้ภาพกรมการข้าวในปีนี้มีมิติที่คึกคักมากกว่าเดิม

"ฐานเศรษฐกิจ"ฉบับนี้จึงได้สัมภาษณ์พิเศษ "อนันต์ สุวรรณรัตน์" อธิบดีกรมการข้าว ถึงการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ทั้งการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรปี 2560 ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

 น้ำดีชาวนาปลูกข้าวเพิ่ม

"อนันต์" กล่าวนำว่า สถานการณ์ปีนี้น้ำดี ชาวนาจะหันมาปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น และคาดจะทำให้ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ข้าวกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งกรมการข้าว เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐที่ ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลัก และชั้นพันธุ์ขยายปีละประมาณ 8 หมื่นตัน พร้อมกับการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้แก่ผู้ประกอบการภาคเอกชน ชุมชนเกษตรกร สถาบันเกษตรกรทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพมาตรฐานและกระจายสู่เกษตรกร อย่างเพียงพอและทั่วถึง

"ปีนี้ราคาข้าวหอมมะลิไม่สูงมากนัก ทางกรมจึงได้ลดราคาขายเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นพิเศษ เพราะอยากให้ชาวนาใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ได้แก่ 1.เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 กข15 และ กข33 (หอมอุบล80) ชั้นพันธุ์ขยาย ราคา 21 บาทต่อกิโลกรัม ชั้นพันธุ์จำหน่าย ราคา 20 บาทต่อกิโลกรัม จากราคา 24 บาทต่อกิโลกรัม และ ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ 2. เมล็ดพันธุ์ข้าวสังข์หยดพัทลุง ลดราคาชั้นพันธุ์ขยายเหลือ 25 บาทต่อกิโลกรัม และชั้นพันธุ์จำหน่ายเหลือ 24 บาทต่อกิโลกรัม จากราคา 29 บาทต่อกิโลกรัมและราคา 28 บาทต่อกิโลกรัมตามลำดับ เป็นต้น"

นอกจากนี้ทางกรมยังมีแผนการขับเคลื่อนข้าวชุมชน โดยจะใช้โครงการนาแปลงใหญ่ที่ชาวนารวมตัวกันผลิตในแต่ละกลุ่ม จะคัดเลือกแปลงในกลุ่มใช้เป็นฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ป้อนกันในกลุ่ม โดยบางส่วนทางกรมจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์บางส่วนให้ เพื่อกระจายให้เกษตรกรที่อยู่ร่วมแปลงใหญ่ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ดีอย่างทั่วถึง อีกด้านหนึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้ชาวนารวมตัวกันทำนาแปลงใหญ่มากขึ้น

"สิ่งที่อยากจะฝากชาวนาคือขอให้ให้ทำนาแบบประณีต โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกต้อง อย่าทำนาแบบไม่ได้ตั้งใจ ทำทิ้งๆ ขว้างๆ เพราะการทำนาอย่างประณีตจะสามารถลดต้นทุน ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น เห็นได้จากบางคนลดพื้นที่ปลูกลง แต่กลับได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น นี่คือความท้าทายของชาวนายุคนี้"

 ให้เปลี่ยนอาชีพตามต้องการ

สำหรับการลดพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมตามแผนที่เกษตรเพื่อบริหารจัดการเชิงรุก หรือ อะกริแมปซึ่งปีที่แล้วตั้งเป้าไว้ 5.7 แสนไร่ แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ 3.5 แสนไร่ เนื่องจากโครงการหรือแผนต่างๆ กว่าจะลงไปถึง ชาวนาส่วนใหญ่ก็ปลูกข้าวไปแล้ว จึงทำให้โครงการนี้ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังเดินหน้าอยู่ เพราะเงินสนับสนุนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ก็ยังไม่หมด โดยในปีนี้จะเพิ่มแคมเปญจูงใจให้สำหรับชาวนา ลดพื้นที่ปลูกข้าวเป้าหมาย 2.4 แสนไร่ โดยจะให้ชาวนาเขียนความต้องการขึ้นมาว่า อยากจะเปลี่ยนอาชีพไปทำอะไรโดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะเกิดผลได้จริงกว่า แผนงานดังกล่าวนี้จะให้คณะทำงานติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจรระดับจังหวัดไปสำรวจตามจังหวัดเป้าหมายแล้วส่งความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ขึ้นมา โดยให้ส่งเรื่องไม่เกินเดือนเมษายนนี้ จากนั้นทางกรมจะนำเสนอเรื่องต่อ ครม.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องงบประมาณสนับสนุนต่อไป

 เคาะตัวเลขผลิตข้าวรอบใหม่

"อนันต์" กล่าวอีกว่านางสาวชุติมา รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ได้มอบนโยบายให้กรมการข้าวเร่งหารือกับทางกระทรวงพาณิชย์ ในการวางแผนการผลิตข้าวปี 2560/2561 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากปีที่แล้วแผนการผลิตข้าวปี 2559/2560 ล่าช้าเกินไป เพราะบางส่วนชาวนาปลูกข้าวไปแล้ว แต่ในปีนี้การวางแผนจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม และจะต้องแล้วเสร็จ (การปลูกข้าวคาดจะเริ่มจริงในเดือนพฤษภาคม) โดยการวางแผนการผลิตจะมีการกำหนดปริมาณการปลูกข้าวตามความต้องการของตลาด โดยจะแบ่งชนิดข้าวเปลือก อาทิ ข้าวหอมมะลิ ข้าวปทุมธานี ข้าวเจ้า และข้าวชนิดอื่น ๆ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงพาณิชย์จะต้องบอกความต้องการข้าวแต่ละประเภทว่ามีปริมาณเท่าไร ไปตลาดไหน มีสัดส่วนเพื่อบริโภคในประเทศเท่าใด และส่งออกเท่าไร เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจน เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯจะได้เตรียมวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

"ก่อนที่จะมาตำแหน่งรัฐมนตรีช่วย ท่านเคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเป็นประธานคณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เห็นจุดอ่อนจุดแข็งทั้งระบบ ปีที่แล้วมีการปฏิรูปข้าว มีการทำงานแบบบูรณาการ 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ พาณิชย์ มหาดไทย และคลัง แต่ก็มีปัญหากว่าจะเคาะมาตรการออกมาบางทีไม่ตรงกับจังหวัด และล่าช้าไป ปีนี้ท่านมากำกับภาคการผลิตเอง น่าจะทำให้ได้ตรงและเร็วกว่า นอกจากนี้จะมาขับเคลื่อนข้าวครบวงจร เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร มีหน่วยงานสังกัดอยู่ในบริเวณกรมการข้าว ท่านจึงได้มาทำงานที่นี่ เพราะสะดวกกว่าอยู่ที่กระทรวง เชื่อว่าท่านจะติดตามงานทุกระยะ จะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้มอบหมายภารกิจให้"

 แผนปี 60 ขยายข้าวอินทรีย์

สำหรับแผนในปี 2560 ทางกรมการข้าว ได้ดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ข้าว 20 ปีของกระทรวง คือ การรักษาระดับการผลิตให้สอดคล้องกับการตลาด โดยแบ่งเป็นการผลิตข้าวส่งออกครึ่งหนึ่ง การบริโภคภายในครึ่งหนึ่ง เน้นเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งปัจจุบันบางพื้นที่ผลิตข้าวได้มาก แต่ก็ยังมีหลายพื้นที่ที่ผลิตข้าวได้ไม่เพียงพอ เช่น ภาคใต้ หรือบนที่ราบสูงของชนเผ่าที่ผลผลิตยังต่ำ ทางกรมก็ต้องเข้าไปพัฒนาทำให้คนกลุ่มนี้มีข้าวบริโภคเพียงพอ ส่วนข้าวส่งออกเพื่อให้สอดคล้องกับตลาดที่จะนำการผลิต

"ทางกรมพยายามที่จะขับเคลื่อนแผนข้าวครบวงจรให้สมบูรณ์มากขึ้น โดยเฉพาะมีรัฐมนตรีช่วยฯ มาประจำอยู่ด้วย คาดว่าจะขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย ขับเคลื่อนแผนข้าวครบวงจรให้เป็นไปตามมาตรการให้ที่วางแผนให้มากที่สุด รวมทั้งเรื่องนาแปลงใหญ่ ข้าวอินทรีย์ คุณภาพมาตรฐานข้าวก็อยู่ในแผนข้าวครบวงจรเช่นเดียวกัน ซึ่งในปีนี้จะเป็นปีที่เริ่มต้นวางระบบข้าวอินทรีย์ให้ขยายตัวให้ให้เพิ่มมากขึ้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560