แนวโน้มปอนด์ผันผวนต่อเนื่อง หลัง‘เมย์’ส่งสัญญาณถอนตัวอียูแบบ‘ฮาร์ดเบร็กซิท’

12 ม.ค. 2560 | 14:00 น.
ค่าเงินปอนด์ดิ่งหนักจากความกังวลของนักลงทุนว่าอังกฤษมีแนวโน้มออกจากอียูแบบ "ฮาร์ดเบร็กซิท" หลังนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ระบุต้องการอำนาจในการควบคุมคนเข้าเมืองและการออกกฎหมายกลับมาอยู่ในมือ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษอ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 สัปดาห์ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ หลังจากการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในปี 2560 ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เกี่ยวกับการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

"เราจะไม่เป็นสมาชิกของอียูอีกต่อไป ดังนั้นคำถามคือความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างอังกฤษและอียูจะเป็นอย่างไรเมื่อเราออกมาแล้ว เราจะมีอำนาจควบคุมชายแดนของเรา ควบคุมกฎหมายของเรา แต่เรายังคงต้องการข้อตกลงที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้สำหรับบริษัทอังกฤษเพื่อให้ทำการค้าภายในอียูและกับอียู และสำหรับบริษัทยุโรปเข้ามาดำเนินการและทำการค้าในอังกฤษ" เมย์กล่าวกับสถานีโทรทัศน์สกายนิวส์ของอังกฤษ

นางแคธลีน บรูคส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของบริษัทหลักทรัพย์ ซิตี้ อินเด็กซ์ กล่าวว่า การตอบโต้กันด้วยคำพูดที่ดุเดือดขึ้นระหว่างอังกฤษและยุโรปในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลอดจนเหตุการณ์ลาออกของนายอีวาน โรเจอร์ส เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอียู ส่งผลให้นักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนเชื่อว่าอังกฤษกำลังจะมุ่งหน้าสู่การแยกตัวออกจากยุโรปแบบ "ฮาร์ดเบร็กซิท" (Hard Brexit) ก่อนที่นางเมย์จะออกมาให้สัมภาษณ์

บรูคส์คาดหมายว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงต่อเนื่องไปอีกหลายสัปดาห์ จนกว่ารัฐบาลอังกฤษจะเปิดเผยรายละเอียดที่ชัดเจนว่าการถอนตัวออกจากอียูจะมีเงื่อนไขและความตกลงอย่างไร

ผลการทำประชามติในเดือนมิถุนายนที่ออกมาว่าชาวอังกฤษต้องการออกจากอียู ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวลงอย่างหนัก โดยลดลงแล้ว 19% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และ 12% เมื่อเทียบกับยูโร เนื่องจากความกังวลว่าการถอนตัวออกจากอียูจะทำให้การส่งออกของอังกฤษไปยุโรปมีอุปสรรคเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี ค่าเงินกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอังกฤษยืนยันว่าจะรักษาช่องทางการเข้าถึงตลาดเดียวของยุโรปให้ได้มากที่สุด

ในขณะที่ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงทำให้การส่งออกของอังกฤษเติบโตขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็เพิ่มราคาสินค้าและวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้บริษัทเอกชนหลายรายส่งสัญญาณว่าจำเป็นจะต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในอนาคต

คริส เซนต์ นักวิเคราะห์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากบริษัทหลักทรัพย์ฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์ฯ กล่าวว่า คำกล่าวของนางเมย์ไม่ได้ช่วยลดทอนความกังวลต่อประเด็นที่ว่ารัฐบาลไม่มีแผนการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาถอนตัวจากอียูที่จะถึงกำหนดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมกับคาดการณ์ว่าค่าเงินปอนด์จะมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นต่อสัญญาณว่าอังกฤษจะใช้จุดยืนที่แข็งกร้าวในการเจรจา

ทั้งนี้ นางเมย์กล่าวในการให้สัมภาษณ์ ปฏิเสธเรื่องที่นายโรเจอร์สกล่าวหาว่ารัฐบาลของเธอไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจนสำหรับกระบวนการถอนตัวจากอียู โดยกล่าวว่าจะเปิดเผยรายละเอียดของยุทธศาสตร์การเจรจาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า ไม่มีแผนการถอนตัวจากอียูที่จัดทำขึ้นโดยนายเดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรี และจะต้องประเมินสถานการณ์และกำหนดวิธีการดำเนินการที่เหมาะสม เมื่อมีการเริ่มใช้มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการเจรจาถอนตัวจากอียูเป็นระยะเวลา 2 ปี

"มันเป็นการเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เหมาะสมกับต่างชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เป็นธรรมสำหรับอังกฤษ" นางเมย์กล่าว

ขณะที่ผู้นำยุโรปยังคงยืนยันท่าทีว่าอังกฤษจะไม่สามารถเลือกปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ โดยการเข้าถึงตลาดเดียวของยุโรปจะต้องหมายถึงอังกฤษยอมให้มีการเคลื่อนย้ายคนโดยเสรีด้วย "เราต้องมีความชัดเจนว่าการเข้าร่วมหรือเข้าถึงตลาดเดียวนั้นจะเกิดขึ้นได้บนเงื่อนไขของการปฏิบัติตามการเคลื่อนย้ายโดยเสรีทั้ง 4 ด้านคือสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน" นางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวต่อสหภาพข้าราชการที่เมืองโคโลญจน์ เยอรมนี เมื่อต้นสัปดาห์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560