จับตา‘ประยุทธ์’ ปรับตัวสู่โหมดเลือกตั้ง

05 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
ย่างเข้าสู่ศักราชใหม่สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย ยิ่งถูกจับตาอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะตัวแปรจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นตัวกำหนดอนาคตประเทศ

ตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนปรากฎการณ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ช่วงเปลี่ยนผ่านจากปี 2559 เข้าสู่ปี 2560 กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า 2 ปีกว่าที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่ได้บรรลุผล แม้ว่าจะมีอำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) ขณะที่การเมืองเริ่มขยับรับโหมดเลือกตั้ง แนะจับตาบทบาทพลังสังคมเริ่มก่อตัวขึ้นเป็นลำดับ

ศก.ยังเป็นปัญหาจุกอกรัฐบาล

อดีตอาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขยายความอีกว่า ปัญหาเศรษฐกิจทุกรัฐบาลเผชิญเหมือนกัน ในรัฐบาลนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจก็พยายามแก้ปัญหา แต่ยังไม่ดีขึ้น เพราะการลงทุนลดลง รัฐบาลก็ต้องยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจอ่อนไหวมาก ถูกกดตั้งแต่ปัญหาราคาข้าว ตามด้วยราคายาง เป็นปัญหาไม่รู้จบ รัฐบาลภายใต้อำนาจพิเศษน่าจะจัดการเรื่องนี้ได้ แต่ก็ทำไม่ได้เต็มที่นัก มีการพูดกันว่า เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายจำนำข้าวของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เหตุใดรัฐบาลนี้ไม่แก้ปัญหารากฐานเกษตรกร ไม่ว่าปัญหาปัจจัยการผลิตและแหล่งน้ำ ที่ดิน การพัฒนาการผลิต รัฐบาลขาดสิ่งสำคัญคือ การผลักดันสิ่งใหม่ๆ ไม่เหมือนรัฐบาลเลือกตั้ง การขับเคลื่อนเสนอสิ่งใหม่ไม่เหมือนกับรัฐบาลทักษิณ ปัญหาบางอย่างที่ต้องการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ต้องใช้มาตรา 44 เข้ามาช่วย ซึ่งจะใช้พร่ำเพรื่อไม่ได้

จนกระทั่งวันนี้ผ่านไป 2 ปีกว่า แผนพัฒนาเรื่องนี้เพิ่งก่อตัว มันช้า นายกรัฐมนตรีก็เร่งรัด แต่ที่ช้าเพราะกลไของรัฐคือระบบราชการไม่ขยับเขยื่อน ซึ่งรัฐบาลพึ่งพากลไกของรัฐทุกด้าน โดยเฉพาะการจัดตั้งงบประมาณเพิ่มอีกแสนล้านบาทลงให้กลุ่มจังหวัดละ 5,000 ล้านบาท ถ้าปี 2560 นโยบายนี้ล้มเหลว มีแต่เบี้ยหัวแตก ปัญหาจะสวิงกลับเข้าใส่รัฐบาล จะถูกโจมตีว่าทำงานไม่ได้เรื่อง เรื่องเงินแสนล้านเป็นดาบสองคม เพราะการทำงานอาศัยกลไกรัฐเหมือนเดิมสุ่มเสี่ยงมาก ผมกลัวเป็นแท่งไอติม

“ผมมองว่าหลายเรื่องรัฐบาลตั้งใจทำ มุ่งมั่น แต่ให้คะแนนแค่ผ่าน ไม่หมายความว่าไม่ทำงาน แต่มีตัวแปรเยอะมาก แม้จะควบคุมตัวแปรทางการเมืองได้ เพราะไม่มีการแย่งชิงอำนาจ ไม่มีการแย่งชิงผลประโยช์ แต่การตัดสินใจดำเนินนโยบาย ถ้าสิ่งใดกระทบกับประชาชน จะมีแรงต้าน แรงกดดันในการเปลี่ยนนโยบาย ไม่ว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เชื้อเพลิง เป็นต้น ”

 “ประยุทธ์”ปรับตัวสู่โหมดเลือกตั้ง?

นายตระกูล ให้ทัศนะถึงการเมืองปี 2560 ว่า จะเป็นปีที่เริ่มเข้าสู่โหมดการเมืองเปลี่ยนผ่าน เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ น่าจะประกาศต้นปี 2560 แต่คาดว่าการเลือกตั้งไม่ทันปีนี้ คิดว่าเมื่อปีกลองเริ่มดัง พรรคการเมืองจะเริ่มขยับตัวมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับคึกคัก เพราะถูกตรึงด้วยสถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศไว้ 1 ปี พรรคการเมืองจะยังไม่กล้าเล่นอะไรมากนัก ไทม์ไลน์การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กว่าจะได้รัฐบาลประมาณเดือนมีนาคม-เมษายนในปีเดียวกัน
ตัวแปรในเชิงกติกาหลักคือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญประกาศใช้แน่ แต่เมื่อเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีโอกาสแปรผัน หรือถูกล็อบบี้ ด้วยเหตุว่าในต่อไปบทบาทของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ก็คือนักการเมือง หลายคนอยากเป็น ส.ว. โอกาสโดดเข้าสู่เกมการเมืองโดยการแก้ไขกฎหมายลูกอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่ อาจจะเกิดปรากฎการณ์ต่อรองอำนาจในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะคุมสนช.ได้ แต่อย่าลืม คสช.ก็มีการเมือง ขบวนการการต่อรองเกิดขึ้นแน่นอน

“ปีหน้าให้โฟกัสการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปที่นายทหารที่เกษียณราชการ จะมีการเคลื่อนไหวให้เห็น พรรคประชาชนปฏิรูป ของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นแค่ตัวหลอก ส่วนกลุ่มการเมืองที่มีคดีความจะถูกล้อมกรอบไว้ส่วนหนึ่ง แต่ธรรมชาตินักการเมืองไม่ยอมให้ล้อมกรอบ เขาหาทายาทมาแทนจนได้”

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ท่านนี้ยังตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะปรับโหมดตัวเองเข้าสู่การเมืองหลังการเลือกตั้งหรือไม่ ให้ประเมินจากนโยบายรัฐบาลในปีนี้จะขับเคลื่อนแบบการเมืองหรือไม่ ที่เห็นชัดขณะนี้คือโครงการที่รัฐบาลทุ่มงบแสนล้านลงพื้นที่ทั่วประเทศ ถ้าเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อนตามเป้า ไร้ปัญหาคอร์รัปชั่น ผลงานเข้าตาประชาชน จะเป็นโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ปัญหาในทางปฎิบัติอยู่ที่ทีมยุทธศาสตร์ ของรัฐบาลจะสู้กับทีมยุทธศาสตร์พรรคการเมืองอย่างไร เพราะหากปรับโหมดสู่การเมือง ทางพรรคการเมืองย่อมไม่อยู่เฉย ต้องหาทางเข้ามีส่วนในอำนาจโดยเป็นคณะผู้บริหาร เพื่อกำหนดนโยบาย เพราะกลไกรัฐธรรมนูญการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องอาศัยเสียง ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

“เป็นไปได้หรือไม่ที่ทหารจะเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง โดยการตั้งพรรคการเมืองเอง แต่ถึงโหมดการเลือกตั้งจริงๆ แล้ว เขาสู้นักการเมืองไม่ได้ แม้ว่าจะพยายามเขียนรัฐธรรมนูญไว้เพื่อหวังให้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม ให้ได้ ส.ส.แบบสัดส่วนขึ้นมา ผมยังไม่เห็นว่าทหารจะปรับอย่างไร คิดว่ามีกลุ่มที่จะเดินเรื่องนี้ ซึ่งต้องดูท่าทีทีมงานรัฐบาล และทีมงาน 3 ป. ว่าได้ปรับโหมดวิธีความคิด วิธีการปฎิบัติให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหรือไม่ แต่ยังพึ่งมาตรา 44 แสดงว่าไม่แฮปปี้กับระบบประชาธิปไตย

ผู้นำทางการเมืองของทหาร พอเห็นตัวบ้างแล้ว กองทัพเขาสร้างผู้นำแต่เขาจะปิดบังอำพราง แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ ขึ้นอยู่ที่ว่าฝ่ายการเมืองมีผู้นำที่โดดเด่นหรือไม่ ที่สำคัญตอนนี้คนชอบผู้นำกล้าพูด กล้าชน กล้าตัดสินใจ”

  นักการเมืองเริ่มปรับตัวรับเลือกตั้ง

ในส่วนการเตรียมตัวรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆนั้น อาจารย์ตระกูล ประเมินว่าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อาจะผนวกเข้ากับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพราะกลุ่ม กปปส.คงไม่กล้าแยกตัวจากพรรค ปชป. มันเสี่ยงกับการสอบตก ที่นั่งส่วนใหญ่ของ ปชป. ยังเป็นพื้นที่เดิม จึงอยู่ในภาคกลาง และใต้บางส่วน ยังเจาะสนามการเมืองในภาคอีสานยาก

ส่วนพรรคเพื่อไทย แม้จะหาตัวผู้นำยังไม่ได้ แต่ฐานเสียงในภาคอีสานยังแน่น น่าจะรักษาพื้นที่ได้ประมาณ 70% หรือไม่เกิน 200 ที่นั่ง มีสมาชิกจากชาติไทยพัฒนามาสมทบบ้างบางเขตเลือกตั้ง บางส่วนคงไปอยู่ที่อื่น ขณะที่กทม. และจังหวัดรอบนอก คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น่าจะแย่งพื้นที่จาก ปชป.ได้ ต้องยอมรับว่าพื้นที่กทม. ทางปชป.ทำคะแนนได้ยากมากในตอนนี้ ย้อนมาดูพรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย และชาติพัฒนา การเป็นผู้นำรัฐบาลคงไม่คิด แต่คิดถึงการเข้าร่วมรัฐบาลมากกว่า

เมื่อกลไกทางการเมืองเริ่มขยับ สถานการณ์การเมืองยิ่งอ่อนไหว สังคมต้องปรับตัวตามและเฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,224 วันที่ 5 - 7 มกราคม พ.ศ.2560