5 ข่าวเด่นอุตฯยานยนต์ไทยปี 2559

29 ธ.ค. 2559 | 06:00 น.
ปี “ลิงหงอย” กำลังจะผ่านไป อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของประเทศ พยายามตั้งรับปรับตัว ทั้งจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และสภาพเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่คิดตามอัตราการปล่อยไอเสีย ซึ่งมีผลโดยตรงกับการวางแผนผลิตภัณฑ์ และการทำราคาขาย

แม้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ยากลำบากของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่ก็คงไม่ถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส และตลอดปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรที่น่าสนใจเกิดขึ้นบ้าง?

MP28-3222-C  1.รัฐบาลออกตัว EV ค่ายญี่ปุ่นเสียงแตก

ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา รัฐบาล“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แสดงออกชัดเจนถึงการสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวของทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ และมีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ประสานงานพร้อมสนับสนุนเงื่อนไขการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งในขั้นตอนหลังน่าจะสรุปกันจบและเตรียมชงให้บอร์ดใหญ่บีโอไอ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาในต้นปีหน้า ก่อนออกประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่รัฐบาลขับเคลื่อนแผนดังกล่าว ปรากฏว่ามีทั้งเสียงสนับสนุนและการตั้งข้อสังเกตจากบริษัทรถยนต์ว่า ประเทศไทยพร้อมแล้วหรือยังสำหรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า?

ในรายละเอียดคงมีเบื้องลึกเบื้องหลังอยู่พอสมควร ซึ่งค่ายรถยนต์ตระหนักดีแต่จากการโยนหินถามทางของรัฐบาลก็ทำให้เห็นท่าทีของค่ายรถยนต์ชัดเจนโดยเฉพาะบิ๊กทรีจากญี่ปุ่น เริ่มจาก “นิสสัน” ที่มีโปรดักต์ในมือคือ “ลีฟ” ยืนยันทำตามนโยบายรัฐบาลเพียงแต่ให้ประกาศเงื่อนไขอออกมาอย่างชัดเจนเท่านั้น

ส่วนอีกฝั่งนำโดย “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” ตั้งข้อสังเกตถึงข้อจำกัดของแบตเตอรี(i5วิ่งไม่ได้ไกล)และความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน (พลังงานไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า) ตลอดจนระบบการผลิตรถยนต์ เครื่องยนต์สันดาปภายใน ในปัจจุบันที่มีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก หากข้ามไปที่รถอีวีที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่า จะมีปัญหาเป็นลูกโซ่ตามมาแก่โรงงานและแรงงานกลุ่มดังกล่าว จึงเสนอให้รัฐบาลควรจะสนับสนุนรถยนต์ไฮบริดไปก่อน และค่อยๆขยับไปเป็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด และอีวีในลำดับถัดไป

....ถือเป็นประเด็นที่มองต่างกัน เพราะ(บาง)ค่ายรถยนต์มองว่า ความต้องการตลาดจะเป็นผู้กำหนดเทคโนโลยี แต่รัฐบาลมองว่าต้องเริ่มขยับในเชิงนโยบายก่อนเพื่อไม่ให้ตกขบวน

 2.รถยนต์ระดับหรูจัด“ปลั๊ก-อินไฮบริด”รับภาษีใหม่

หลังรถยนต์เริ่มใช้ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่คิดตามอัตราการปล่อยไอเสีย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 ค่ายรถยนต์แบรนด์หรูต่างเลือกวางขุมพลังที่ได้เปรียบและทำราคาได้ โดยเน้นดีเซลและปลั๊ก-อิน ไฮบริด (เบนซิน-มอเตอร์ไฟฟ้า) ในส่วน “บีเอ็มดับเบิลยู” มีโปรดักต์ X5 xDrive40e และ “ซีรีย์ 3” รุ่น 330e เป็นรุ่นบุกเบิก

ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีรถปลั๊ก-อินไฮบริดให้เลือกตั้งแต่ “ซี-คลาส” “เอส-คลาส” และเอสยูวีรุ่น “จีแอลอี” ซึ่งล้วนเป็นรุ่นประกอบในประเทศ ส่วนค่ายรถยนต์สวีเดน “วอลโว่” ยังทำราคาสุดเร้าใจ 4.49 ล้านบาท (เท่ากับราคา GLE 500 e 4MATIC Exclusive) ให้กับเอสยูวีรุ่นธง XC90 T8 Twin Engine ตัวที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียอีกด้วย ...

....เริ่มเห็นหน้าเห็นหลังสำหรับรถปลั๊กอินไฮบริด และเชื่อว่าจากนี้ไปทั้งค่ายยุโรปและญี่ปุ่นจะต้องเสริมทัพเทคโนโลยีดังกล่าว เข้ามาเป็นทางเลือกในตลาดมากขึ้น

 3.มหากาพย์ “ฟอร์ด เฟียสต้า”

ยังคงเป็นปัญหาที่ไร้ข้อสรุป หรือตกลงกันไม่ได้ระหว่างค่ายฟอร์ดกับลูกค้า(บางส่วน)ที่ออกมาเรียกร้องขอความรับผิดชอบเกี่ยวกับเกียร์พาวเวอร์ชิฟต์ในรุ่น “เฟียสต้า” จนก่อให้เกิดเป็นมหากาพย์เรื่องยาว และจนบัดนี้ยังไม่มีท่าทีว่าจะจบกันตอนไหน อย่างไรก็ตาม ทีมผู้บริหารฟอร์ดชี้แจงว่ามีการพูดคุยกับลูกค้าจำนวน 138 ราย พร้อมตกลงทางวาจาว่าจะดำเนินการติดต่อลูกค้าตามรายชื่อที่ลูกค้าได้มอบให้ฟอร์ดให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม 2560 แต่ก็ยังมีลูกค้าบางส่วนได้ปฏิเสธมาตรการดูแลลูกค้าที่ฟอร์ดมีให้ในปัจจุบัน

…เชื่อว่าเรื่องนี้ คงไม่จบกันง่ายๆ ต้องตามดูกันต่อไป

 4.“ออดี้-มาเซอร์ราติ”เปลี่ยนมือสู่กลุ่มล่ำซำ-ธรรมชวนวิริยะ

ถือเป็น “บิ๊กดีล” ของวงการยานยนต์เมื่อ 2 แบรนด์รถยนต์หรู “ออดี้” จากเยอรมนี และ “มาเซอร์ราติ”จากอิตาลี ต้องเปลี่ยนมือผู้ดูแลตลาดในไทย โดยเจ้าแรก“ไมซ์สเตอร์ เทคนิค” นำโดย “กฤษฎา ล่ำซำ” และ “นวลพรรณ ล่ำซำ” เป็นผู้ได้สิทธิ์นำเข้าและจัดจำหน่ายออดี้อย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยแทน“เยอรมัน มอเตอร์ เวิร์ค” ของตระกลู “ลีนุตพงษ์”

ส่วนแบรนด์หรูจากอิตาลี ที่“เอ็มไพร์ มอเตอร์ สปอร์ต”บริหารงานโดย “พรศริน เมธีวัชรานนท์” มีอันต้องส่งไม้ต่อให้ เอ็มจีซี-เอเชีย ของ “สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ” จัดการเพิ่ม “มาเซอร์ราติ” เข้าไปในพอร์ตรถยนต์หรูที่ตัวเองได้สิทธิ์ดูแลทั้ง โรลส์-รอยซ์ แอสตัน-มาร์ติน รวมถึงที่เป็นดีลเลอร์อย่าง บีเอ็มดับเบิลยู และมินิ คาดว่าจะเตรียมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการภายในต้นปีหน้า โดยวางตัว “ปิยะเทพ ศิวากาศ” เป็นแม่ทัพในการบริหาร

MP28-3222-B  5.เมอร์เซเดส-เบนซ์ฉลองผลิต 1 แสนคัน-ขยายโรงงาน2

ก่อนสิ้นแสงสุดท้ายปลายปี “เมอร์เซเดส-เบนซ์” จัดงานฉลองความสำเร็จผลิตรถยนต์ในไทยครบ 1 แสนคัน (ใช้เวลากว่า 30 ปี) พร้อมประกาศต่อสัญญาว่าจ้างธนบุรีประกอบรถยนต์ไปอีก 12 ปี ซึ่งภายใต้แผนงานนี้ นอกจากต้องปรับปรุงโรงงานเดิมแล้ว เจ้าพ่อรถหรูยังขยายการผลิตไปที่โรงงานใหม่ที่ปัจจุบัน ธนบุรีประกอบรถยนต์ทำการผลิตปิกอัพให้ “ทาทา มอเตอร์ส” จากอินเดีย แต่สัญญากำลังจะหมดลงในเดือนมีนาคมปี 2560 ส่งผลให้ภายในปีหน้า เมอร์เซเดส-เบนซ์ สามารถเพิ่มกำลังผลิตรถยนต์ได้จากโรงงานทั้ง 2 ของธนบุรีประกอบรถยนต์ จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยการประเมินว่าตลาดรถยนต์ระดับหรูสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559