27รายถอนตัวบอร์ดชี้ชะตาล้มประมูลยาง

28 ธ.ค. 2559 | 09:00 น.
ศาลปกครองกลางยื้อตัดสินให้การคุ้มครองชั่วคราวเบรก กยท.เทขายยางในสต๊อก ขณะวงการแหยงตกเป็นแพะเกษตรกรกล่าวหาเอื้อนายทุน แห่ถอนตัวร่วมประมูลเหลือแค่ 1 ราย ประเมินระบาย 3.1 แสนตันรัฐจะขาดทุน 4,000-5,000 ล้าน ระบุ 11 วันราคายางร่วง เกษตรกรสูญกว่า 800 ล้าน

นายเพิก เลิศวังพง ที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจำกัด (ชสยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการเตรียมเปิดประมูลระบายยางในสต็อกรัฐบาลของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ในล็อตแรก จำนวน 9.23 หมื่นตัน(จากยางในสต็อกทั้งหมดประมาณ 3.1 แสนตัน) โดยจะเปิดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 28 ธันวาคมว่า ยางจำนวนดังกล่าวมาจาก 2 โครงการได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เริ่มซื้อยางตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ขยายระยะเวลา 2 ครั้ง สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ซื้อยางแผ่นดิบรมควัน ก้อนถ้วย ลูกขุน จำนวน 212,846.5 ตัน มูลค่า 21,069.912 ล้านบาท ต้นทุนขาย เป็นยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 108.23 บาท ยางแท่ง STR 20 กิโลกรัมละ 102.99 บาท ขายแล้ว จำนวน 32,142.97 ตัน คงเหลือ 175,801.34 ตัน

2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางหรือบัฟเฟอร์ฟันด์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ขยายระยะเวลาสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2559 ซื้อยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแผ่นรมควันอัดก้อน ยางแท่ง STR 20 จำนวน 148,799.50 ตัน มูลค่า 8,889.296 ล้านบาท ต้นทุนขาย ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 63.69 บาท ยางแท่ง STR 20 กิโลกรัมละ 52.03 บาท ขายแล้ว จำนวน 5,460 ตัน คงเหลือ 142,728.69 ตัน

"จากการคำนวณต้นทุนยางโดยเฉลี่ย หักค่าเสื่อมสภาพยาง ราคายางทุกประเภทต้นทุนเฉลี่ยที่ 85 บาทต่อกิโลกรัม บวกค่าเช่า-ค่าบริหารยางเฉลี่ยปีละ 550 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี ขณะที่ กยท.ออกข่าวจะขายยางได้เฉลี่ย 72 บาทต่อกิโลกรัม หักลบแล้ว หากขายยางหมดสต๊อก 3.1 แสนตัน กยท.จะขาดทุน 4,000-5,000 ล้านบาท" นายเพิก กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า

ความต้องการยางพาราของโลกในเวลานี้มีมากกว่า 5 แสนตัน แต่ยางในสต็อกมีอยู่แค่ 3 แสนตัน ไม่เพียงพอกับความต้องการ เห็นได้จากเวลานี้มีพ่อค้าจีนจำนวนมากวิ่งเข้ามาขอซื้อยางในไทย อีกด้านหนึ่งผู้ค้ายางรายใหญ่ของไทยที่รู้จักในวงการ ก็เบี้ยวไม่ส่งมอบสินค้าให้ เพราะยางราคาแพงต้นทุนสูง เลยฉวยจังหวะใช้ กยท. เป็นเครื่องมือปล่อยข่าวเรื่อง กยท. เทสต๊อกยาง 3.1 แสนตัน หวังดึงให้ราคายางตก อีกด้านเจ้าหน้าที่ กยท. ก็เร่งให้เกษตรกรนำยางออกมาขาย บอกว่าราคายางจะตกต่ำ เพราะจะมีการขายยาง ทั้งที่ในล็อตแรกจะขายจริงเพียง 9.23 หมื่นตันเท่านั้น

ด้านนายสังเวิน ทวดห้อย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า หากมีผู้ประมูลเหลือเพียง 1-2 ราย จากจำนวน 28 ราย จะต้องให้มีการทบทวนเงื่อนไขการประมูลใหม่ เพราะความจริงในตอนแรกที่ให้มีการเปิดประมูลขายแบบอิเล็กทรอนิกส์ คิดว่าผู้ว่าการยางฯ จะทยอยขายทีละโกดังเท่านั้น แต่พอมาปรับเงื่อนไขใหม่โดยจะเปิดประมูล 5-6 โกดังประมูลพร้อมกัน การที่จะหาเงินมาวางค้ำประกันจำนวนมาก มองว่ารายเล็กหมดโอกาส

สอดคล้องกับนายภาคภูมิ วงศ์วิไล กรรมการผู้จัดการบริษัท ภูมิภาคยางพารา จำกัด หนึ่งในผู้เตรียมเข้าประมูลยาง กล่าวว่า ไม่ได้เดินทางไปดูสภาพยางใน 6 โกดังเลย เนื่องจากทางบริษัทเตรียมตัวไม่ทัน เพราะ 1 โกดังต้องวางค้ำประกัน 5% อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท หลังจากนั้นอีก 5 วันจะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าซึ่งต่อ 1 โกดังจะต้องใช้เงินเป็นพันล้านบาท อย่างไรก็ดี ราคาประมูลที่ กยท.ตั้งในการซื้อขายเป็นราคาที่สูง มองในแง่ดีคือ ผู้ว่าฯ ไม่โดนตรวจสอบ แต่ก็เป็นห่วงว่า ถ้าครั้งนี้ไม่มีคนประมูล ก็จะกลายเป็นข้ออ้างหรือเงื่อนไขที่ กยท.มาใช้ในการขายดัมพ์ราคาในภายหลังได้

ขณะที่นายชัยพจน์ เรืองวรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย กล่าวว่า การขายยางในครั้งนี้ ของ กยท. เป็นราคาที่ค่อนข้างสูงมาก โอกาสที่ใครได้ไปจะมาบิดเบือนหรือมาทุ่มราคาตลาดให้ราคายางตกเป็นไปได้ยาก

แหล่งข่าวจาก 1 ใน 28 รายที่เตรียมเข้าประมูลในครั้งแรก เผยว่า ล่าสุดได้ยกเลิกที่จะเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เพราะไม่อยากตกเป็นแพะ เนื่องจากมีเกษตรกรข้อหากล่าวว่า การระบายยางในครั้งนี้เอื้อนายทุนหรือเอื้อรายใหญ่ จึงขอที่จะไม่เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้ อย่างไรก็ดีเห็นด้วยกับเกษตรกรที่อยากให้กยท.ขายยางในสต็อกช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม(ช่วงปิดกรีดยาง) เชื่อว่าราคายางที่จะระบายสต็อก 3.1 แสนตันจะได้ราคาสูงกว่านี้

ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า จากที่ สยยท.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 เพื่อให้เปิดไต่สวนฉุกเฉินและพิจารณาให้การคุ้มครองชั่วคราว และมีคำสั่งให้กยท.ชะลอการขายยางออกไปอีกประมาณ 3 เดือน หลังราคายางในประเทศได้ตกต่ำลง

ขณะที่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้เปิดไต่สวนเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 27 ธันวาคม 2559 โดย ณ เวลา 17.30 น.ก็ยังไม่มีคำตัดสินออกมาว่าจะมีคำสั่งให้ กยท.ชะลอการเปิดประมูลระบายยางหรือไม่

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ กยท.ได้ประกาศจะมีการะบายยางตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 จากราคาประมูลยางแผ่นดิบรมควันชั้น 3 ในตลาดกลางอยูที่ 80.29 บาทต่อกิโลกรัม ล่าสุด ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2559 ราคาลดลงเหลือ 72.75 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรสูญเสียรายได้ประมาณ 800 ล้านบาทเทียบกับค่าเช่าโกดังเก็บยางของ กยท.วันละ 1 ล้าน รวม 11 ล้านบาท ตั้งคำถามใครสูญเสียมากกว่ากัน

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวยอมรับว่าขณะนี้มีผู้สนใจจะเข้าร่วมประมูลซื้อขายยางจริงเพียง 1 ราย ซึ่งได้มาวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 5% ของมูลค่าทรัพย์แต่ละรายการแล้ว จะได้ส่งเรื่องให้ทางคณะกรรมการพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยยึดกฎหมายเป็นหลัก ส่วนคำสั่งศาลปกครอง (เวลา 17.30 น.) ยังไม่ได้ตัดสิน หากชี้ขาดไปทิศทางใดทาง กยท.พร้อมที่จะปฏิบัติตาม และยืนยันว่าการประมูลครั้งนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และเป็นไปตามเงื่อนไขกรอบระยะเวลาที่ได้วางไว้

ส่วนนายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง กยท. กล่าวว่า รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่มีผู้แอบอ้างเป็นตัวแทนเกษตรกรที่ออกมากดดันรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้เกิดผลกระทบกับเกษตรกรตัวจริง เพราะทางกลุ่มเห็นด้วยที่รัฐบาลระบายยางในครั้งนี้ เพราะยางกำลังขาขึ้น แต่ถ้าระบายช่วงยางขาลง จะเป็นการซ้ำเติมราคายาง อีกทั้งการเก็บสต็อกยางไว้เป็นเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,222 วันที่ 29 - 31 ธันวาคม 2559