เกษตรแปรรูปอีสานพุ่ง บีโอไอส่งเสริม 6 โครงการ ยอดลงทุน 2 พันล้าน

27 ธ.ค. 2559 | 07:00 น.
บีโอไออีสานบนชี้กิจการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปพุ่งแรง ได้รับอนุมัติส่งเสริมจำนวน 6 โครงการ เงินลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท เผยยังมีกิจการปศุสัตว์ กิจการปลูกป่า แถมให้การส่งเสริมการลงทุนสินค้าโอท็อปตามนโยบายของรัฐบาล

นายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 3 จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ภาวะส่งเสริมการลงทุนไตรมาส3 ของปี 2559 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ภาค 3 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวน 14 โครงการ เงินลงทุน 2,501 ล้านบาท มีการจ้างงาน 865 คน

โครงการการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ประกอบด้วย กิจการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร ปศุสัตว์ได้รับการส่งเสริมมากสุด จำนวน 6 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวมสูงสุดในไตรมาสนี้ 1,868 ล้านบาท ตั้งอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ 2 โครงการ จังหวัดสกลนคร,มุกดาหารขอนแก่น และอุดรธานี จังหวัดละ 1 โครงการ

กิจการที่ได้รับอนุมัติอันดับ 2 ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 3 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 8 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดขอนแก่น กิจการที่ได้รับอนุมัติอันดับ 3 ได้แก่ กิจการเคมีภัณฑ์กระดาษ และพลาสติก จำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 310 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดหนองคาย และมุกดาหาร ะกิจการบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 2 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 18 ล้านบาท ตั้งโครงการในจังหวัดร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ และกิจการแร่เซรามิก 2 โครงการ เงินลงทุน 297 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภูและบึงกาฬ

การลงทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติขนาดใหญ่ มีขนาดการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท คือ โครงการผลิตสุกรขุน จำนวน 1.2 แสนตัว เงินลงทุน 1,060 ล้านบาท ของบริษัท เบทาโกรฯ ตั้งโครงการในจังหวัดกาฬสินธุ์ โครงการนี้มีการขยายพันธุ์และเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย และยังเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตอาหารจากเนื้อสุกร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเช่าฟาร์มสุกรขุนในจังหวัดกาฬสินธุ์ 5 แห่ง และจังหวัดร้อยเอ็ด 5 แห่ง ที่สำคัญโครงการนี้จะนำเครื่องหมักย่อยสลายซากสุกร (BIOVATOR) มาใช้ในการกำจัดซากสุกรที่ตายระหว่างการเลี้ยงและย่อยสลายซากด้วยจุลินทรีย์ แทนการเผาและฝังกลบ ซึ่งจะได้วัสดุอินทรีย์ใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ต่อไป เป็นการนำเทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในโครงการ

นอกจากนี้มีนักลงทุนท้องถิ่นสนใจยื่นขอรับการส่งเสริมในกิจการศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนจำนวน 2 โครงการ จะตั้งใน โอท็อป ช็อป (Otop Shop) จังหวัดร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์ โครงการนี้จะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนท้องถิ่น(Local Investment) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี สำหรับมาตรการนี้จะสิ้นสุดให้การส่งเสริมภายในปี 2559

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากนักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่น เศรษฐกิจไทยยังต้องพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศ การใช้จ่ายของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคที่ชะลอตัว มีแต่แรงกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีการใช้จ่ายหลายโครงการเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในช่วงเวลานี้ ส่วนภาคการส่งออกยังติดลบ ด้วยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักในฝั่งยุโรป ญี่ปุ่นและจีนชะลอตัว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,221 วันที่ 25-28 ธันวาคม 2559