รถไฟฟ้าสายสีเขียว แบริ่ง-สมุทรปราการสะดุด เคลียร์หนี้กทม.-รฟม.ยังวุ่น

11 ธ.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้แม้ว่างานการก่อสร้างทั้งส่วนต่อขยายโซนใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการที่กลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) รับดำเนินการจะคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม เช่นเดียวกับส่วนต่อขยายโซนเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่กลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) อยู่ระหว่างเริ่มก่อสร้าง โดยเฉพาะการเร่งรัดในบริเวณพื้นที่ตั้งแต่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวไปถึงวงเวียนหลักสี่ที่ถือว่าการจราจรหนาแน่นจึงเริ่มดำเนินการก่อน เพื่อให้เปิดบริการช่วงสถานีหมอชิตไปยังสถานีเซ็นทรัลลาดพร้าวในธันวาคมปี 2560

แต่ที่ลุ้นกันมาตลอดว่าจะทดลองเดินรถจากสถานีแบริ่ง-สถานีสำโรง ระยะ 1 สถานีในวันที่ 5 ธันวาคม 2559 นี้ก็กลายเป็นฝันสลายไปแล้ว คงจะไปลุ้นกันอีกทีในวันที่ 1 มีนาคม 2560 กับการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีแบริ่ง-สถานีสำโรง

ปมปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในครั้งนี้เป็นเพราะการเคลียร์ปัญหาระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)กับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ยังไม่ลงตัวต่อกรณีภาระหนี้ที่รวมทั้ง 2 ช่วงคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกทม.ก็ออกมาแสดงชัดเจนว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เพราะไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนเนื่องจากมหาศาลจริงๆ อีกทั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ออกมาแสดงความชัดเจนว่าหาก กทม.ไม่จ่ายก็พร้อมจะดึงเรื่องคืนมาให้ รฟม.ดำเนินการเอง โดยจะว่าจ้างให้บีทีเอสเดินรถ

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2559 กระทรวงคมนาคมได้ประชุมคณะกรรมการประเมินมูลค่าหนี้สินและทรัพย์สิน พร้อมพิจารณากำหนดขั้นตอนการโอนหนี้สินและทรัพย์สินระหว่างกันก่อนที่จะเร่งโอนให้กทม.รับไปดำเนินการ

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอเรื่องให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) พิจารณา (ตามมติ คจร. ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559) ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา เมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการโอนโครงการ กทม. ชำระเงินค่าเวนคืนให้ รฟม. 3,412 ล้านบาท ส่วน รฟม. ดำเนินการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการเวนคืนที่ดิน รวมทั้งส่งมอบผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ กทม. ส่วน รฟม. ดำเนินการตามกระบวนการของระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อส่งเงินคืนให้รัฐต่อไป

ปัจจุบันงานโยธาในเส้นทางนี้ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2555 เสร็จเกือบ 100% ส่วนงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถ คณะกรรมการประสานการเดินรถประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ซึ่งมีแผนเปิดให้บริการในปี 2561 โดยระยะแรกจะเร่งเปิดให้บริการช่วงสถานีแบริ่ง-สถานีสำโรงในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ในส่วนช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต งานโยธาเริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ผลการดำเนินการคืบหน้าแล้วกว่า 15.38% เร็วกว่าแผน 3.05% งานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถรอผลการเจรจาส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ โดยแผนการเปิดให้บริการในปี 2562

โดยแนวเส้นทางช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ โครงสร้างแบบยกระดับตลอดเส้นทาง ระยะทาง 13 กิโลเมตร เริ่มต้นต่อเนื่องจาก BTS ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ตอนที่ 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง บริเวณซอยสุขุมวิท 107 (แบริ่ง) ไปตามแนวเกาะกลางของถนนสุขุมวิท ผ่านคลองสำโรง ผ่านแยกเทพารักษ์ แยกปู่เจ้าสมิงพราย จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณหน้าสถานีไฟฟ้าย่อยบางปิ้ง ส่วนช่วงหมอชิต-คูคต โครงสร้างทางวิ่งยกระดับ จำนวน 16 สถานี ระยะทาง 19 กิโลเมตร แนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจาก BTS ที่สถานีหมอชิต ข้ามดอนเมืองโทลล์เวย์บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานีคูคต ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารจอดรถ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 8 - 10 ธันวาคม 2559