แรงงานขาดวิศวกรปีละ2หมื่นราย แนะเร่งผลิตรับยุคไทยแลนด์4.0

06 ธ.ค. 2559 | 07:00 น.
สถาบันการศึกษาไทย ผลิตบัณฑิตวิศวกรไม่ทันป้อนตลาดแรงงาน ยังขาดแคลนปีละ 2 หมื่นราย เหตุไทยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ม.เทคโนโยยีมหานคร เดินหน้าแจก 80 ทุนเรียนฟรี พร้อมแนะเร่งพัฒนาระบบการศึกษาแบบ 2 ภาษา เพิ่มศักยภาพบัณฑิตไทย

นายภานวีย์ โภไคยอุดม รองอธิการบดี ฝ่ายนโยบายและแผน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการ วิศวกรเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานปีละกว่า 5 หมื่นรายต่อปี แต่ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถผลิตบุคลากรออกมารองรับได้เพียง 60% หรือประมาณ 3 หมื่นรายต่อปี โดยวิศวกรสาขาที่มีความต้องการมากที่สุด 3 สาขา ได้แก่ 1.สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2.สาขาวิศวกรรมโยธา และ 3.สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์

ทั้งนี้ เป็นผลจากอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความได้เปรียบและโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก ทำให้การพัฒนาบุคลากรในกลุ่มสายงานวิศวกร ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งพื้นฐานสำหรับทุกอุตสาหกรรมที่จะขาดไม่ได้ และต้องอาศัยทักษะและความชำนาญเฉพาะด้านมาเป็นผู้ควบคุมดูแล กลายเป็นตำแหน่งที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดปัจจุบันเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ นโยบายภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0 รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรสาขาวิศวกรรมจำเป็นต้องผสมผสานแนวคิดทั้งด้านวิทยาศาสตร์และศิลปะ ประกอบกับคำนึงถึงนวัตกรรมสมัยใหม่ที่จะต้องนำมาประยุกต์เข้ากับบทเรียน เนื้อหา เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล สถาบันการศึกษาหลายแห่งต่างเร่งพัฒนาหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ออกมารองรับกับความต้องการของตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น

นายภานวีย์ กล่าวอีกว่า ปัญหาสำคัญของการพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรม สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนแรก คือ ระบบการเรียนการสอน ที่มักจะเน้นแต่การท่องจำหรือทฤษฎี ขาดการส่งเสริมให้ฝึกปฏิบัติหรือทดลอง รวมทั้งขาดการบูรณาการณ์ด้านการเรียนและการสอน และส่วนที่สอง คือ การพัฒนาทักษะด้านภาษา เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิตอล ทำให้พรมแดนของการดำเนินธุรกิจและการสื่อสารนั้นไม่เหลือช่องว่างอีกแล้ว จำเป็นต้องพัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยให้ความสำคัญทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียน สถาบันการศึกษาจึงจำเป็นต้องพัฒนาหลักสูตรและเนื้อหา ให้สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้บุคลากรแข่งขันได้ในตลาดสากล

สำหรับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ได้เร่งพัฒนาหลักสูตร และรูปแบบการเรียนการสอน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยได้มีความมือร่วมกับ The University of Sheffield 1ใน 10 มหาวิทยาลัยของประเทศอังกฤษ ได้ออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นในรูปแบบสองภาษา เพื่อให้นักศึกษารุ่นใหม่ได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ทันสมัยจากการเรียนตามมาตรฐานของอังกฤษและประเทศไทย ขณะเดียวกัน ก็เปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย สมัครเข้ารับทุนการศึกษา ฟรี ในหลักสูตรสองภาษานี้ จำนวนมากถึง 80 ทุนการศึกษา ใน 4 สาขาวิชาด้านวิศวกรรม ได้แก่ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมเครื่องกลและยานยนต์ สาขาวิศวกรรมเคมี ซึ่งมีกำหนดปิดรับสมัครสิ้นปีนี้

"ความพยายามในการพัฒนาหลักสูตรและการมอบโอกาสดีโดยเฉพาะทุนการศึกษา ฟรี เช่นนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการช่วยจัดการปัญหาขาดแคลนวิศวกรได้เป็นอย่างดี แต่คงต้องร่วมกันพัฒนาในหลายภาคส่วนไปด้วยพร้อมกัน" นายภานวีย์ กล่าวในตอนท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559