‘ซิป้า’จัดระเบียบซอฟต์แวร์ไทย เปิดขึ้นทะเบียนรับรอง-เอทีเอสไอยกมือเชียร์เป็นผลดีอุตฯ

29 พ.ย. 2559 | 06:00 น.
ซิป้า จัดระเบียบผู้ประกอบการซอฟต์แวร์-ดิจิตอลคอนเทนต์ไทยเผย 8 เดือนยอดขึ้นทะเบียนและรับรองแล้ว 200 ราย หวังสร้างความน่าเชื่อถือสินค้าและบริการ เป็นฐานข้อมูลให้องค์กร-ผู้ใช้ตรวจสอบ ด้านเอทีเอสไอ เชื่อเป็นผลดีอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า เปิดเผยว่าจากการที่ซิป้าได้ดำเนินโครงการขึ้นทะเบียนและรับรองผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิตอลคอนเท้นต์ไทย” เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการให้ได้รับการยอมรับ และมั่นใจในการใช้ซอฟต์แวร์ไทย มาเป็นระยะเวลา 8 เดือน มีผู้ประกอบการให้ความสนใจและตอบรับจากผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการฯ 200 ราย ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปีแรก “โครงการดังกล่าวจะทำให้บริษัทต่างๆหรือองค์กรธุรกิจที่ต้องการจะเลือกซื้อซอฟต์แวร์สามารถค้นหา ตรวจสอบ ผู้ให้บริการ จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้สะดวกมีข้อมูลครบถ้วน และตรงกับความต้องการของบริษัทหรือผู้ใช้งานอีกด้วย”

ด้านนายมีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือซิป้า กล่าวว่า โครงการขึ้นทะเบียนและรับรองผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย จัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการซอฟต์แวร์ เพื่อให้องค์กรธุรกิจและประชาชนที่ความสนใจหรือกำลังมองหาซอฟต์แวร์เพื่อไปใช้งานมีข้อมูลในการตัดสินใจและยังเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และยังเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือภายในกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งยังช่วยขยายฐานตลาดภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยไปสู่การแข่งขันในตลาดโลก

สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการฯ ในปีต่อไป ซิป้ามุ่งหวังขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 200 รายและมีการอัพเดทข้อมูลใหม่ตลอดเวลา เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐาน พร้อมผลักดันสู่การส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทซอฟต์แวร์ไทยหลายแห่งมีลูกค้าจากต่างประเทศให้การยอมรับและเลือกใช้งานเป็นจำนวนมาก โดยจากผลสำรวจมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2558 ของไทยมีมูลค่า 3,330 ล้านบาท เติบโต 0.3% ขณะที่การนำเข้าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมีมูลค่า 32,944 ล้านบาท ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบเท่านำเข้ายังแตกต่าง หากซอฟต์แวร์ไทยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริม มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุเพิ่มเติมว่าในปี 2559 มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเติบโตราว 4.4% ด้วยมูลค่า 54,893 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 คาดว่าจะมีการเติบโต 4.3% ด้วยมูลค่า 57,257 ล้านบาท ทั้งนี้ซิป้ามีเป้าหมายที่จะส่งเสริมศักยภาพทั้งด้านบุคลากร การทำตลาด รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ รวมทั้งองค์กรที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจและขยายให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

ด้านนายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่เอทีเอสไอ ได้พยายามผลักดันให้ซิป้า มีการจดทะเบียนรับรองผู้ปะกอบการซอฟต์แวร์มาเป็นเวลา 8-9 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาซิป้ามุ่งไปยังการรับรองมาตรฐานซอฟต์แวร์ ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามการที่ซิป้า เริ่มต้นเปิดให้ผู้ประกอบซฮฟต์แวร์มีการจดทะเบียน และรับรอง ถือผลดีต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ นอกจากจะเป็นการฐานข้อมูลผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์และบริการซอฟต์แวร์แล้ว ยังเป็นช่องทางให้ซอฟต์แวร์ไทยขยายตลาดไปยังหน่วยงานภาครัฐ โดยระยะยาวมองว่าหากมีการใช้ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น ก็จะแสดงให้เห็นประสิทธิภาพของประเทศ ขณะเดียวกันมองว่าหากหน่วยงานภาครัฐมีการใช้ซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงข้อมูล ก็จะช่วยลดปัญหาการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,213 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน 2559