ร.ฟ.ท.ปั้นโรดแมปบริหารที่ดินกว่า 100 แปลง

02 พ.ย. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ร.ฟ.ท.เดินหน้าจัดทำโรดแมปแผนยุทธศาสตร์บริหารทรัพย์สินปี 60-62 ทั้ง 2.3 แสนไร่ ชี้มีหลักหมื่นสัญญาแบ่งแยกชัดเจนทั้งแปลงเล็ก-กลาง -ใหญ่ ทั้งรูปแบบการร่วมลงทุนพีพีพีครอบคลุมทั่วประเทศ ก่อนกำหนดแผนบริหารจัดการสัญญาแต่ละเกรดได้อย่างสอดคล้อง จับตาแปลงใหญ่กว่า 100 สัญญายังฮอตมีลุ้นแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ส่วนรายกลางยังมีอีกเพียบ

นางสิริมา หิรัญเจริญเวช รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมจัดทำโรดแมปแผนยุทธศาสตร์การบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะ 3 ปี ( 2560-2562) เพื่อให้แนวทางการขับเคลื่อนโครงการต่างๆของแต่ละสัญญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับนโยบายของผู้บริหารระดับสูงทั้งกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลที่ต้องการให้แผนการจัดหารายได้ของร.ฟ.ท.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทิศทางที่ชัดเจน ตรวจสอบได้จริงๆ

โดยแผนเบื้องต้นของการบริหารทรัพย์สินจะมีขั้นตอนการตรวจสอบพื้นที่และแบบอาคาร งานคิดผลตอบแทนและดำเนินการให้เช่า และงานการต่อสัญญาเช่า คิดเป็นระยะช่วงเวลา 3 เดือนได้ประมาณ 1,000 สัญญา ส่วนแผนเบื้องต้นของการต่อสัญญาฝ่ายการเดินรถทั้ง 5 เขต แบ่งออกเป็นเขต 1 จะมีประมาณ 179 สัญญา เขต 2 จำนวน 3,752 สัญญา เขต 3 จำนวน 200 สัญญา เขต 4 จำนวน 761 สัญญา และเขต 5 จำนวน 267 สัญญา ดังนั้นหากรวมระยะเวลาทั้ง 3 เดือนที่สามารถต่อสัญญาได้ตามเป้าแล้วคาดว่าจะทำได้ไม่น้อยกว่า 3,922 สัญญา

ทั้งนี้หากคิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 234,976 ไร่(มูลค่าประเมินที่ดินรวมเมื่อปี 2553 จำนวน 3.7 แสนล้านบาท) ทั้งพื้นที่เขตทางจำนวน 189,586 ไร่ พื้นที่ย่านสถานี(วางราง) 5,333 ไร่ และพื้นที่บ้านพัก/ที่ทำการอีกจำนวน 3,755 ไร่ นอกจากนั้นยังมีพื้นที่อื่นๆที่ไม่ใช่การเดินรถอีก 36,302 ไร่ กระจายอยู่ในแต่ละภาคของประเทศ แต่หากนับจำนวนสัญญาจะอยู่ในระดับหลักหมื่นสัญญาเท่านั้น โดยสัญญาที่เป็นแปลงขนาดใหญ่มีจำนวนในระดับหลัก 100 สัญญาเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นทั้งระดับกลางและระดับเล็กที่มีจำนวนนับหมื่นสัญญา แต่ยังไม่รวมในส่วนที่ดินที่มีผู้บุกรุกซึ่งอยู่ระหว่างการเข้าไปสำรวจและจัดทำแผนบริหารจัดการต่อไป

“โดยตามแผนจะดำเนินการจัดทำให้ครอบคลุมที่ดินทุกแปลงทั่วประเทศ ทั้งแปลงขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังจะจำแนกออกมาเป็นแปลงที่จะนำเข้าสู่รูปแบบการร่วมลงทุนตามนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(พีพีพี) และส่วนที่ร.ฟ.ท.จะลงทุนเอง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถดูแลสัญญาแต่ละระดับทั้งเกรด A เกรด B และเกรด C ได้อย่างเหมาะสม โดยจะเสนอเป็นยุทธศาสตร์ให้ผู้บริหารร.ฟ.ท.พิจารณาเสนอกระทรวงคมนาคมและรัฐบาลเห็นชอบต่อไป”

นางสิริมา กล่าวอีกว่าปัจจุบันที่ดินของร.ฟ.ท.ได้แยกตามประเภทการใช้งานได้กระจายอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล ประกอบไปด้วย 1.ย่านถนนพระราม 3-ช่องนนทรีได้แก่ สถานีแม่น้ำขนาด 260 ไร่ 2.ย่านกม.11 พื้นที่กม.11 ขนาด 359 ไร่ 3.ย่านมักกะสัน ได้แก่ โรงงานมักกะสันขนาด 745 ไร่ 4.ย่านพหลโยธินและสถานีกลางบางซื่อ ขนาด 2,300 ไร่ และ 5.ย่านรัชดาภิเษก-พระรามเก้า ขนาด 104 แปลง

ทางด้านมูลค่าของที่ดินแต่ละแปลงนั้นจำแนกเป็นพื้นที่แต่ละภาคที่ได้รับการประเมินในปี 2553 รวมกว่า 7.8 หมื่นล้านบาท ประกอบไปด้วยที่ดินเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มูลค่ากว่า 8,513 ล้านบาท สายภาคเหนือ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท สายตะวันออก มูลค่ากว่า 7,532 ล้านบาท สายตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่ากว่า 9,817 ล้านบาท และสายใต้มูลค่ากว่า 1,604 ล้านบาท

ทั้งนี้ปัจจุบันฝ่ายบริหารทรัพย์สินมีทั้งสัญญาของฝ่ายบริหารทรัพย์สินและสัญญาของฝ่ายการเดินรถ จำแนกเป็นสัญญาปัจจุบันของฝ่ายบริหารทรัพย์สินจำนวน 4,988 สัญญา โดยส่วนที่ต่อสัญญาเรียบร้อยแล้ว 2,490 สัญญา มีสัญญาที่อยู่ระหว่างการต่อสัญญาอีกจำนวน 2,498 สัญญา สำหรับสัญญาของฝ่ายการเดินรถจำนวน 8,540 สัญญา โดยส่วนที่ต่อสัญญาเรียบร้อยแล้วจำนวน 879 สัญญา และที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสัญญา จำนวน 7,661 สัญญา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,205 วันที่ 30 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2559