ลูก กฟผ.ซื้อเหมืองอินโดนีเซีย ส่งป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน6แห่ง

28 ต.ค. 2559 | 03:00 น.
ครม.ไฟเขียวกฟผ.อินเตอร์ฯซื้อหุ้นเหมืองถ่านหินอินโดนีเซีย 11-12% มูลค่า 1.17 หมื่นล้านบาท เสริมความมั่นคงระบบเชื้อเพลิงถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้า 6 โรงในอนาคต ยันการลงทุนครั้งนี้ไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าในประเทศ แต่ช่วยให้บริษัทลูกกฟผ.มีรายได้เพิ่มขึ้น

นายวัชรา เหมรัชตานันต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าซื้อหุ้นของบริษัท Adaro Indonesia (AI) สัดส่วน 11-12% มูลค่าราว 1.17 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจในเหมืองถ่านหิน ตั้งอยู่ในเกาะกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย โดยให้ กฟผ.อินเตอร์ฯ ได้รับอนุมัติงบประมาณ เพื่อลงทุนตามแผนการประมาณการเบิกจ่าย พร้อมทั้งให้ กฟผ. เพิ่มทุนให้กฟผ.อินเตอร์ฯ เพื่อลงทุนดังกล่าวด้วย

สำหรับการลงทุนซื้อเหมืองถ่านหินดังกล่าว เป็นแผนงานในแนวทางการแก้ปัญหาการขาดทุนจากการดำเนินงานของ กฟผ.อินเตอร์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจะสามารถสร้างผลตอบแทนหรือรับรู้รายได้ให้กับกฟผ.อินเตอร์ฯ ที่ลงทุนทันที เนื่องจากเหมืองดังกล่าวเปิดดำเนินการอยู่แล้ว มีปริมาณสำรองมาถึง 900 ล้านตัน โดยปัจจุบันขุดถ่านหินส่งขายทั่วโลกได้ปีละ 50 ล้านตัน

นอกจากนี้ กฟผ.มีนโยบายแสวงหาเหมืองถ่านหิน เพื่อเป็นแหล่งสำรองสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ในอนาคต รวมทั้งหมด 6 โรง โดยมีความต้องการใช้ถ่านหินประมาณ 600 ล้านตัน ในระยะเวลา 30 ปี รวมทั้งยังป้อนให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ที่กฟผ.อินเตอร์ฯได้ไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ที่คาดว่าจะก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าได้ในอีก 5-6 ปีข้างหน้า และยังเปิดโอกาสการลงทุนสำหรับโครงการอื่นๆ ในอินโดนีเซียด้วย

สำหรับการลงทุนและเพิ่มทุนในการซื้อหุ้นบริษัทเหมืองถ่านหินดังกล่าว ในส่วนของเงินลงทุนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 จ่ายปี 2559 จำนวน 164 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5,900 ล้านบาท และส่วนที่ 2 จ่ายปี 2565-2570 เมื่อบริษัท AI ได้รับการต่ออายุ Coal Contract of Work (CCOW) ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และได้รับชำระหนี้จากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5,800 ล้านบาท
โดยแหล่งที่มาของเงินทุน มาจากการเพิ่มทุนของ กฟผ.(ส่วนเงินรายได้) ภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 1.7 หมื่นล้านบาท (บริษัทได้ขอเบิกจ่ายไปแล้ว 5,700 ล้านบาท ยังคงเหลืออีกประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาท) และบางส่วนจากเงินปันผลที่จะได้จากการลงทุน

นายวัชรา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้พิจารณาการลงทุนและการเพิ่มทุนสำหรับซื้อหุ้นดังกล่าวแล้ว และมีความเห็นว่าไม่มีผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง และมีความเห็นเพิ่มเติมให้ กกพ.กำกับติดตามการดำเนินการตามแผนการบริหารความเสี่ยงของ กฟผ.อินเตอร์ฯ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ราคาถ่านหินไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ และมีการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินระหว่าง กฟผ. กับโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. โดยกำหนดค่าความสิ้นเปลืองเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าในลักษณะเดียวกันกับโครงการโรงไฟฟ้าของเอกชนด้วย

สำหรับการบริหารความเสี่ยงของ กฟผ.อินเตอร์ฯ ซึ่งพบว่าบริษัท AI มีเหมืองผลิตถ่านหินหลัก 3 แหล่ง ซึ่งแต่ละแห่งถ่านหินจะมีค่าความร้อนแตกต่างกัน โดยบริษัทจะมีสิทธิในการซื้อถ่านหินจากเหมือง Tutupan ซึ่งเป็นเหมืองหลักและมีกำลังการผลิตมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี ส่วนแหล่งถ่านหินในพื้นที่ Red Zone บริษัท AI ทำสัญญาตกลงร่วมกันในการใช้ที่ดินกับ PT Pertamina โดยให้บริษัท AI สามารถทำเหมืองได้ในพื้นที่ทับซ้อน และจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้น และที่ปรึกษาด้านเทคนิคเห็นว่าปริมาณถ่านหินที่สามารถทำได้ใน Red Zone มีจำนวนประมาณ 378 ล้านตัน
Photo : Pixabay ภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559