กรุงไทยลุยลูกค้าขรก./เพย์โรล รับสินเชื่อครึ่งปีแรกพลาดเป้าโตแค่ 2%

27 ต.ค. 2559 | 07:00 น.
แบงก์กรุงไทย รับสินเชื่อบุคคลพลาดเป้า ชี้ยอด 6 เดือนแรกขยายตัวได้ 2.06% หรือ 6,500 ล้าน จากเป้าทั้งปีอยู่ที่ 1.63 หมื่นล้าน ยอดคงค้างแตะ 3.22 แสนล้าน เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว/หนี้ครัวเรือนยังไต่ระดับ แถมแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ เผยไตรมาส 4 เตรียมปรับกลยุทธ์มุ่งเจาะลูกค้าข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ เพย์โรล กระทุ้งยอด เน้นเสี่ยงต่ำ

[caption id="attachment_108934" align="aligncenter" width="335"] ลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.)[/caption]

นายลือชัย ชัยปริญญา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภาพรวมการให้บริการสินเชื่อบุคคล ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2559 ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อบุคคลรวมทั้งสิ้น 3.22 แสนล้านบาท (ไม่รวมสินเชื่อกรุงไทยเพิ่มสุขและ Home For Cash) โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อบุคคลสำหรับปี 2559 ไว้ที่ 1.63 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 6,519 ล้านบาท คิดเป็นการเติบโต ที่ 2.06% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558
คาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายยอดสินเชื่อบุคคลของธนาคารจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3,100 ล้านบาท ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตั้งแต่ช่วงต้นปีเป็นต้นมา และหนี้เสียภาคครัวเรือนทยอยเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับได้มีการปรับปรุงกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคาร ส่งผลให้ยอดการปล่อยสินเชื่อในปี 2559 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ กลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าสินเชื่อบุคคลมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าภาครัฐ ได้แก่ พนักงานราชการ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2.กลุ่มพนักงานเอกชน และ 3.กลุ่มลูกค้าทั่วไป ซึ่งธนาคารมีผลิตภัณฑ์สำหรับให้บริการรองรับทุกกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยกลุ่มลูกค้าภาครัฐ จะให้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์ ซึ่งเป็นวงเงินกู้ระยะยาว โดยธนาคารให้บริการทั้งกรณีที่หน่วยงานต้นสังกัดมีบันทึกข้อตกลงเป็นสินเชื่อสวัสดิการกับธนาคาร (MOU) และหน่วยงานต้นสังกัดไม่มีบันทึกข้อตกลงกับธนาคาร โดยให้วงเงินกู้ สูงสุด 5 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ซึ่งเป็นวงเงินสำรองพร้อมใช้ฉุกเฉินตามความจำเป็น โดยเป็น วงเงินหมุนเวียน ไม่ใช้ไม่เสียดอกเบี้ย ให้วงเงินกู้ 10-12 เท่าของเงินรายได้ ซึ่งสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏให้บริการกับลูกค้าที่มีการผ่านบัญชีเงินเดือนกับธนาคารเท่านั้น (Payroll)โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาธนาคารจัดแคมเปญลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่มียอดการใช้วงเงินตามที่กำหนด ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี โดยมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 921 ล้านบาท สร้างรายได้ดอกเบี้ยรับให้กับธนาคาร 165.13 ล้านบาท ทั้งนี้ แคมเปญจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมนี้

ขณะที่กลุ่มข้าราชการ และลูกจ้างประจำที่เกษียณอายุและรับบำนาญหรือบำเหน็จรายเดือนจาก กรมบัญชีกลาง ธนาคารได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์ โดยใช้ บำเหน็จตกทอดค้ำประกัน ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ ธนาคารมียอดการปล่อยสินเชื่อกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผู้นำอันดับ 1 ในการปล่อยสินเชื่อโครงการดังกล่าว

ส่วนกลุ่มพนักงานเอกชนที่มี Payroll กับธนาคาร ให้บริการสินเชื่ออเนกประสงค์และสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ 5 Plus ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มความคล่องตัวให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ง่ายขึ้น โดยให้วงเงินกู้ 5 เท่าของเงินรายได้ สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการ 881 ราย ยอดสินเชื่อ 57.77 ล้านบาท ตั้งแต่เริ่มผลิตภัณฑ์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 และกลุ่มลูกค้าทั่วไป ประกอบด้วยผู้ที่มีรายได้ประจำที่ไม่มี Payroll กับธนาคาร และผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย จะให้บริการสินเชื่อกรุงไทย Super Easy ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันโดยให้วงเงินกู้ 5 เท่าของเงินรายได้ สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารได้จัดทำโปรโมชั่นกับกลุ่มผู้ที่มีรายได้ประจำ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 15% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด โดยโปรโมชั่นจะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้

“แม้ว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี การ เพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง ธนาคารก็ได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดโดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่อกับกลุ่มลูกค้าที่มีบัญชีกับธนาคาร ซึ่งให้ผลตอบแทนที่สูงและมีความเสี่ยงต่ำ ประกอบกับช่วงเดือนตุลาคมจะมีผู้เกษียณอายุที่รับเงินบำนาญจากกรมบัญชีกลางกว่า 5 หมื่นคน จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารจะทำตลาดกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำ จะทำให้สินเชื่อบุคคลของธนาคารยังคงเติบโตในตลาดได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 - 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559