คสรท.เตรียมยื่นหนังสือร้องบิ๊กตู่ จี้ทบทวนปรับค่าจ้างขั้นตํ่าปี 60

25 ต.ค. 2559 | 00:00 น.
ประธาน คสรท.เตรียมร้อง“นายกฯ”ขอให้ทบทวนปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในปี 60 ชี้กลุ่มจังหวัดที่เพิ่ม 5 บาทปรับน้อยเกินไป

หลังจากที่คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติสรุปผลการพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 เมื่อ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมานั้น ต่อเรื่องนี้ นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว และเตรียมยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพื่อให้ทบทวนมติดังกล่าวภายในอาทิตย์หน้านี้

มติของคณะกรรมการค่าจ้างในครั้งนี้ กลุ่มแรงงานตั้งข้อสังเกตหลายประการที่น่าสนใจ อาทิ กรณีกลุ่มจังหวัดที่มีการปรับขึ้น 5 บาท เห็นว่าน้อยเกินไปเพราะตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แรงงานยังไม่เคยได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเลย การปรับครั้งนี้เฉลี่ยปรับปีละบาทกว่าเท่านั้น ขณะที่กลุ่มจังหวัดที่ไม่มีการปรับอยู่ในพื้นที่รัฐบาลตั้งเป้า สนับสนุนให้มีการลงทุนของภาคเอกชน อาทิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เห็นว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับภาคแรงงานซึ่งมีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่เช่นเดียวกันภาคเอกชน ทั้งยังระบุด้วยว่า คสรท.เรียกร้องให้แก้ปัญหานี้มาตลอด โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ควรกำหนดให้ผู้ประกอบการปรับค่าจ้างรายปีให้กับแรงงานที่มีอายุงานครบ 1 ปีไปแล้ว ตามอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี เชื่อมั่นว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ ประธาน คสรท. ระบุยืนยัน

ทั้งนี้ มล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 9/2559 เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 โดยใช้สูตรการคำนวณใหม่ โดยเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้นรวมกว่า 10 รายการ ประกอบด้วย 1.ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับปัจจุบัน 2.ดัชนีค่าครองชีพ 3.อัตราค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2559 4.มาตรฐานค่าเฉลี่ยการครองชีพ 5.ต้นทุนการผลิต 6.ราคาสินค้าและบริการ 7.ความสามารถของธุรกิจ 8. ผลิตภาพแรงงาน 9.ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553-2557 และ10.สภาพเศรษฐกิจและสังคม

โดยที่ประชุมมีมติ แบ่งเป็น กลุ่มแรกไม่ขอขึ้นค่าจ้าง มี 8 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา กลุ่มที่ 2 ขึ้น 5 บาท มี 49 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย

กลุ่มที่ 3 ขึ้น 8 บาท มี 13 จังหวัด คือ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และอยุธยา และส่วนกลุ่มที่ 4 ขึ้น 10 บาท มี 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต กรณีจังหวัดที่ไม่ได้ขอขึ้นแต่บอร์ดค่าจ้างได้พิจารณาเห็นสมควรปรับขึ้น และบางจังหวัดที่ขอปรับขึ้นแต่ไม่ได้ขึ้นนั้นได้พิจารณาโดยใช้สูตรคำนวณพื้นฐานปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนจะประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559