สตาร์บัคส์ปักธงลงทุนเพิ่มในจีน หวังเป้าแตะ 5,000 สาขาใน 5 ปี

24 ต.ค. 2559 | 12:00 น.
ภายในระยะ 5 ปีข้างหน้า สตาร์บัคส์จะเพิ่มจำนวนร้านสาขาในประเทศจีนเป็น 5,000 สาขา หรือเพิ่มกว่า 2 เท่าจากจำนวนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่แนวโน้มสดใสที่สตาร์บัคส์ยังมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สตาร์บัคส์ เชนร้านกาแฟชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน เปิดเผยเมื่อกลางสัปดาห์นี้ว่า แผนงานขยายธุรกิจในประเทศจีนยังคงเป็นไปตามที่วางเอาไว้โดยบริษัทตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2021 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยายสาขาเพิ่มเติมให้ครบ 5,000 สาขาหรือเพิ่มจากปัจจุบันมากกว่า 2 เท่า เนื่องจากมองว่าจีนคือตลาด Growth Engine ที่จะขับดันการเจริญเติบโตของธุรกิจสตาร์บัคส์

[caption id="attachment_107790" align="aligncenter" width="500"] สตาร์บัคส์ในประเทศจีน สตาร์บัคส์ในประเทศจีน[/caption]

นายฮาวเวิร์ด ชูลท์ส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสตาร์บัคส์ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่เปิดสาขาแรกในประเทศจีนในปี 1999 (พ.ศ.2542) ธุรกิจของสตาร์บัคส์ในประเทศจีนก็มีการเติบโตอย่างรวดเร็วแม้จะต้องเผชิญปัญหาเล็กๆน้อยๆในระยะแรก หรือราว 10 ปีที่ผ่านมา เป็นกรณีการที่สตาร์บัคส์เข้าไปเปิดสาขาในพระราชวังต้องห้ามกลางกรุงปักกิ่งแล้วถูกประท้วงต่อต้านทำให้ต้องปิดสาขาดังกล่าวไปในที่สุด ประธานสตาร์บัคส์ระบุว่า จีนเป็นตลาดที่มีอนาคต และมีแนวโน้มจะเติบโตแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในฐานะตลาดใหญ่ที่สุดของสตาร์บัคส์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปัจจุบันสตาร์บัคส์มีสาขาในสหรัฐอเมริกาจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.3 หมื่นสาขา

สถิติจากบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์ชี้ว่า ในบรรดาเชนร้านกาแฟทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาดจีน สตาร์บัคส์ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 75% ในปี 2558 คู่แข่งที่ตามติดมาเป็นอับดับหนึ่งคือเชนร้าน ‘แมคคาเฟ่’ ของแมคโดนัลด์คอร์ป. ตามมาด้วยเชนร้านคอสต้าคอฟฟี่ (Costa Coffee) ของบริษัท ไวท์เบรด เชนร้านกาแฟสัญชาติอังกฤษ แต่กระนั้นส่วนแบ่งตลาดทั้งของแมคคาเฟ่และคอสต้าคอฟฟี่ ก็ถือว่าตามห่างสตาร์บัคส์อยู่หลายช่วงตัว ข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ระบุว่า แมคคาเฟ่และคอสต้าคอฟฟี่ มีส่วนแบ่งในตลาดจีนรายละประมาณ 9% กว่าๆ เท่านั้น

จุดแข่งประการหนึ่งของสตาร์บัคส์คือการเพิ่มเติมกาแฟสูตรใหม่ที่มีเอกลักษณ์ดึงดูดใจลูกค้าชาวจีน อาทิ กาแฟแบล๊คฟอร์เรสต์ลาเต้ ซึ่งเป็นการผสมผสานกาแฟเข้ากับน้ำเชอร์รี่กับผงโกโก้ นอกจากนี้เพื่อเป็นการเอาใจคนจีนที่นิยมดื่มชา สตาร์บัคส์ได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาภายใต้แบรนด์ ทีวานา (Teavana) ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา “ลูกค้าชาวจีนใช้เวลานั่งในร้านนานกว่าลูกค้าในอเมริกา แต่ก็ซื้ออาหารรับประทานในร้านมากกว่าด้วย” ผู้บริหารของสตาร์บัคส์กล่าว

นอกจากนี้เพื่อให้การบริหารงานเป็นไปอย่างราบรื่น บริษัทได้แต่งตั้งเบลินดา หว่อง อดีตผู้จัดการใหญ่ของสตาร์บัคส์ประเทศจีนให้รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท สตาร์บัคส์ ไชน่า ซึ่งกำลังมีแผนรุกเปิดร้านแฟล็กชิปสโตร์ขนาด 30,000 ตารางฟุตกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมเปิดบริการในช่วงปลายปี 2560 สาขาดังกล่าวจะตั้งอยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ และเป็นร้านรูปแบบใหม่ภายใต้คอนเซ็ปท์ “ดิสนีย์แลนด์แห่งวงการร้านกาแฟ” มีชื่อว่าร้านสตาร์บัคส์โรสเตอรี แอนด์ รีเสิร์ฟ เทสติ้งรูม ซึ่งรูปแบบเหมือนกับร้านที่เปิดตัวในเมืองซีแอตเทิลเมื่อเกือบๆ 2 ปีที่ผ่านมา ความโดดเด่นของแนวคิดนี้คือการเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้สัมผัสกระบวนการคั่วเมล็ดกาแฟภายในร้าน และยังสามารถทดลองชิมสูตรผสมผสานของกาแฟจากสายพันธุ์ต่างๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,203 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559