นํ้ายางข้นจี้รัฐหนุนหมื่นล้าน ดันราคายางพุ่ง 60 บาทต่อกิโล

21 ต.ค. 2559 | 09:00 น.
สภาพเศรษฐกิจของภาคการเกษตรไทยมีปัญหาราคาตกต่ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางพารา ที่มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ จากปัญหาราคายางและผลิตภัณฑ์ยางตกต่ำ และไม่มีเสถียรภาพมาโดยตลอด กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของน้ำยางข้น หนึ่งในห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญที่รับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรมาผลิตต่อ ได้มีแนวคิดหรือไอเดียเพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ภาครัฐไม่ต้องรับภาระซื้อและเก็บสต๊อกยางให้เป็นภาระอีกต่อไป ซึ่ง "ชัยพจน์ เรืองอรุณวัฒนา "นายกสมาคมน้ำยางข้นไทยคนปัจจุบันได้สะท้อนแนวคิด ผ่าน"ฐานเศรษฐกิจ" ดังบรรทัดถัดจากนี้

 ซัพพลายทั่วโลกเพิ่ม-สต๊อกล้น

"ชัยพจน์" กล่าวว่า ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ทั้งทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ มีผู้เกี่ยวข้องมากถึง 15% ของจำนวนประชากรของไทย และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยในปี 2558 ประเทศไทยผลิตยางพาราได้ประมาณ 4.47 ล้านตัน มูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 4 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาสถานการณ์ผลิต และการใช้ยางพาราของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในสภาวะเศรษฐกิจโลกมีปัญหาในช่วงที่ผ่านมานั้นพบว่าปริมาณการผลิต และปริมาณการใช้ยางพาราไม่สมดุลกัน มีสต๊อกคงเหลือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ราคายางพาราในตลาดโลกลดลงและส่งผลกระทบต่อราคายางในประเทศไทยไปด้วย

ดังนั้นจึงเกิดความผันผวนของราคายางในประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2554 และส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวสวนยางมาตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งในปี 2558 รัฐบาลได้เข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำใน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์

"ทั้ง 2 โครงการสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้น เพราะงบประมาณมีจำกัด ทำให้ปริมาณยางที่รับซื้อยังมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับผลผลิตยางทั้งประเทศ ซึ่งโครงการสามารถผลักดันราคายางให้สูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งรัฐบาลยังมีภาระต้องดูแลสต๊อกยางมาจนถึงปัจจุบันประมาณ 3.1 แสนตัน ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าฝากเก็บ ดอกเบี้ย เจ้าหน้าที่และอื่นๆ โดยเฉลี่ยเดือนละ 30 ล้านบาท ขณะที่ยางเริ่มเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา สวนทางกับต้นทุนที่สูงขึ้นทุกวัน ถือว่าเป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน"

 เร่งรัฐหนุนหมื่นล. ดัน 60 บ./กก.

ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆนี้ ทางสมาคมน้ำยางข้นไทย จึงได้เข้าหารือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ โดยรัฐบาลไม่ต้องรับภาระซื้อและเก็บรักษายางอีกต่อไป แต่จะใช้วิธีอาศัยความร่วมมือจากผู้ประกอบการยางให้ดูดซับยางพาราออกจากระบบนำไปเก็บในสต๊อกของผู้ประกอบการในลักษณะหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณยางในตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยขอสนับสนุนวงเงินดำเนินการ 1 หมื่นล้านบาท รัฐบาลสนับสนุนชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 3% มีระยะเวลาในการดำเนินการโครงการ 2 ปี (ตั้งแต่ ต.ค.59 - ก.ย.61) ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยาง และขอให้ภาครัฐให้การสนับสนุนโดยเร็ว

"ทางสมาคมจึงได้เสนอระยะเวลาของโครงการนี้ 2 ปี ก็คือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2559-กันยายน 2561 มีเป้าหมายที่จะดูดซัพพลายยางออกจากระบบประมาณ 20% ของผลผลิตน้ำยางข้น 1.9 แสนตัน จากผลผลิตทั้งปีประมาณ 9.6 แสนตัน (เนื้อยางแห้ง) คาดหวังจะช่วยดันราคายางให้ไปถึง 60 บาทต่อกิโลกรัม"

 ผลพวงบีบต่างประเทศเร่งซื้อ

"ชัยพจน์" กล่าวอีกว่า หากไทยเร่งดำเนินโครงการนี้จะสามารถสร้างความกังวลให้กับผู้ใช้ยางพาราในต่างประเทศ จนต้องรีบออกมาซื้อยางจากไทยมากขึ้น เพราะเป็นการสร้างอุปสงค์ในตลาดมากขึ้น ส่งให้ราคายางปรับตัวขึ้นอย่างอัตโนมัติ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะเร่งอนุมัติให้โครงการนี้เกิดโดยเร็วแม้ว่าในช่วงนี้ปริมาณฝนตกค่อนข้างมากทำให้ชาวสวนกรีดยางไม่ได้ ราคาน้ำยางสดนับตั้งแต่นี้จนถึงสิ้นปี คาดว่าอยู่ที่ราคา 50 บาทต่อกิโลกรัม

 ควง กยท.ถกมาเลย์

ที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ประเทศส่งออกน้ำยางสดให้มาเลเซียโดยเฉลี่ยปีละ 3 แสนกว่าตัน แต่ไม่เคยเชื่อมกันในนามของสมาคม อาจจะแยกกันต่างคนต่างขาย ดังนั้นครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่สมาคมร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำคณะโดยนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์การยาง กยท.ได้เดินทางไปเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อประชุมหารือกับคณะกรรมการยางมาเลเซีย (MRB) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำยางข้นจากยางธรรมชาติและน้ำยางสังเคราะห์ เพื่อกำหนดทิศทางอนาคตของร่วมกัน พร้อมกันนี้ได้แสวงหาแนวทางในการสนับสนุนทางจากรัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายทางด้านตลาดยางพารา เพื่อสร้างเข้มแข็งสามารถเพิ่มรายได้ จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมและเกษตรกรชาวสวนยางในที่สุด

"ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ มีสมาชิกสามัญ 49 ราย สมาชิกวิสามัญ 29 ราย และสมาชิกกิตติมศักดิ์ 3 ราย รวมทั้งสิ้น 81 ราย ผมได้รับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม (วาระปี 2559 - 2561) ที่ผ่านมาได้มีนโยบายในการบริหารของสมาคมน้ำยางข้นไทย อาทิ ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในทุกมิติเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรสวนยางให้สามารถขายยางได้ในราคาที่ยุติธรรม ส่งเสริมและสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่สมาชิก ยกระดับสินค้าน้ำยางข้นของไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ต้องการของลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นผู้นำ และให้ความร่วมมือสนับสนุนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพารา โดยเน้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำยางข้นเป็นหลัก เป็นต้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,202 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559