แผนรัฐหนุนรถยนต์ไฟฟ้า เตรียมเปิดส่งเสริมลงทุนก่อนตกขบวน!

18 ต.ค. 2559 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม2559 มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือรถอีวี ในประเทศไทยตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

จากมติดังกล่าวทำให้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เกิดคำถามมากมายในวงการยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ว่าแท้จริงแล้ว นโยบายของรัฐบาลในอุตสาหกรรมดังกล่าว จะไปในทิศทางไหนกันแน่! เพราะก่อนหน้านั้นรัฐส่งเสริมรถประหยัดพลังงานหรือรถอีโคคาร์ พร้อมกับการใช้พลังงานทางเลือกจากพืชผลทางการเกษตร ล่าสุดรัฐสนับสนุนรถยนต์อีวีในขณะที่รถอีโคคาร์ 2 ที่มีแผนจะเริ่มผลิตได้ปี 2560 นั้นยังไม่ได้เดินแผนด้านการตลาดอย่างชัดเจน อีกทั้งรถอีวีผู้บริโภคยังไม่มีเสียงตอบรับอย่างกว้างขวาง ข้อสงสัยเหล่านี้มีคำตอบจาก ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม!

 ไม่อยากตกขบวนรถอีวี

ดร.อรรชกา ย้ำว่ารัฐบาลยังคงให้การส่งเสริมรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในโดยเฉพาะรถอีโคคาร์และรถกระบะ 1 ตัน ซึ่งเป็น Product Champion ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย รวมทั้งรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก (PHEV) ซึ่งเริ่มมีการผลิตในประเทศไทยแล้ว

ดังนั้นนโยบายรถอีโคคาร์ ยังคงเดินหน้าต่อไป เรายังไม่ได้เปลี่ยนนโยบาย แต่รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวีเป็นเรื่องใหม่ ถ้าไม่แสดงความสนใจ หรือไม่มีการเตรียมความพร้อมใดๆเลย ถ้ามีนักลงทุนสนใจแล้ว เราจะมีมาตรการส่งเสริมอย่างไร พอถึงเวลาแล้วเราอาจจะตกขบวนไปแล้วก็ได้ เวลานี้ก็มีการพูดถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ คือต้องมี การลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า(Charging Station) ก็ต้องเริ่มมี ถ้าไม่มีความพร้อมตรงนี้รถยนต์ไฟฟ้าก็เกิดไม่ได้ เราต้องมีแผน เช่น กระทรวงพลังงานบอกอีก 1-2 ปี จะต้องมี 100 สถานีที่จะสนับสนุนให้เกิด ส่วนใหญ่ก็น่าจะอยู่บริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลก่อน

 ดันรถบัส200คันนำร่อง

ถ้ามาพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดรถอีวีนั้น ในเบื้องต้นรถบัสโดยสารที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)มีแผนซื้อรถบัส กระทรวงคมนาคมก็มีนโยบายออกมาว่าจะให้โควตา 200 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างทำทีโออาร์และกำลังเปิดประมูล ซึ่งในขณะเดียวกันเราก็คุยกันว่า อยากจะให้มีการประกอบในประเทศมากกว่าที่จะนำเข้ารถทั้งคันหรือผสมผสานกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศมีส่วนร่วมด้วย เพราะจริงๆแล้วตัวถัง เบาะนั่ง อุปกรณ์ตกแต่งรถ เราทำได้อยู่แล้ว ส่วนแบตเตอรี่ หรืออุปกรณ์หลักเรายังผลิตไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ยังต้องรอดูความชัดเจนก่อนแต่ที่แน่ๆจะต้องส่งเสริมให้มีการประกอบในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตามเวลานี้ถ้าจะมีกลุ่มรถขนาดเล็ก ก็มีการพัฒนาขึ้นมาแล้ว เช่น รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ซึ่งก็มีการผลิตเพื่อส่งออก หรือเจรจากับรถญี่ปุ่นจากบริษัท FOMM ประเทศญี่ปุ่นเป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กนำเข้า แต่ติดปัญหาเรื่องกำลังไฟฟ้า ที่ทางขนส่งทางบกไม่สามารถจดทะเบียนให้ได้ ติดปัญหาเรื่องแรงม้า ซึ่งกำลังแก้ไขอยู่ ตรงนี้ก็มีการคุยกันว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการสนับสนุนให้รถตุ๊กตุ๊กเปลี่ยนมาเป็นรถไฟฟ้าตุ๊กตุ๊กดีหรือไม่

สำหรับรถเก๋งอีวีสำหรับนั่ง ขณะนี้ผู้ประกอบการสนใจรถยนต์ไฮบริดแบบเสียบปลั๊ก Plug-in Hybrid มีเครื่องยนต์ปกติและมีแบตเตอรี่ และมีแบตเตอร์รี่อีวีด้วย เพียงแต่ไม่ได้วิ่งด้วยไฟฟ้า100% ซึ่งจะต่างจากรถยนต์ไฮบริด ฉะนั้นรถไฟฟ้าจะมีหลายค่ายมองว่ามันจะต้องเริ่มที่รถ Plug-in Hybrid ก่อน เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีความมั่นใจที่จะใช้รถอีวี เพราะยังมีข้อจำกัด แบตเตอรี่ชาร์ดไฟฟ้าวิ่งได้ไม่ไกลนักจะมีปัญหาเดินทางไกล

 ความคืบหน้ามาตรการรัฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าในเรื่องมาตรการส่งเสริมรถอีวีว่าที่ผ่านมาพอพูดถึงว่า ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในประเทศ โดยเฉพาะค่ายที่มีการผลิตรถอีวีได้แล้วอย่างค่ายนิสสัน สุดท้ายก็ยังไม่มั่นใจ เพราะยังไม่มีตลาดในประเทศ ทำให้ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการพูดถึงว่าเราต้องมีแพ็กเกจให้ส่งเสริมอย่างไรออกมาก่อน

เมื่อเร็วๆนี้ก็มาหารือร่วมกันว่าจะให้ บีโอไอ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และกรมศุลกากร ไปดูรายละเอียดเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะให้ ดูว่าควรจะมีมาตรการสนับสนุนอย่างไร เพราะจะมีเรื่องการยกเว้น ลดหย่อน การให้สิทธิประโยชน์ มีการประชุมเรื่องนี้ไปแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

โดยในหลักการจะลงรายละเอียดว่า ในช่วงแรกจะอนุญาตให้นำเข้ารถสำเร็จรูป (CBU) เข้ามาทั้งคันโดยได้รับการยกเว้นภาษี เพื่อเข้ามาทำตลาดให้ได้ก่อน ต่อมาจะต้องเริ่มประกอบในประเทศจะต้องมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญอะไรที่จะมาประกอบในประเทศได้ ถ้ามีชิ้นส่วนสำคัญมาผลิตในประเทศก็จะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้ยาวขึ้น เป็นต้น โดยเฉพาะในการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่ลิเธียม มอเตอร์ ระบบควบคุมไฟฟ้า ระบบปรับอากาศด้วยไฟฟ้า ระบบควบคุมการขับขี่และระบบการแจ้งเตือน สายชาร์จแบตเตอรี่ รวมถึงเต้ารับ เต้าเสียบ โดยระยะแรกจะบังคับก่อนอย่างน้อย 1 ตัวที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญ ที่ต้องมีการลงทุน เพราะถ้าเรานำเข้าทั้งคันก็ไม่เกิดการกระตุ้นให้ผลิตในประเทศ โดยมาตรการการส่งเสริมน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้

 ช่วยกลุ่มชิ้นส่วนช่วงเปลี่ยนผ่าน

ส่วนในช่วงเปลี่ยนผ่านในการไปสู่รถยนต์อีวีนั้น ดร.อรรชกา อธิบายว่ายังต้องใช้เวลา และต้องเข้าใจว่าชิ้นส่วนไม่ได้หายไปหมดทั้งตลาด เครื่องยนต์อาจจะหายไป เพราะใช้ไฟฟ้า แต่เกียร์ เบรก ยังมีอยู่ และเราก็ยังส่งเสริมให้มีการประกอบ ผลิตชิ้นส่วนต่างๆในประเทศด้วย ขณะเดียวกันเราก็บอกผู้ผลิตชิ้นส่วนจะต้องมองหาทางหนีทีไล่ด้วย โดยหันไปต่อยอดผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เหล่านี้เราต้องมองหาทางออกไว้ด้วย

จริงๆแล้วเวลานี้บางค่ายก็ยังไม่สนใจที่จะทำรถอีวี อย่างโตโยต้าก็ประกาศว่าจะเน้นทำรถไฮบริด ดังนั้นอย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะนอกจากบางค่ายยังไม่พร้อมผลิตรถอีวีในประเทศไทยแล้ว ในแง่ผู้บริโภคก็ยังไม่พร้อมใช้ เพราะในประเทศไทยผู้บริโภคจะต้องการรถปิกอัพขนสินค้ามากกว่า อย่างมาเลเซียก็ออกมาประกาศให้มีการนำเข้ารถอีวี โดยยกเว้นภาษีมีมาตรการสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐซื้อรถไฟฟ้าใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีก็พูดถึงว่า ถ้าเรามีรถไฟฟ้าในช่วงแรกควรอาศัยการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลมาช่วยให้นำร่องโดยใช้ในหน่วยราชการก่อนในการใช้รถเก๋งอีวี

ฉะนั้นรถยนต์อีวีจะมี 2 ประเภท คือ 1. รถ Plug-in Hybrid เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าแบบไฮบริดปาร์ก อิน (PHEV) 2.แบตเตอรี่ อิเล็กทริก (รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่) หรือ BEV

  แผนกำจัดแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ที่กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ตั้งข้อสังเกตถึงการกำจัดแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุการใช้งาน เพราะแบตเตอรี่คือสารพิษอุตสาหกรรมนั้น ต่อเรื่องนี้เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ได้จัดประชุมหารือมาตรการรองรับด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) สำนักนโยบายและแผนพลังงาน กรมควบคุมมลพิษและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยที่ประชุมสรุปความเห็นว่า แบตเตอรี่ในประเทศไทยสามารถดำเนินการได้โดยมีโรงงานรีไซเคิลในประเทศ อีกทั้งปัจจุบันมีบริษัทที่เก็บรวบรวมแบตเตอรี่จากบริษัทรถยนต์ในประเทศและส่งไปกำจัดที่แถบยุโรปและญี่ปุ่น โดยบริษัทที่เก็บรวบรวมแบตเตอรี่จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามแบบวอ./อก.8 และหากส่งออกจะต้องได้รับใบอนุญาตตามแบบวอ./อก.6 เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,201 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2559