พันทิปมุ่งสู่ศูนย์ข้อมูลน่าเชื่อถือ ดึงผู้เชี่ยวชาญตอบคำถาม/ สร้างจุดแข็งแข่งโซเชียลนอก

15 ตุลาคม 2559
"พันทิป" ลั่นกลองรบโซเซียลมีเดียต่างประเทศ ชูวิสัยทัศน์เป็นศูนย์รวมเนื้อหาที่น่าเชื่อถือของคนไทย เตรียมดึงผู้เชี่ยวชาญ ไขข้อข้องใจผ่านกระทู้ พร้อมเปิดช่องทางใหม่สร้างแรงบันดาลใจ-นำเทคโนโลยีรองรับการนำเสนอผ่านทั้งเว็บไซต์ และแอพ

นายอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีเว็บไซต์พันทิป (www.pantip.com) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่าเว็บไซต์พันทิป ได้วางยุทธศาสตร์ในการก้าวไปสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย ที่มีความน่าเชื่อถือมากสุด และเป็นแหล่งรวมคำตอบที่ถูกต้องของคนไทย โดยเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ขาดการตรวจสอบความถูกต้องทำให้บางครั้งข้อมูลไม่สามารถแก้ปัญหา หรือ ต้องกับที่ผู้ตั้งกระทู้ต้องการหาคำตอบ

ทั้งนี้ไค้เตรียมพัฒนาช่องทางเนื้อหา ภายใต้ชื่อล็อกอินเอ็กซ์ เพิร์ท (Log in Expert) ขึ้นมา โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้ามาตอบคำถามในกระทู้ เพื่อต้องการสร้างเนื้อหาที่ถูกต้อง และตรงกับความต้องการที่มีผู้มาโพสต์กระทู้เพื่อหาคำตอบมากขึ้น นอกจากนี้ระบบของพันทิป จะมีความฉลาดมากขึ้น สามารถรู้ได้ว่าสมาชิกที่เข้ามาตอบกระทู้มีความสนใจด้านเนื้อหาด้านใด ซึ่งหากมีคำถามในเรื่องที่สมาชิกสนใจ ก็จะส่งไปให้สมาชิกท่านนั้นตอบคำถาม

"ปัจจุบันผู้ที่เข้ามาโพสต์คำถามบนพันทิป ได้รับคำตอบ อย่างไรก็ตามในการค้นหาจากการเสิร์ชข้อมูลที่ต้องการค้นหาคำตอบจากเว็บไซต์พันทิป 100 ครั้ง จะมีผู้ที่เข้ามาคำตอบประมาณ 20 ครั้ง ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นคำตอบที่น่าเชื่อถือ จนนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับผู้ตั้งกระทู้ได้ ซึ่งเราต้องการเพิ่มปริมาณคำตอบที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ "

ขณะเดียวกันช่องทางกระทู้ที่ต้องการเพิ่มขึ้นอีก คือ กระทู้ที่เกี่ยวกับการสร้างแรงบันดาลใจ อาทิ แบกเป้ท่องเที่ยว ,การควบคุมน้ำหนัก หรือ การออมเงิน ซึ่งจะมีตัวอย่างความสำเร็จนำมาแบ่งปันผ่านกระทู้ ซึ่งในอนาคตอาจมีการต่อยอดพัฒนาเป็นหลักสูตรการอบรม หรือ สัมมนา นอกจากนี้ในปลายปี จะมีแอพพลิเคชั่น"พันทิป" ออกมา เพื่อรองรับยุคโมบายเฟิร์ท โดยขณะนี้มีผู้เข้าเว็บไซต์พันทิป จากสมาร์ทโฟน 68% ส่วนอีก 25% มาจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือ เดสก์ท็อป และ อีก 6 % มาจากแท็บเล็ต และในปีหน้า จะมีการนำเทคโนโลยีการพัฒนาที่สามารถทำให้นำเสนอเนื้อหาได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น เข้ามาใช้ เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาพันทิปฯ ให้รองรับกับอุปกรณ์ที่หลากหลายและค่าใช้จ่ายการจัดการ

นอกจากนี้ยังมีแผนในการปรับหน้าตากระทู้แต่ละห้องให้มีความน่าสนใจมากขึ้น และมีการออกแบบใหม่ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของกระทู้แต่ละห้องมากขึ้น อาทิ ห้องบูลเทนเนอร์ ซึ่งเป็นกระทู้ท่องเที่ยว ในและต่างประเทศ จะมีการแบ่งหมวดหมู่ใหม่ ให้เป็นโปรแกรมท่องเที่ยวตามประเทศต่างๆ หรือ กระทู้ทำอาหาร ก็จะแบ่งตามประเภทของอาหาร และในต้นปีหน้าจะพัฒนาช่องทางใหม่ Ask Me anything ขึ้นมาเหมือนเว็บไซต์กระทู้ชื่อดังในต่างประเทศ โดยให้สมาชิกเข้ามาโพสต์คำถาม หรือ สิ่งที่อยากรู้กับบุคคลผู้ที่มีชื่อเสียง และเชิญบุคคลนั้นมาตอบคำถาม

นายอภิศิสป์ กล่าวต่อไปอีกว่าในแง่ของผู้ใช้บริการพันทิป นั้นขณะนี้มียอดคนเข้าใช้งานเฉลี่ย 4.2 ล้านต่อวัน เติบโตจาก 5 ปีที่แล้ว ที่มียอดผู้เข้าใช้งาน 1 ล้านคนต่อวัน มียอดเข้าชมแต่ละหน้า หรือ จำนวนเพจวิวทั้งหมด 16 ล้านหน้าต่อวัน อย่างไรก็ตามในแง่ของจำนวนผู้ใช้คงไม่เติบโตรวดเร็วเหมือนในอดีต เนื่องจากมีฐานผู้ใช้จำนวนมากแล้ว ทำให้บริษัทจำเป็นต้องมาพัฒนาคุณภาพเนื้อหาให้ดีขึ้น เพื่อคงความเป็นจุดแข็งของพันทิป ที่แตกต่างจากโซเชีบลมีเดียจากต่างประเทศ โดยมีเนื้อหาที่มีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ

"โซเชียลมีเดีย แต่ละรายก็มีจุดแข็ง ที่ต่างกันออกไป โดยอย่างเฟชบุ๊ก เป็นโซเชียลมีเดียด้านการสื่อสาร ที่ผู้ใช้โพสต์ หรือ แชร์ข้อมูล รูปภาพ ส่วนไลน์ ทวิตเตอร์ เป็นช่องทางสำคัญคนที่ต้องการแชร์ข้อความสั้นๆ อินสตราแกรมเป็นโซเชียลมีเดียให้คนเข้ามาแชร์รูป ซึ่งในแง่ของผู้ใช้พันทิป คงไม่สามารถสู้กับโซเชียลมีเดียเหล่านี้ได้ แต่ในแง่ของเนื้อหานั้นเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถือ และมีการแชร์มากกว่า"

นอกจากนี้ปลายปีนี้ยังมีแผนเปิดเว็บไซต์ใหม่ ที่ให้นักเขียนเข้ามาสร้างบล็อก โดยพันทิปจะมีเครื่องมือในการช่วยสร้างรายได้ให้นักเขียน ทั้งนี้เล็งเห็นว่าขณะนี้มีนิตยสารที่มีนักเขียนดีๆ อยู่เป็นจำนวนมากปิดตัวลงไป

ส่วนโครงสร้างรายได้ของเว็บไซต์พันทิป นั้นมาจาก 4 ช่องทาง โดยรายได้ 90% ยังมาจากการขายแบนเนอร์โฆษณา อีก 3-4% มาจากรายได้จากการจัดกิจกรรมการตลาด ส่วนอีก 3-4% เป็นรายได้จากแอดเวอร์ทอเรียล ที่แนวโน้มค่อนข้างดี มีเจ้าของแบรนด์นำสินค้ามาให้ทีมงานพันทิป รีวิว สินค้า และอีกช่องทางหนึ่ง คือ การเปิดให้นักพัฒนาเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์พันทิป เพื่อดึงข้อมูลไปใช้วิเคราะห์ทางการตลาด โดยปีนี้เริ่มเปิดให้ใช้ฟรี และเริ่มคิดค่าใช้จ่ายปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559