ธุรกิจ‘โมบายมันนี่’ เมียนมา โตพรวดพราด

01 ต.ค. 2559 | 05:00 น.
เพราะคนเมียนมาประมาณ 10% เท่านั้นที่มีบัญชีธนาคาร ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ต้องใช้เงินสดในธุรกิจ และชีวิตประจำวันและมีปัญหาอย่างมากในการส่งเงินไปให้ญาติพี่น้อง หรือชำระเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในธุรกรรมต่างเมือง เป็นช่องให้เจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดบริการ “โมบายมันนี่”

ธุรกิจโมบายมันนี่ ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีอนาคตสดใสเพราะ ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าแบงก์ในประเทศจะขยายเครือข่ายเครื่องเอทีเอ็มและสาขาให้บริการประชาชนอีกกว่า 51 ล้านคนที่ยังไม่บริการธนาคารให้ใช้

นางคิน มิ้นท์ อู (Khin Myint Oo) คนงานที่ทำงานแม่บ้านที่เมืองย่างกุ้งให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอเอฟพี ว่าเมื่อก่อนคนเมียนมาต้องเก็บเงินไว้ในบ้าน เมื่อต้องการส่งเงินไปให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องต่างพื้นที่ มีทางเลือกเพียง 2 ทาง คือการไปเข้าคิวใช้บริการสาขาธนาคารซึ่งอาจจะต้องเดินทางไปไกลหรือทางที่ 2 คือส่งเงินสดที่ทำสัญลักษณ์ไว้ที่ตัวธนบัตรส่งขึ้นรถบัสไปให้ผู้รับที่สถานีปลายทาง

เอเอฟพี ระบุว่า ล่าสุดสาขาธนาคารในเมียนมามีเพียง 1,500 แห่งขณะที่ประเทศมีขนาดเท่ากันประเทศฝรั่งเศสและพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นต่างจังหวัดทำให้ระบบธนาคารต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะขยายไปทั่วประเทศและความยากลำบากนี้เองทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีชื่อว่า เวฟมันนี่ Wave Money

บริการเวฟมันนี่ ทำให้นางคิน มิ้นท์ อู สามารถส่งเงินไปให้ลูก ๆ ที่อยู่รัฐฉาน ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย โดยใช้เวลาไม่กี่นาที

เวฟมันนี่ เป็นบริการที่บริษัทการเงินเอกชนแห่งหนึ่งร่วมกับเจ้าของเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ เปิดให้บริการเป็นธุรกิจการเงินประเภทนอนแบงก์ ที่ทำให้คนทั่วไปก้าวข้ามบริการธนาคารไปได้เลย

บริการการเงินประเภทนอนแบงก์ ในเมียนมาเกิดขึ้น หลังจากที่รัฐบาลใหม่ของเมียนมาเริ่มบริหารประเทศเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยงานชิ้นแรก ๆ ของรัฐบาลคือการออกกฎระเบียบให้บริษัทการเงินประเภทนอนแบงก์สามารถให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีมันนี่ ได้ซึ่ง เวฟมันนี่ เป็นบริการแรกที่เดินเครื่องให้บริการทันทีหลังจากที่รัฐบาลเปิดทางให้ธุรกิจนอนแบงก์เกิดขึ้นได้

นายซอน เทอร์เนลล์ (Sean Turnell) นักเศรษฐศาสตร์จากออสเตรเลียที่ให้คำปรึกษาต่อรัฐบาลในเรื่องของธุรกิจนอนแบงก์ ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีว่า นโยบายให้เปิดธุรกิจนอนแบงก์ได้ถือว่ามีความสำคัญระดับแรก ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นในทันที

บริการ เวฟมันนี่ ในเมียนมา บางทีเรียกว่า เอทีเอ็มมนุษย์ เป็นกิจการที่มีเครือข่ายร้านค้าประเภทโชวห่วย 4,000 แห่ง ทั่วประเทศที่เป็นสถานที่รับเงินโดยผู้ส่งเงินสามารถฝากเงินที่ร้านของเครือข่าย และส่งเงินผ่านระบบโทรศัพท์มือถือให้ผู้รับเงินสามารถรับเงินจากร้านใกล้บ้านได้

ผู้บริหารระบบ เวฟมันนี่ จะทำการสำรวจร้านที่เป็นเครือข่ายว่ามีเงินสดเพียงพอสำหรับบริการลูกค้าที่รับเงินหรือไม่ ถ้าเงินสดในร้านมีไม่พอก็จะส่งตัวแทนนำเงินไปให้เหมือนกับการนำเงินสดเข้าตู้เอทีเอ็มเพื่อบริการคนกดเงิน

เอเอฟพี ระบุว่าระบบการส่งเงินผ่านโทรศัพท์มือถือโดยมีร้านค้าปลีกเป็นเครือข่ายรับและส่งเงินนี้ เริ่มขึ้นที่ประเทศเคนยา เมื่อ 10 ปีก่อนและประสบความสำเร็จมาก ปัจจุบันเป็นระบบที่คนเคนยาครึ่งประเทศใช้ในการโอนเงิน

ระบบเวฟมันนี่ นี้มีการนำไปใช้ ในประเทศต่าง ๆ แถบภูมิภาคที่อยู่ทางใต้ทะเลซาฮาราในแอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ทำให้ประชาชนมีเครื่องมือในการส่งเงินและบริหารเงินที่ปลอดภัยและมีค่าธรรมเนียมถูก

นายแบรด โจนส์ (Brad Jones) ซีอีโอของเซฟมันนี่ กล่าวว่า เมียนมาเป็นตลาดที่มีการพูดถึงทุกครั้งเมื่อมีการสัมมนาเกี่ยวกับการให้บริการโมบายมันนี่ เพราะเป็นตลาดที่ใหม่และมีศักยภาพสูง

เอเอฟพี ระบุว่าตลาดการส่งเงินผ่านระบบมือถีอ ในเมียนมาสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเนื่องอัตราการมีโทรศัพท์มือถือและการขยายตัวของเครือข่ายในเมียนมา เติบโตรวดเร็วมาก เมื่อ 4 ปีก่อน ชาวเมียนมาที่มีโทรศัพท์มือถือมีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากร ปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 60% แล้ว

นายซอ ซอ อู (Zaw Zaw Oo) เจ้าของร้านค้าปลีกซึ่งอยู่ในเครือข่ายของระบบเว็บมันนี่ ให้สัมภาษณ์ เอเอฟพี ว่า “เมื่อระบบนี้เป็นที่รู้จักในหมู่ประชาชนแล้วจะได้รับนิยมมาก เพราะเป็นระบบที่ช่วยประชาชนได้มากกว่าระบบธนาคาร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559