ส.ยานยนต์เล็งตั้งองค์ความรู้รถไฟฟ้า

29 ก.ย. 2559 | 14:00 น.
ส.ยานยนต์เตรียมจัดงานให้ความรู้เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจรต้นปี 60 พร้อมเร่งเดินหน้าศึกษาโครงการรถบัสไฟฟ้าของภาครัฐ คาดได้ข้อสรุป พ.ย. นี้ ส่วนความคืบหน้าศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ อยู่ระหว่างการออกแบบ มั่นใจเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่จะพัฒนาศักยภาพและแข่งขันได้ในตลาดโลก

นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลผลักดัน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ เอสเคิร์ฟ และยานยนต์เป็นหนึ่งในเฟิร์ส เอสเคิร์ฟ ซึ่งสถาบันยานยนต์ได้รับมอบหมายให้ช่วยประสานงานผลักดันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์แห่งอนาคต กล่าวคืออาจจะเป็นอีวี หรืออาจจะเป็น ไฮบริด ,ปลั๊ก-อิน ไฮบริด, ไฮโดรเจน ฟูเอล เซล หรืออะไรก็ตามที่ใช้ไฟฟ้าขับเคลื่อนมอเตอร์ให้ล้อหมุน

จากทิศทางดังกล่าวทำให้สถาบันยานยนต์ เตรียมจัดตั้งองค์ความรู้ของยานยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด คาดว่าจะจัดงานช่วงต้นปี 2560 โดยจะทำการตั้งชาร์จจิ้ง หรือ สถานีชาร์จไฟ 2 แห่งได้แก่ สำนักงานบางปูสมุทรปราการและสำนักงานกล้วยน้ำไท กทม. ซึ่งจะมีการจัดทำเป็นพื้นที่นิทรรศการและให้ความรู้ว่าชิ้นส่วนที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้ามีอะไรบ้าง และชักชวนผู้ผลิตรถยนต์ที่มีรถไฟฟ้าหรือรถที่เกี่ยวข้องให้นำรถมาจัดแสดงและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมงานได้ทดลองขับขี่

“ตอนนี้เรามีความตื่นตัวเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า แต่ในแง่ข้อมูลหรือรายละเอียดต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การขับขี่ การประกันอย่างไร อายุแบตเตอรี่อยู่ได้กี่ปี แล้วสามารถรีไซเคิลได้ไหม และเมื่อแบตเตอรี่เสื่อมแล้วจะมีวิธีกำจัดหรือนำไปทิ้งที่ไหน มีบริษัทที่ดูแลเรื่องนี้หรือไม่ ตรงจุดนี้เป็นเรื่องท้าทายหน่วยงานต่างๆที่จะออกนโยบาย เพราะยานยนต์ในอนาคตไม่ใช่แค่ผลปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือซีโร่ อีมิสชันบนท้องถนนเท่านั้นแต่หมายถึงตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง เช่น ไฟฟ้าถูกนำมาจากไหน มาจากถ่านหิน มาจากนิวเคลียร์ หรือจากก๊าซ ก็ต้องมาดูคาร์บอนไดออกไซด์ หรือค่ามลพิษ ไอเสีย ต้องมีการนำมาเปรียบเทียบกันหมด ทั้งดีเซล เบนซิน ไฮบริด อีวี คือต้องมาเทียบกันและศึกษาอย่างละเอียด”

นายวิชัย กล่าวต่อว่า สถาบันยานยนต์ยังมีภารกิจเร่งด่วน คือการประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการศึกษาอย่างเข้มงวด เกี่ยวกับภาษีการนำเข้าชิ้นส่วนหรือซีเคดีของรถบัส เพราะนโยบายรัฐที่อยากเห็นรถบัสไฟฟ้าเกิดได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยเบื้องต้นประเมินว่าน่าจะทำได้ทัน เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ขสมก. ที่เป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงแรกจะนำมาวิ่งทดสอบ และดูผลกระทบ ภาวะแวดล้อม การวิ่งเป็นอย่างไร โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่รองรับหรือไม่

ขณะที่ภารกิจหลักที่มีการผลักดันมาโดยตลอดอย่าง ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อ ที่ความคืบหน้าอยู่ระหว่างรอที่ปรึกษาระดับโลกมาออกแบบ ซึ่งประโยชน์ของศูนย์ดังกล่าวคือการช่วยผู้ประกอบการชิ้นส่วน ให้มีการพัฒนาตนเองและสามารถผลิตชิ้นส่วนป้อนทั้งตลาดในและตลาดต่างประเทศได้

“ศูนย์ทดสอบจะมีสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ สมอ.เป็นเจ้าของ และสถาบันยานยนต์เป็นคนดูแล ซึ่งเราทำการศึกษามากว่า 10 ปี พยายามจะทำแต่ไม่สำเร็จ เพราะเดิมต้องการให้เอกชนมาร่วมลงทุน แต่เอกชนส่วนใหญ่มีสนามของตัวเองอยู่แล้ว และท้ายที่สุดรัฐบาลมองว่าต้องลงทุนโดยรัฐ 100% เพราะจะได้ไม่อ้างอิงถึงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง นอกจากประโยชน์ที่ผู้ผลิตรถยนต์จะได้รับแล้ว วัตถุประสงค์หลักของศูนย์ทดสอบคือ การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของกลุ่มชิ้นส่วนในประเทศ ที่จะต้องมีการพัฒนา เพื่อจะสามารถต่อยอดออกไปในตลาดโลกได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,196
วันที่ 29 กันยายน - 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559