ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอินเดีย ไทย และเมียนมา

28 กันยายน 2559
ระหว่างวันที่ 22 และ 23 กันยายนมีการจัดสัมมนาที่จุฬาฯ โดยมีเจ้าภาพประกอบด้วยศูนย์อาเซียนศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถาบัน RIS (Research Information System) พี่เป็นหน่วยงานมันสมองทางด้านเศรษฐกิจของอินเดีย โดยหัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของ3ประเทศที่ประกอบไปด้วยอินเดีย ไทย และเมียนมา

วันนี้จึงมีประเด็นที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เมียนมานั้นมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าไปสู่การค้าเสรีมากขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านา สินค้าที่เคยห้ามในการส่งออกนำเข้าก็สามารถทำได้อย่างเสรีมากขึ้นยกเว้นแต่สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และบุหรี่ ในอดีตนั้นเมียนมาจะต้องมีการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าแต่ในปัจจุบันการขอใบอนุญาตนำเข้าดังกล่าวเป็นแบบอัตโนมัติทำให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว

อัตราภาษีศุลกากรของเมียนมานั้นไม่ได้สูงมากอย่างที่เราคาดเอาไว้ อีกทั้งเมียนมาร์ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้นโยบายที่ไม่ใช่ภาษีกับประเทศคู่ค้าไม่ว่าจะเป็นนโยบายตอบโต้การทุ่มตลาดนโยบายตอบโต้การอุดหนุนส่วนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุปสรรคเทคนิคทางการค้า และมาตรการที่เกี่ยวกับสุขภาพ ของคน พืช ละสัตว์ ก็เป็นไปตามมาตรฐานนานาชาติ
นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเมียนมา มีความชัดเจนว่าเมียนมาต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดใหม่ที่หลากหลายกว่าเดิม โดยที่อาศัยสินค้าที่แปรรูปจากจากทรัพยากรธรรมชาติและใช้แรงงานเข้มข้นต้องการยกระดับสินค้าส่งออกให้มีคุณภาพสูงขึ้นอีกต้องการปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าเพื่อสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศและมีความประสงค์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในการค้าระหว่างประเทศ เขตการผลิตเพื่อการส่งออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีบทบาทมากขึ้นและทั้ง 2 เขตนั้นมียุทธศาสตร์การกระจายอยู่ทั่วประเทศ

ในงานสัมมนาครั้งนี้จะเห็นได้ว่าเมียนมานั้นเป็นจุดเชื่อมระหว่างอินเดียและชาติอาเซียนอื่นๆ ขณะที่อินเดียมีนโยบายมองไปทางตะวันออก (Look East Policy) เมื่อตอนต้นเดือนกันยายนนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยก็ได้ประกาศนโยบายมองไปทางตะวันตก (Look West Policy) เมียนมาจึงอยู่ตรงกลางที่มีคนมองทั้งซ้ายและขวากลายเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีประเทศจีนซึ่งได้มีการลงทุนในเมียนมามาเป็นระยะเวลายาวนานและมีการค้ากับเมียนมาในมูลค่าที่สูงด้วยเช่นเดียวกัน

หากพิจารณาถึงการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและเมียนมาส่งก๊าซธรรมชาติเป็นรายได้หลักที่ขายไทย ขณะที่เมียนมามีการนำเข้าจากประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าชายแดน ดังนั้นมูลค่าการนำเข้าของเมียนจากชายแดนไทยจึงมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 94.1 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยทั้งหมด และผ่านด่านหลักคือแม่สอดและเมียวดี

ในทางตรงกันข้ามการค้าระหว่างอินเดียและเมียนมานั้นจะเป็นการค้าผ่านช่องทางปกติกล่าวคือมีการขนส่งทางเรือเป็นหลัก และไม่นานมานี้อินเดียได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศจากเดิมที่กล่าวว่า เป็นนโยบายที่มองไปทางตะวันออก เป็นให้ความสนใจประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก (Neighboring First Policy) ซึ่งส่งผลให้การค้าชายแดนระหว่างอินเดียและเมียนมาจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นความเชื่อมโยงระหว่างแดนนั้นได้มีการวางแผนชัดเจนในเรื่องของการทำถนนเพื่อเชื่อม 3 ประเทศ อินเดีย เมียนมาและไทย ในปัจจุบันเริ่มมีการก่อสร้างถนนเพื่อเชื่อมระหว่าง Sittwe และ Kallakata

การค้าระหว่างอินเดีย และเมียนมาเริ่มแน่นแฟ้นมากขึ้นเพราะมีสินค้าถึง 22 รายการที่สามารถ ค้ากันได้ระหว่างอินเดียและเมียนมาผ่านข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี สินค้านั้นประกอบไปด้วยเมล็ดมัสตาร์ด ถั่ว ผักและผลไม้สด และ ถั่วเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้อินเดียยังส่งออกผ้าผืน รองเท้า ยารักษาโรค และเครื่องจักรบางชนิดซึ่งเป็นที่ต้องการของเมียนมา การค้าชายแดนนั้นเมียนมา มีการส่งออกถั่ว บุหรี่ รองเท้าเครื่องจักรไฟฟ้าของเล่นเครื่องแก้ว และมีการนำเข้ามอเตอร์ไซค์ ข้าวสาลี ฝ้าย เครื่องประดับแฟชั่นผ้า ข้อสังเกตเมียนมามีการส่งสินค้าที่นำเข้าจากจีนและส่งผ่านไปยังอินเดีย

กล่าวโดยสรุปได้ว่าจากการสัมมนาครั้งนี้เมียนมากลายเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเพื่อเชื่อมต่อระหว่างอาเซียนและอินเดียที่จะต้องวิเคราะห์ต่อไปคือเราจะสร้างเครือข่ายการผลิตระหว่างประเทศโดยอาศัยสิทธิประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียนและอินเดียได้อย่างไรเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มร่วมกันและบทบาทของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีชายแดนติดกับเมียนมาและเป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศอาเซียนอื่นๆต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การค้าชายแดนอย่างไรให้ทันกาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559