จับตา‘กลุ่มเซ็นทรัล’ดึงมืออาชีพสร้างโอกาสลดเสี่ยง

28 กันยายน 2559
จับตากลุ่มเซ็นทรัลขยับตัวครั้งใหญ่ เปิดทางมืออาชีพคุมบังเหียน พร้อมสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น ลดความเสี่ยงในการลงทุน หลังทุ่มงบลงทุนในหลายประเทศแล้วรีเทิร์นไม่สวย เผยหวังระดับองค์กรเป็น truly world-class organizationในเวทีการค้าโลก

[caption id="attachment_101464" align="aligncenter" width="335"] ญนน์ โภคทรัพย์  President of Central Group ญนน์ โภคทรัพย์
President of Central Group[/caption]

หลังการประกาศเสริมทัพผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มเซ็นทรัลที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วยนายญนน์ โภคทรัพย์ President of Central Group อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และนักการตลาดมือฉมังของยูนิลีเวอร์ ไทยนายนิโคโล กาลันเต้ Chief Operating Officer อดีต Managing Partner บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ McKinsey & Company, นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ อดีตรองผู้จัดการการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและ อดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai และยังมีดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นที่ปรึกษาอาวุโส ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลถูกจับตามองว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจนับจากนี้จะเดินหน้าอย่างไร ภายใต้การนำทัพของมืออาชีพ ที่ไม่ใช่ "จิราธิวัฒน์"

แม้นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด จะให้เหตุผลว่า เพื่อรองรับกลยุทธ์การขยายงานของกลุ่มอย่างก้าวกระโดดต่อไป จากปีนี้ที่คาดว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะมียอดขายเติบโตกว่า 20% และต้องการมุ่งขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งประกอบไปด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม รวมทั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ผ่านช่องทางการค้าในหลากรูปแบบโดยเฉพาะทางออนไลน์ และธุรกิจในยุคดิจิตอล

อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งแม่ทัพใหม่ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจาก ผลงานในหลายเวที ที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นการถอนกิจการออกจากประเทศจีน หลังเข้าไปลงทุนผุดสาขาทั้งที่หังโจว เสิ่นหยาง และเฉินตู หลังจากที่เข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่จะปิดสาขาทั้งหมดในปี 2557 โดยที่ยังไม่สามารถสร้างกำไรได้ ขณะที่ตลาดเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่กลุ่มเซ็นทรัลคาดหวังสูง ทำการศึกษาอย่างจริงจัง ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปตั้งบริษัท เซ็นทรัล เวียดนามในปี 2554 และเปิดร้านซูเปอร์สปอร์ต เป็นแบรนด์แรกในปี 2556 ตามด้วยห้างสรรพสินค้าโรบินส์ (หรือโรบินสัน เมืองไทย) ในปีถัดมา รวมทั้งการเข้าซื้อกิจการกลุ่มค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้า และบิ๊กซี เวียดนาม แต่เส้นทางธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัล ในเวียดนามก็ยังไม่สดใส ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ทำให้ผลประกอบการในหลายกลุ่มยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ภารกิจที่แม่ทัพใหม่กลุ่มนี้จะเข้ามาดูแล จึงเท่ากับว่าต้องมาปัดฝุ่นในหลายจุด เพื่อให้มีการจัดวางอย่างมืออาชีพ พร้อมอุดรอยรั่ว ความเสี่ยง และสร้างโอกาสใหม่ ก่อนที่จะเข้าไปลงทุนและต้องเผชิญกับปัญหามากมาย

โดยบทบาทใหญ่สุด น่าจะตกอยู่ที่นายญนน์ ที่รับตำแหน่ง President of Central Group หรือผู้จัดการใหญ่ ตำแหน่งใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นและรายงานตรงกับนายทศ โดยนายญนน์ จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมดูแลทั้ง 9 กลุ่มธุรกิจ (Business Unit) ได้แก่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า, กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค, กลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้าง สินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องใช้ไฟฟ้า, กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์เครื่องเขียน หนังสือ และ ออนไลน์, กลุ่มธุรกิจศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์, กลุ่มธุรกิจบริหารและจัดการสินค้านำเข้า, กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา, กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร และ กลุ่มธุรกิจในประเทศเวียดนาม โดยซีอีโอทั้ง 9 กลุ่มจะขึ้นตรงกับนายญนน์ แทน จากเดิมที่ขึ้นตรงนายทศ

"กลุ่มเซ็นทรัลต้องการสร้างทีมและพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเติบโตไปพร้อมองค์กร ซึ่งถือเป็นพันธกิจ Top Priority ของกลุ่ม เพราะเชื่อว่าทีมที่แข็งแกร่งเป็นรากฐานของความสำเร็จ โดยการเสริมทัพองค์กรครั้งนี้ ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มากด้วยประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคต ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน เพื่อนำพากลุ่มเซ็นทรัลให้เป็น truly world-class organization ในเวทีการค้าระดับโลก" นายทศกล่าว

ขณะที่การดึงมืออาชีพจากแวดวงการเงินเข้ามาเสริมทัพ ทำให้มองว่า กลุ่มเซ็นทรัล จะมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มการเงิน (Financial Unit) ซึ่งมีนายปริญญ์ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร สายบัญชีการเงิน บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้ดูแลอยู่หรือไม่นั้น จากการสอบถามไปยังผู้บริหารระดับสูงกล่าวยืนยันว่า จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ โดยทีมผู้บริหารใหม่ที่เข้ามาเชื่อว่าจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และช่วยวางรากฐานการเข้าไปลงทุน รวมถึงมองหาโอกาส และลดความเสี่ยงในการลงทุนของบริษัทได้ จากในอดีตที่บางครั้งพบว่า การลงทุนแต่ละครั้งจะได้ผลตอบแทนมาไม่คุ้มทุน ทำให้เสียทั้งเงินและโอกาสไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559