ตันจงแยกทางฟูโซ่ทรัค หันปั้นแบรนด์โฟตอน/จับมือพันธมิตรเสริมแกร่ง

28 ก.ย. 2559 | 05:30 น.
ตันจง กรุ๊ปเผย MFTBCบริษัทลูกฯเดมเลอร์ กรุ๊ปที่เยอรมนียึดแบรนด์ฟูโซ่ หวังบริหารเอง ระบุไม่หวั่นเดินหน้าปั้นแบรนด์โฟตอน เสริมทัพความแข็งแกร่งด้วยการจับมือพันธมิตร SCHWING Stetter จากเยอรมนี มั่นใจสิ้นปียอดขายในเครือเติบโตทุกแห่ง

แหล่งข่าวจากบริษัทฟูโซ่ ทรัค ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมบริษัท ตันจงกรุ๊ป จำกัด ได้สิทธิ์ในการประกอบและจำหน่ายรถบรรทุก-หัวลากแบรนด์ฟูโซ่ ทรัค ในไทย และมีระยะเวลาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2559 ซึ่งแต่เดิมคาดว่าจะมีการต่อสัญญาออกไป เพราะบริษัท ตันจงฯ ได้มีการลงทุนสร้างโรงงานเพื่อขึ้นไลน์ประกอบ รวมถึงมีการทำตลาดและขยายเครือข่ายการจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามวันที่ 1 เมษายน 2559 บริษัท Mitsubishi Fuso Truck and Bus Corporation ( MFTBC) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเดมเลอร์ กรุ๊ปที่ประเทศเยอรมนี ได้ตัดสินใจที่จะไม่ต่อสัญญา และมีการฟ้องศาลเพื่อห้ามให้บริษัท ตันจง กรุ๊ป ใช้เครื่องหมายทางการค้า รวมถึงเทคนิคโนว์ฮาวต่างๆและการบริการหลังการขาย ส่งผลให้การดำเนินงานของฟูโซ่ ทรัค ในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในภาวะหยุดชะงัก เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการฟ้องร้องและคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

สำหรับฟูโซ่ ทรัค ที่บริหารงานผ่านตันจง กรุ๊ปในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามียอดขายสะสมประมาณ 8,000 คัน และเมื่อรวมกับประชากรรถของฟูโซ่ที่ขายไปก่อนหน้านั้นในตลาด มีประมาณ1.6 หมื่นคัน ส่วนสต๊อกของฟูโซ่ ทรัค ก่อนหน้านี้มีอยู่ประมาณ 1,200 คัน และตอนนี้เหลืออยู่ 600 คัน ด้านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายจากจุดเริ่มต้น 2 แห่ง ภายในระยะเวลา 6 ปีเพิ่มขึ้นมาเป็น 26 แห่ง ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดในปีแรก 2% และปีที่ผ่านมาทำได้ 6%

“ในเบื้องต้นเรายังดูแลลูกค้าเก่าอยู่ แต่หลังจากนี้ก็ต้องดูว่าศาลจะตัดสินอย่างไร โดยความคืบหน้าหลังจากนี้คาดว่าทาง MFTBC จะยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากBOI เพื่อตั้งโรงงานประกอบในประเทศ เพราะหากนำเข้ามาจากฐานผลิตอื่นๆก็จะต้องเสียภาษีสูง ทำให้ราคาขายเมื่อเทียบกับคู่แข่งแล้วไม่ได้เปรียบ อย่างไรก็ตามเราประเมินว่ากว่าเรื่องนี้จะเรียบร้อย และกว่าจะกลับมาสร้างภาพลักษณ์หรือทำตลาดใหม่อีกรอบน่าจะใช้เวลาอีก 2 - 3ปี ”

ด้านนายชาญชัย ทองดี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด กลุ่มตันจง กรุ๊ป เปิดเผยว่า แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกรณีฟูโซ่ ทรัค แต่บริษัทฯยังมีแบรนด์รถยนต์ที่ดูแลไม่ว่าจะเป็น ซูบารุ ,โฟตอน,ฉางอัน,แมน และล่าสุดได้บรรลุข้อตกลงที่จะร่วมมือกับแบรนด์ SCHWING Stetter จากเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ผลิตโม่ผสมปูนซีเมนต์และจักรกลที่เกี่ยวกับปูนซีเมนต์ชั้นนำของโลก

โดยบริษัทได้ทำการเปิดตัว SCHWING Stetter ด้วยการนำเข้าโม่ผสมปูนขนาด 6 ลบ.ม.และนำมาติดตั้งบนแชสซีย์รถโฟตอน รุ่น Hercules เครื่องยนต์ Cummins 330 แรงม้า ให้แรงบิดสูงสุด1,410 นิวตัน-เมตร ที่ 1,200 รอบต่อนาที สนนราคาเริ่มต้น 2.69 ล้านบาท แต่ในช่วงเปิดตัวทำราคาพิเศษอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท ฟรีค่าแรงและค่าอะไหล่ตลอดการใช้งาน 1ปี หรือ 3 หมื่นกิโลเมตรแรก มูลค่า 5 หมื่นบาท และเงื่อนไขทางด้านการเงิน อาทิ ดาวน์ต่ำเริ่มต้น 4.8 หมื่นบาท ผ่อนนานสูงสุด 60 งวด หรือผ่อนวันละ 1,600 บาท ที่อัตราดอกเบี้ย 4 % และหากจองภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2559 ฟรีเครื่องจ่ายจาระบีอัตโนมัติ 12 จุดมูลค่า 3 หมื่นบาท และรับประกันคุณภาพของแซสซีส์และโม่ผสมปูนตลอดอายุการใช้งาน 2 ปี ไม่จำกัดระยะทาง

“จุดเด่นของเราคือ มีการนำเข้า SCHWING Stetter มาจากโรงงานที่อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทฯลูกที่เยอรมนี ทำการผลิตโม่ผสมปูนขนาด 3- 10 ลบ.ม.และส่งออกกลับไปยังเยอรมนี และยุโรป ส่วนโม่ผสมปูนขนาด 12-15 ลบ.ม.จะผลิตเพื่อจำหน่ายและส่งออกไปยังเยอรมนี ส่วนตลาดในไทยนำมาประกอบที่ โรงงาน TCMA ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โดยจะใช้เวลาผลิตและประกอบประมาณ 15 วัน ซึ่งถือว่ารวดเร็วกว่ากว่าแบรนด์อื่นๆ ที่จะต้องรอกว่า 1 เดือน นอกจากนั้นแล้วราคาจำหน่ายเทียบกับคู่แข่งแบรนด์ญี่ปุ่นพบว่าถูกกว่า 15 – 20 % โดยราคาของค่ายญี่ปุ่นเริ่มต้นที่ 3.2 ล้านบาท”

นายชาญชัย กล่าวต่อว่าแผนงานในอนาคตจะมีการนำเข้ามิกซ์เซอร์รุ่นต่างๆ รวมไปถึงรถคอนกรีตปั๊ม ,อุปกรณ์ยิงปูน เนื่องจากประเมินแล้วว่าความต้องการใช้รถโม่ปูนจะมีเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีตัวเลขรวมประมาณ 1,200 – 1,300 คัน จากปัจจุบันที่มีประมาณปีละ 1,000 คัน เพราะในปีหน้าโครงการต่างๆจากภาครัฐจะมีการเดินหน้า สำหรับเป้าหมายของบริษัทตั้งเป้าการขายไว้ที่ 15 -20 % หรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 100 คัน

ส่วนในอนาคตนั้น กำลังพิจารณาที่จะนำแบรนด์รถใหญ่เข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ส่วนแบรนด์อื่น อาทิ โฟตอน ในส่วนของหัวลากหรือบรรทุกนั้น ผลิตเพื่อป้อนตลาดในไทยเท่านั้น คาดว่าในปีนี้จะมียอดขายประมาณ 150 คัน ส่วนแมน ก็มียอดขายที่ดี และมีการนำเข้าจากจีน ส่วนแผนการประกอบในประเทศไทยนั้นยังไม่มีเนื่องจากนำเข้าได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็น 0% อยู่แล้ว ด้านฉางอัน ช่วงนี้อยู่ระหว่างเคลียร์สต๊อกเก่าที่มีอยู่และในปีหน้ามีแผนที่จะนำรถยนต์นั่งเข้ามาจำหน่าย

“ยอดขายของโฟตอนและรถโม่ผสมปูนในปีนี้คาดว่าจะทำยอดขายได้ 200 – 250 คัน ส่วนตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ รถบรรทุก รถหัวลาก ในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และเมื่อดูจากยอดขายในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามียอดรวมประมาณ 600 คัน ถือว่าแนวโน้มตลาดดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการต่างๆของภาครัฐฯคาดว่าทั้งปียอดขายรวมของตลาดรถบรรทุก-หัวลากจะมีประมาณ 2. 5 – 3 หมื่นคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 2.6 – 2.7 หมื่นคัน ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559