เตือนภัยธุรกิจ : ข้อกฎหมายสำคัญว่าด้วยการจ้างแรงงานในฮ่องกง

27 กันยายน 2559
ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี)ได้เคยเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจ้างงานในฮ่องกงมาบ้างแล้วในบทความขั้นตอนการเปิดร้านอาหารในฮ่องกง ซึ่งผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจในฮ่องกงจะต้องว่าจ้างพนักงานท้องถิ่นที่มีถิ่นที่อยู่ในฮ่องกงให้ได้ก่อน หากไม่สามารถหาพนักงานในท้องถิ่นที่มีความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ที่เหมาะสมตรงกับตำแหน่งงานดังกล่าวผู้ประกอบการก็อาจขออนุมัติจากทางการฮ่องกงเพื่อว่าจ้างพนักงานจากต่างประเทศหรือจากประเทศไทยให้มาทำงานได้ โดยรัฐบาลฮ่องกงได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการว่าจ้างพนักงานต่างชาติเหล่านี้ได้ภายใต้ “โครงการแรงงานเสริม” (Supplementary Labor Scheme - SLS) ซึ่งเป็นกระบวนการออกใบอนุญาตสำหรับการทำงานในฮ่องกงให้กับแรงงานต่างชาติ ที่มีทักษะฝีมือแรงงานจำเพาะที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยแรงงานท้องถิ่น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ประกอบกิจการใด ๆ ในฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทย ร้านนวดไทย ร้านขายของนำเข้าจากไทย จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบและข้อกฎหมายการจ้างงานในฮ่องกงให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนจะจ้างพนักงานมาจากประเทศไทย

ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในฮ่องกงประมาณ 28,000 คน มีร้านอาหารไทยทั้งหมดกว่า 1,000 ร้านทั่วเมืองฮ่องกง และมีหลายร้านที่เป็นของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าไทยต่าง ๆ รวมถึงร้านนวดไทยมากมายซึ่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใน เขตเกาลูนซิตี้ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น แหล่งไทยทาวน์ในฮ่องกง ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการที่เป็นคนไทยส่วนใหญ่ในฮ่องกงจะมีประสบการณ์การทำงานในฮ่องกงมาก่อนเป็นเวลาหลายปีจนกระทั่งสามารถก่อร่างสร้างตัวได้และนำครอบครัวจากไทยมาอยู่ร่วมกันในฮ่องกงเพื่อช่วยกันดำเนินธุรกิจของครอบครัว แต่ผู้ประกอบการไทยส่วนมากมักจะละเลยไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานในฮ่องกงอย่างถี่ถ้วน รวมถึงไม่มีความเข้าใจในรายละเอียดของข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเข้าเมืองเพื่อการท่องเที่ยวที่ทางการฮ่องกงยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางไทยเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งตามกฎหมายฮ่องกงแล้วนักท่องเที่ยวจะไม่สามารถทำงานได้ แม้ว่าจะมีญาติพี่น้องทำธุรกิจอยู่ในฮ่องกงก็ตาม เนื่องจากฮ่องกงมีกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเงื่อนไขคนเข้าเมือง (Breach of conditions of stay) ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกงและจำคุกไม่เกิน 2 ปี

ฉบับนี้บีไอซีมีประสบการณ์เกี่ยวกับความเข้าใจผิดของผู้ประกอบการไทยในฮ่องกงมาแบ่งปันเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้ประกอบการไทยเพิ่มความระมัดระวังป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์เหล่านี้

กรณีแรก เป็นร้านขายอาหารปิ้งย่างขนาดเล็ก เจ้าของร้านมีญาติมาเยี่ยมจากไทยและพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ช่วงเวลาว่างได้แวะลงมาทานอาหารที่ร้านและเนื่องจากเป็นช่วงเวลาพักทานอาหารทำให้มีลูกค้าจำนวนมากรอคิวเพื่อซื้ออาหาร ด้วยความไม่รู้ของญาติจึงช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ภายในร้าน เช่น ปิ้ง/ย่างอาหารบนเตา ทำความสะอาดโต๊ะ จึงเป็นเหตุให้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจับกุมในข้อหาการเข้าเมืองผิดเงื่อนไขไปอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

กรณีที่ 2 เป็นร้านอาหารไทยที่เพิ่งเริ่มดำเนินกิจการมาได้ไม่นาน ระหว่างนั้นเจ้าของร้านมีญาติพี่น้องจากไทยเดินทางมาเยี่ยมอยู่เป็นระยะและพักอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นเหตุให้ญาติได้ใช้เวลาบางส่วนของแต่ละวันอยู่ในบริเวณของร้านอาหาร เช่น ครัว โต๊ะนั่งพักสำหรับพนักงาน และเหตุการณ์ใกล้เคียงกับกรณีแรก คือ เมื่อเป็นช่วงเวลาพักทานอาหารทำให้มีลูกค้าจำนวนมากเข้ามารับประทานอาหาร ญาติจึงอดไม่ได้ที่จะช่วยงานในร้านอาหารเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่การกระทำดังกล่าวอาจกระทำซ้ำมาแล้วหลายครั้งจนเป็นที่ผิดสังเกตและนำมาซึ่งการจับกุมในที่สุด

การช่วยงานภายในร้านอาหารระหว่างการท่องเที่ยวในฮ่องกงนั้น แม้ว่าจะเป็นร้านอาหารของญาติพี่น้องตนเองก็ตาม ก็ไม่สามารถใช้เป็นข้อชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบและข้อกฎหมายของฮ่องกงอย่างเคร่งครัด การช่วยเหลืองานเพียงเล็กน้อยในร้านอาหารอาจทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ฮ่องกงจับกุมและจากเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินการตามกฎหมายทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายผู้ประกอบการและฝ่ายญาติที่มาท่องเที่ยว ในข้อหาการจ้างแรงงานเถื่อนและการกระทำผิดเงื่อนไขคนเข้าเมือง แม้ว่าจะไม่ได้มีเจตนาในการกระทำผิดก็ตาม แต่ถ้าหากถูกดำเนินคดีแล้วผู้ประกอบการและญาติจะต้องเสียเวลาในการขึ้นศาล (District court) อีกทั้งยังต้องเสียทรัพย์สินเงินทองในการว่าจ้างทนายไปโดยไม่จำเป็น ดังนั้น บีไอซีจึงขอเตือนผู้ประกอบการไทยที่ประกอบกิจการในฮ่องกงให้โปรดระมัดระวัง ศึกษาระเบียบและข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้เข้าใจเพื่อรู้เท่าทันในข้อกฎหมายรวมถึงการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับชื่อเสียงและทรัพย์สินของตนเองได้ในอนาคต

ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับลู่ทางการค้าการลงทุนในจีน รวมทั้งความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับเศรษฐกิจจีนได้จากเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี) http://www.thaibizchina.com หรือที่ช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,195 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2559