ชงคสช.ปลดล็อกผังเมืองตั้งรง.นํ้าตาล

26 ก.ย. 2559 | 02:00 น.
กระทรวงอุตสาหกรรม ชง “ประยุทธ์” ใช้ม.44 ปลดล็อกผังเมือง ห้ามตั้งและขยายโรงงานน้ำตาล 14 แห่ง ใน 8 จังหวัด ก.ย.นี้ หวังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วง 5 ปี เงินลงทุนกว่า 1.65 แสนล้านบาท หลังออกใบอนุญาตตั้งใหม่ 22 แห่ง และขอขยายอีก 17 แห่ง ด้านกรมโยธาธิการฯ ไฟเขียว แต่ต้องให้ครม.อนุมัติ

[caption id="attachment_100048" align="aligncenter" width="700"] โรงงานน้ำตาลที่เข้าข่ายติดปัญหาผังเมือง โรงงานน้ำตาลที่เข้าข่ายติดปัญหาผังเมือง[/caption]

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่สอน.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายที่มีความประสงค์จะตั้งโรงงานหรือย้ายโรงงานน้ำตาล รวมทั้งขยายกำลังการผลิตตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา โดยสอน.มีการพิจารณาและออกใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้วจำนวน 22 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิตรวมประมาณ 4.21 แสนตันอ้อยต่อวัน และมีการออกใบรับรองในการขยายกำลังการผลิตอีกจำนวน 17 โรงงาน คิดเป็นกำลังการผลิต 3.36 แสนตันอ้อยต่อวัน โดยให้มีระยะเวลาการก่อสร้างโรงงานและเปิดดำเนินการได้ภายใน 5 ปี นับจากวันออกใบอนุญาต

โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการจะต้องไปเร่งการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ การทำแผนส่งเสริมปลูกอ้อย ที่จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1 ปีแรกควบคู่กับทำอีไอเอ เป็นต้น เพื่อป้องกันให้ผู้ประกอบการที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่สนใจที่จะลงทุนหรือนำไปดองไว้ เพื่อกันสิทธิ์โรงงานอื่น ทำให้ผู้ที่สนใจรายอื่นและชาวไร่อ้อยเสียโอกาสในการสร้างรายได้

ชงแก้ 8 จังหวัดติดผังเมือง

แต่ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสอน.พบว่า ยังมีบางพื้นที่ ที่ไม่สามารถเข้าดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาผังเมืองรวม ที่ห้ามให้มีการตั้งและขยายโรงงานน้ำตาลทราย โดยเฉพาะในพื้นที่ 8 จังหวัด คือจังหวัดชัยภูมิ สระแก้ว พะเยา เชียงราย ปราจีนบุรี นครสวรรค์ สุรินทร์ และบึงกาฬ จึงทำให้มีโรงงานน้ำตาลทรายที่ขอตั้งใหม่จำนวน 10 แห่ง และขอขยายโรงงานน้ำตาลอีก 4 แห่ง รวมจำนวน 14 แห่ง ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้

ดังนั้น ในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งเรื่องไปยังคณะทำงานด้านกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อที่จะขอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจในมาตรา 44 ขอยกเว้นข้อบังคับการใช้ผังเมืองรวม ที่ห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลทรายในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการลงทุน ซึ่งทางคณะทำงานได้พิจารณาแล้ว และให้กระทรวงอุตสาหกรรมประมวลผล ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เพื่อนำเสนอคณะทำงานด้านกฎหมาย เสนอไปยังหัวหน้าคสช.อีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนกันยายนนี้

ปรับแก้กฎหมายใช้เวลานาน

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องใช้มาตรา 44 ในการปลดล็อกผังเมืองดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐบาลชุดนี้ได้มีการประกาศยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในการห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ และมีนโยบายที่จะส่งเสริมการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายขึ้นมาใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ที่ต้องห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมที่มีอยู่แล้ว 50 กิโลเมตร ประกอบกับนโยบายด้านอำนวยความสะดวกของรัฐบาลออกมา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานราชการก็ต้องนำมาปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีอยู่เพราะมองว่าการตั้งโรงงานน้ำตาลจะเป็นประโยชน์กับการพัฒนาประเทศ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชพลังงาน ที่สามารถนำไปต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นไบโอชีวภาพ ไบโอพลาสติก เป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น

หากจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายผังเมืองของจังหวัดต่างๆ ตามขั้นตอน อาจจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายไม่มีความมั่นใจที่จะไปลงทุน และใบอนุญาตตั้งโรงงานหรือขยายโรงงานที่ให้ไป อาจจะหมดอายุก่อนที่โรงงานจะสร้างเสร็จได้ เมื่อรัฐบาลเปิดช่องให้นำเสนอเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยในมาตรา 44 ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงขออำนาจในส่วนนี้มายกเว้นการห้ามตั้งโรงงานน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับกระทรวงพลังงานที่ขอยกเว้นการตั้งโรงไฟฟ้าในหลายพื้นที่ไปแล้ว

ขับเคลื่อนเงินลงทุน1.65แสนล.

เพื่อปลดล็อกปัญหาผังเมืองได้ จะทำให้การลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ เดินหน้าไปได้ เพราะจากที่ประเมินโรงงานน้ำตาลขอตั้งใหม่ทั้ง 22 แห่งนี้ คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับโรงงานน้ำตาลที่ขอขยายกำลังการผลิตอีก 17 แห่ง จะใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งจะสามารถช่วยให้เกิดเงินทุนหมุนเวียน กระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆนี้ ทางสอน.จะเชิญผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายที่ได้ออกใบรับรองการตั้งและขยายโรงงานไปแล้วมาหารือเพื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน และเป็นการติดตามตรวจสอบว่าโรงงานน้ำตาลทรายได้มีการลงทุนจริงหรือไม่ มีการทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ไปถึงไหน เพราะขณะนี้ผ่านมา 1 ปีแล้ว หรือเพียงแค่ขอใบอนุญาตเก็บไว้ เพื่อกีดกันการลงทุนของผู้ประกอบการรายอื่นๆ หรืออาจจะมีการนำไปเก็บไว้สร้างมูลค่าเพิ่มจากการขายบาอนุญาตในอนาคต เพราะหากผู้ประกอบการรายใดไม่มีความคืบหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด ทางสอน.ก็มีสิทธิที่จะถอนใบอนุญาตได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้กำหนดร่วมกันไว้

กรมโยธาฯหนุนหากครม.เห็นชอบ

ด้านนายพิชัย อุทัยเชฎฐ์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผยว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองสามารถผ่อนผันให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตโรงงานน้ำตาลก่อสร้างในพื้นที่ควบคุมทางผังเมืองรวมจังหวัดได้ แต่ทั้งนี้จะต้อง ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) หากใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือจากกระทรวงอุตสาหกรรมแจ้งผ่านมายังกรมแต่อย่างใด ซึ่งตรงนี้มองว่าอาจมีปัญหาติดขัดเกี่ยวกับระยะห่างที่ตั้งโรงงานน้ำตาลที่เดิม 50 กิโลเมตรและ ปัญหาผังเมืองรวมจังหวัดที่ประกาศไปแล้ว และติดปัญหาบริเวณที่เอกชนจะลงทุนโรงงานน้ำตาลเป็นพื้นที่ที่ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้

ด้านแหล่งข่าวจาก โยธาธิการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ผังเมืองรวมจังหวัดนครสวรรค์ ได้บังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา แน่นอนว่า พื้นที่ทั้งจังหวัดจะเป็นพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม อนุญาตให้ ใช้เพื่อการเกษตร ที่อยู่อาศัยบางประเภท โรงงานน้ำตาลบางประเภทที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนโรงงานน้ำตาลฟอกสีไม่สามารถตั้งได้ในพื้นที่สีเขียว ขณะที่ พื้นที่สีม่วง จะมีอยู่บางบริเวณ ได้แก่ บริเวณ อำเภอตาคลี และอำเภอพยุหะคีรี อย่างไรก็ดี ประเมินว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการกำหนดพื้นที่ ให้เอกชนลงทุนบริเวณ ทำเลสำคัญหรือพื้นที่ที่ ห้ามก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมทั้งนี้ หากจะใช้มาตรา 44 ปลดล็อกผังเมือง ให้พัฒนาโครงการที่ขัดต่อการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณนั้นได้ ตามนโยบายรัฐบาล แต่จะต้อง เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เสียก่อน เช่นกัน

เปิดรายชื่อตั้งรง.น้ำตาล

อนึ่ง สำหรับโรงงานน้ำตาลทรายที่ขอตั้งใหม่ 22 โรงงาน เช่น บริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ในพื้นที่อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด กำลังผลิต 2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ พื้นที่อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท น้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ พื้นที่อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) พื้นที่อ.ชำนิ จ.บุรีรัมย์ กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลปราณบุรี จำกัด พื้นที่อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท น้ำตาละครบุรี จำกัด (มหาชน) พื้นที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด พื้นที่อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน

บริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ จำกัด พื้นที่อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 2.8 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด พื้นที่อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก กำลังผลิต 1.8 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท อุตสาหกรรมกัญจน์สยาม จำกัด พื้นที่อ.บุณฑริก จงอุบลราชธานี กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท ไทย ชูการ์ มิล กรุ๊ป จำกัด พื้นที่อ.เชียงคาน จ.เลย กำลังผลิต 2.4 หมื่นตันต่อวัน บริษัท วิวรรธน์การเกษตร จำกัด พื้นที่อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย กำลังผลิต 2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และในเครือบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย ตั้งในจ.เชียงรายและพะเยา อีก 3 แห่ง รวมกำลังการผลิต 3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน(ดูตารางประกอบ)

ส่วนโรงงานที่ขอขยายกำลังการผลิต และติดปัญหาผังเมือง เช่น บริษัท รวมเกษตรกรอุตสาหกรรม จำกัด พื้นที่อ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ขอขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 3.6 หมื่นตันอ้อยต่อวัน บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการณ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 2 โรงงาน ในพื้นที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ขยายกำลังผลิตเป็น 5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และในพื้นที่อ.เมือง ขอขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 1.6 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และบริษัท น้ำตาลสุรินทร์ จำกัด ในพื้นที่อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 2.6 หมื่นตันอ้อยต่อวันเป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559