ชะลอปิดดีล‘มักกะสัน’ คมนาคมลุ้น แนวทางปลดหนี้ร.ฟ.ท.กว่าแสนล้าน

15 กันยายน 2559
เกือบจะจบแต่ก็ไม่จบ สำหรับแผนการนำที่ดินมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาปลดหนี้กับกระทรวงการคลัง ที่มีตัวเลขสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ล่าสุดกรมธนารักษ์ออกมาแสดงความชัดเจนแล้วว่าอาจจะขัดต่อระเบียบกฎหมายกรณีเอาที่ดินจากการเวนคืนไปพัฒนาหารายได้เชิงพาณิชย์ ทำนองว่าเอาที่ดินไปใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์ตามที่ได้ขออนุญาตเอาไว้ จึงขอให้ชะลอแผนการพัฒนาเอาไว้ก่อนเพื่อรอความชัดเจนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าขัดกับวัตถุประสงค์หรือไม่

 ทำเลศักยภาพสูงใจกลางเมือง

"มักกะสัน" เป็นที่ดินแปลงใหญ่ 1 ใน 3 แปลงหลักของ ร.ฟ.ท. อยู่ในทำเลศักยภาพสูง ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังมีความพยายามจะยกเอาที่ดินแปลงดังกล่าวล้างหนี้ ร.ฟ.ท. โดยมีแผนจะนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่ทันสำเร็จ เพราะอดีตนายกฯยุบสภาและเกิดรัฐประหารในเวลาต่อมา มาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็นำปัดฝุ่นอีกครั้ง แถมมีแนวโน้มสูงที่คลังจะได้ที่ดินผืนดังกล่าว

และขบวนรถต่างๆที่ร.ฟ.ท.ใช้งานอยู่ในปัจจุบันบนพื้นที่รวมทั้งสิ้นเกือบ 500 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ย่านนิคมมักกะสันที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยคนรถไฟและลูกหลานสืบทอดรุ่นต่อรุ่นกันมา ต่อเนื่องกับพื้นที่โรงพยาบาล พื้นที่สีเขียวที่เป็นบึงรับน้ำ พื้นที่โรงซ่อมบำรุง ส่วนพื้นที่ที่น่าสนใจซึ่งหลายฝ่ายจ้องกันตาเป็นมันนั้นจะเป็นพื้นที่รายรอบสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์มักกะสันนั่นเอง

ทำเลของที่ดินแปลงดังกล่าวเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อป้อนผู้โดยสารให้กับแอร์พอร์ตลิงค์และสร้างรายได้ในการนำไปปลดภาระหนี้ให้กับร.ฟ.ท. ซึ่งผ่านการศึกษามานับครั้งไม่ถ้วน บางผลการศึกษาขอเสนอใช้งบกว่า 3,000 ล้านบาทเพื่อโยกศูนย์ซ่อมมักกะสันไปตั้งอยู่ที่แก่งคอยเปิดทางให้พัฒนามักกะสันได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากปัจจัยต่างๆทั้งการไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล หรือแรงต้านจากกลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ร.ฟ.ท.ที่แสดงความชัดเจนออกมาแล้วว่าจะไม่ยอมให้ร.ฟ.ท.ประเคนที่ดินทำเลทองแห่งนี้ไปเป็นสมบัติของกระทรวงการคลังด้วยตัวเลขเพียง 6 หมื่นล้านบาท ทั้งๆที่ตัวเลขมูลค่าที่ดินน่าจะสูงหลักแสนล้านบาท

 รอความชัดเจนจากสคร.-คนร.

ต่อกรณีนี้คงต้องติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะสั่งการอย่างไรต่อไป เบื้องต้นนั้นนายอาคมกล่าวว่าขอรอดูความชัดเจนจากผลการพิจารณาของหน่วยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) หรือ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) ที่พิจารณาเรื่องดังกล่าว

โครงการยกที่ดินมักกะสันเพื่อแลกภาระหนี้ของร.ฟ.ท.ครั้งนี้นายมานพ พงศทัต นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวอย่างน่าสนใจว่าเรื่องนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะบุคคลหลายสาขาอาชีพตามที่กระทรวงการคลังแต่งตั้งขึ้นมาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งร.ฟ.ท. กรมธนารักษ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง ฯลฯ ตั้งแต่สมัยที่นายสมหมาย ภาษี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จวบจนมาถึงรัฐบาลปัจจุบันพร้อมกับการตั้งคณะกรรมการประเมินมูลค่าที่ดินระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังจนได้ตัวเลขที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้คือ 6.3 หมื่นล้านบาทกับระยะเวลาครองสิทธิ์ 99 ปีในการนำที่ดินไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ตามที่กระทรวงการคลังต้องการ

 สหภาพฯ หนุนสร้างศูนย์ซ่อมฯ

ด้านนายอำพล ทองรัตน์ รักษาการประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ร.ฟ.ท. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าการชะลอโครงการแลกภาระหนี้ระหว่างร.ฟ.ท.กับกระทรวงการคลังในการเอาที่ดินมักกะสันไปพัฒนาหารายได้เชิงพาณิชย์นั้นสหภาพฯไม่สนับสนุนมาตั้งแต่ต้น โดยเห็นว่าควรนำไปพัฒนาให้เป็นศูนย์การซ่อมบำรุงและผลิตรถไฟ รถไฟฟ้าของร.ฟ.ท.ในการรองรับตลาดอาเซียนน่าจะตรงตามวัตถุประสงค์ของการนำที่ดินที่ได้จากการเวนคืน ซึ่งในเรื่องนี้จะขอรอดูการนำเสนอนโยบายของคณะกรรมการ(บอร์ด)ร.ฟ.ท.ในวันที่ 14 กันยายนนี้อีกครั้งว่าจะเป็นไปในแนวทางใดต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,192 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2559