RTI Radio Taiwan International เสนอข่าวช่วยหญิงไทย

27 ส.ค. 2559 | 14:08 น.
นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า  สถานีวิทยุ RTI Radio Taiwan International ของไต้หวัน (http://thai.rti.org.tw/audioHighLights/?recordId=30046) ได้เสนอข่าว กรณีหญิงไทยที่เดินทางไปทำงานไต้หวัน ดังนี้

“ช่วงนี้ที่เมืองไทย มีข่าวเกี่ยวกับแรงงานไทยข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจ แรงงานไทยในไต้หวันถูกลอยแพและตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร รายการไขปัญหาแรงงานได้ติดตามและสัมภาษณ์หน่วยงานต่างๆ นำเสนอข้อเท็จจริง
แรงงานไทยรายนี้ชื่อว่า นางประนอม อินตะแสน อายุ 43 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่จังหวัดพะเยา เดินทางมาทำงานที่ไต้หวันเมื่อเดือนมีนาคม 2557 กับโรงงานเย็บผ้าฉวนเต๋อ ในนครเถาหยวน ต่อมาโรงงานประสบปัญหาปิดกิจการ กองแรงงาน นครเถาหยวนได้ช่วยโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่ เป็นโรงงานทำขนมชื่อ บริษัท จิ่งเซิ่ง ฟู๊ด ที่เขตผิงเจิ้น นครเถาหยวน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 แต่ทำงานอยู่ได้ไม่กี่เดือน เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2559 นางประนอมโทรศัพท์ให้บริษัทจัดหางานไต้หวันว่าถูกลูกชายนายจ้างลวนลาม เพื่อความปลอดภัย บริษัทจัดหางานจึงพาออกจากโรงงานไปอยู่ที่สำนักงานของบริษัทจัดหางาน วันต่อมานางประนอมโทรศัพท์ร้องเรียนไปที่สายด่วน 1955 ทางศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์สายด่วน 1955 ได้ส่งเรื่องให้กองแรงงาน นครเถาหยวน ดำเนินการช่วยเหลือทันที กองแรงงานฯ ได้ช่วยให้นางประนอมย้ายไปอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินของศูนย์โฮปเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นองค์กรคริสจักร และช่วยยื่นเรื่องให้คณะกรรมการความเสมอภาคทางเพศของนครเถาหยวน ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2559 ทางคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและทะยอยสอบปากคำผู้ร้อง คู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 15 และ 17 มิ.ย.59 และมีการประชุมสรุปผลการตรวจสอบในวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา
ระหว่างที่รอการพิจารณาคดี ผู้ร้องคือนางประนอม ไม่ประสงค์จะย้ายงาน ต้องการแค่รอให้คดีจบสิ้นแล้วเดินทางกลับบ้าน กองแรงงานจึงไม่ได้ดำเนินการโอนย้ายงาน เมื่อเห็นต้องรอเวลานาน และไม่ทราบว่าคดีจะออกมาในรูปไหน ชักจะมีอาการท้อแท้อยากกลับบ้าน ดังนั้น เมื่อ 1 ส.ค. ศูนย์โฮปเซ็นเตอร์ จึงได้ช่วยโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงานแรงงานไทยในไทเปเป็นครั้งแรก หลังรับร้องเรียนแล้ว สนร.ไทย ก็ได้โทรศัพท์เร่งรัดกับฝ่ายเงื่อนไขการทำงานของกองแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลคณะกรรมการความเสมอภาคทางเพศ ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการพิจารณาคดีนี้ ทางคณะกรรมการฯ แจ้งว่า มีกำหนดจะประชุมให้กรรมการสรุปผลในวันที่ 25 ส.ค. 2559 ขณะเดียวกัน สนร.ไทย ได้อธิบายให้นางประนอมทราบและเข้าใจถึงผลดีในการรอการตัดสินคดีของคณะกรรมการฯ และการโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างรายใหม่ นางประนอมยินดีจะรอและโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่ ตามที่ สนร.ไทย เสนอ
สนร. ไทย จึงประสานกับกองแรงงานฯ ช่วยนางประนอมทำเรื่องโอนย้ายไปทำงานกับบริษัท Tripod Technology แม้นางประนอมจะเหลือเวลาทำงานเพียง 10 เดือน แต่บริษัท Tripod Technology ซึ่งนำเข้าแรงงานไทยจากกระทรวงแรงงานไทยผ่านระบบจ้างตรง มีระบบดูแลแรงงานไทยและมีสวัสดิการค่อนข้างดี แรงงานไทยไม่ต้องเสียค่าบริการจัดหางานหรือค่าหัวคิว ไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือนแก่บริษัทจัดหางาน รวมถึงมีเงินโบนัส และได้รับค่าตั๋วเครื่องบินขากลับเมื่อทำงานครบสัญญาฯลฯ โดย Tripod Technology ยินดีให้ความร่วมมือกับ สนร.ไทย รับนางประนอมเข้าทำงาน
ศูนย์โฮปเซ็นเตอร์ร้องไปยัง สนร.ไทย เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นางประนอมได้รับการโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่เมื่อวันที่ 3 ส.ค. และวันถัดมา ผอ.ลัพธวรรณ วอลช์ และเจ้าหน้าที่ สนร.ไทยในไทเป เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจ นางประนอมซึ่งมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสขอบคุณที่สำนักงานแรงงานไทยให้ความช่วยเหลือและเล่าว่า สามารถทำงานได้ และได้รับการดูแลเป็นอย่างดี
แต่จู่ๆ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ทนายชื่อดังในประเทศไทยได้โพสในเฟสบุ๊คว่า นางประนอม แรงงานไทยในไต้หวันตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ ร้องว่าถูกลวนลามมาตั้งแต่ 28 พ.ค. แล้ว แต่ไม่มีผลคืบหน้าใดๆ แถมยังถูกนายจ้างยึดหนังสือเดินทางด้วย โดยที่สำนักงานแรงงานไทยไม่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือใดๆ
ต่อมา เมื่อวันที่เมื่อวันที่ 22 ส.ค. นางประนอมแจ้งกับสำนักงานแรงงานไทยว่า ประสงค์จะเดินทางกลับ เพราะเครียดจัดและไม่ถนัดกับงานที่ทำ แม้ทางโรงงานจะพยายามสอน แต่เนื่องจากตนไม่ถนัดกับการใช้คอมพิวเตอร์ จึงท้อแท้ ไม่อยากทำ ทางสำนักงานแรงงานไทยจึงประสานกับนายจ้างและบริษัทจัดหางานขอให้ส่งกลับประเทศในวันที่ 26 ส.ค. หลังเข้าร่วมฟังผลการประชุมแล้ว โดยนายจ้างใหม่ยินดีออกค่าตั๋วเครื่องบินกลับประเทศให้ นอกจากจ่ายค่าจ้างที่ทำงานมา 20 วัน ประมาณ 17,000 เหรียญไต้หวัน
สำนักงานแรงงานไทยในไทเปกล่าวว่า สายด่วน 1955 ที่นางประนอมร้องเรียนไปนั้น เป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องทุกข์ของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ไม่ใช่เป็นของสำนักงานแรงงานไทย และสำนักงานแรงงานไทย ได้รับแจ้งคดีของนางประนอมเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค. หลังรับแจ้งแล้วได้ช่วยดำเนินการโอนย้ายไปอยู่กับนายจ้างใหม่ที่ได้มาตรฐานภายใน 3 วัน และยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจในวันที่ 4 ส.ค. ขณะเดียวกันก็ได้เร่งรัดไปยังคณะกรรมการฯ ให้พิจารณาคดีความของนางประนอมเร็วขึ้น
นางลัพธวรรณ วอลช์ ผอ.สำนักงานแรงงานไทยในไทเปถือโอกาสประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยทราบว่า เมื่อแรงงานไทยประสบปัญหา สามารถร้องเรียนไปได้ที่สำนักงานแรงงานไทยในไทเป เบอร์โทรศัพท์ 02-27011413 หรือเฟสบุ๊ค สำนักงานแรงงาน ไทเป หากจำเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ ให้ดูจากคู่มือแรงงานไทยที่ได้รับแจกทุกคนจากกระทรวงแรงงานก่อนการเดินทาง
ด้านกองแรงงานนครเถาหยวนชี้แจงว่า ได้ให้ความช่วยเหลือนางประนอมทันทีที่ได้รับคำร้อง โดยให้บริษัทจัดหางานย้ายนางประนอมไปอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินที่มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน และจะช่วยโอนย้ายไปทำงานกับนายจ้างใหม่ แต่นางประนอมไม่ประสงค์จะทำงาน ตั้งใจรอผลคดีอย่างเดียว ส่วนเรื่องคดีลวนลาม ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการความเสมอภาคทางเพศตั้งกรรมการตรวจสอบอย่างเที่ยงธรรม โดยมีการสอบปากคำผู้ร้อง คู่กรณี รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรัดกุมตามขั้นตอน
โฮปเซ็นเตอร์ หน่วยงาน NGO ก็ยืนยันว่า คดีของนางประนอมนั้น กองแรงงานนครเถาหยวนดำเนินการทันที มิได้ชักช้า โดยจัดให้นางประนอมมาอยู่ที่บ้านพักฉุกเฉินของโฮปเซ็นเตอร์ ส่วนสำนักงานแรงงานไทย ทางโฮปฯ ช่วยนางประนอมแจ้งเรื่องไปเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 59 และได้รับความช่วยเหลือทันที โอนย้ายนางประนอมไปทำงานกับนายจ้างใหม่ภายในเวลา 3 วัน
ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการความเสมอภาคทางเพศของนครเถาหยวน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 11 คน เมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสรุปผลได้ เนื่องคำให้การของนางประนอมค่อนข้างสัปสน เช่นวันเวลาเกิดเหตุและร้องเรียนคลาดเคลื่อน เกิดเหตุในวันที่ 29 พ.ค. และร้องเรียนไปยัง 1955 เมื่อ 30 พ.ค. ไม่ใช่วันที่ 28 พ.ค. ตามที่ให้การ ฯลฯ ประกอบกับยังต้องตรวจสอบในส่วนของคู่กรณีเพิ่มเติม จึงคาดว่า จะสามารถสรุปผลในคดีนี้ได้ ในอีก 1 เดือนข้างหน้า”
นายธีรพล กล่าวว่า จากการรายงานข่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานทางการไต้หวัน และสำนักงานแรงงานไทยกรุงไทเป (สนร.ไทเป) ได้ดำเนินการช่วยเหลือนางประนอมในทุกด้าน ทั้งการเร่งรัดคดีและการดูแลระหว่างการพิจารณาคดี ตลอดจนการประสานให้เข้าไปทำงานกับบริษัท Tripod Technology เพื่อมีรายได้ระหว่างรอผลคดีซึ่งบริษัทฯ นี้ ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับประเทศให้นางประนอมด้วย โดยการประสานงานของ สนร.ไทเป แต่อย่างไรก็ดีมีบางประเด็นที่มีการนำเสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงของบางท่านผ่านสื่อไทยในหลายโอกาส โดยเฉพาะการเรียกเก็บเงินรายเดือน การใช้สายด่วน 1955 ของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ค่าใช้จ่ายการเดินทาง ตลอดจนการดูแลของเจ้าหน้าที่ตรวจคนหางาน ณ ท่าอากาศยานฯ จึงขอนำเรียนข้อเท็จจริงดังนี้
1. การเรียกเก็บเงินรายเดือน โดยระเบียบว่าด้วยมาตรฐานการเรียกเก็บค่าบริการของบริษัทจัดหางานไต้หวัน (ฉบับแก้ไข) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ได้กำหนดค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดหางานไต้หวันได้รับอนุญาตให้เรียกเก็บได้ เป็นค่าบริการดูแลรายเดือน คือ ปีที่หนึ่งเดือนละไม่เกิน 1,800 เหรียญไต้หวัน ปีที่ 2 เดือนละไม่เกิน 1,700 เหรียญไต้หวัน และปีที่ 3 เดือนละไม่เกิน 1,500 เหรียญไต้หวัน ส่วนแรงงานต่างชาติที่ทำงานครบสัญญาจ้าง 3 ปี หรือทำงานครบ 2 ปี และ/หรือมีการยุติสัญญาจ้างเดินทางกลับประเทศไทย หากประสงค์จะเดินทางกลับมาทำงานในไต้หวันรอบใหม่กับนายจ้างรายเดิม บริษัทจัดหางานไต้หวันสามารถเรียกเก็บค่าบริการดูแลเดือนละไม่เกิน 1,500 เหรียญไต้หวัน แต่ทั้งนี้ บริษัทจัดหางานไต้หวันจะต้องทำความตกลงในรายละเอียดการให้บริการและอัตราค่าบริการดูแลกับแรงงานต่างชาติอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน จึงจะเรียกเก็บได้ โดยกำหนดให้บริษัทจัดหางานไต้หวันต้องรับผิดชอบ การรับส่งแรงงานต่างชาติขณะเดินทางเข้า-ออกไต้หวัน การพาแรงงานต่างชาติไปรับการตรวจโรค ทำใบถิ่นที่อยู่ ฯลฯ ตามกฎหมายไต้หวัน และจะต้องจัดให้มีล่ามแปลภาษาขณะให้บริการดูแลแรงงานต่างชาติด้วย เช่น การพาไปรับการรักษาโรคที่สถานพยาบาล การให้คำปรึกษาปัญหาส่วนตัว เป็นต้น ซึ่งส่วนนี้นางประนอม ก็รับทราบ
2. สายด่วน 1955 เป็นหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนของกระทรวงแรงงานไต้หวัน มีบริการ 4 ภาษา คือ ภาษาอินโดนีเซีย ภาษาไทย ภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษ เป็นช่องทางที่จัดทำขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำและร้องเรียนแก่แรงงานต่างชาติ เพื่อปกป้องสิทธิการทำงาน กรณีที่กระทรวงแรงงานแนะนำสายด่วน 1955 ให้แรงงานไทยทราบในอบรมก่อนเดินทางไปไต้หวัน เนื่องจากเป็นหมายเลขที่จดจำได้ง่าย พร้อมได้ให้คู่มือการติดต่อสำนักงานแรงงานไทยในไต้หวัน เพื่อติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อแรงงานไทยประสบปัญหาด้วย ซึ่งกรณีเช่นเดียวกับสายด่วน 1694 ของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่ให้บริการแรงงานต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศไทย มีล่ามให้บริการแต่ละประเทศ
3. ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ซึ่งมีระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนหางาน พ.ศ. 2547 อนุญาตให้เรียกเก็บเป็นค่าบริการจัดหางานตามอัตราค่าจ้าง 1 เดือน และค่าใช้จ่ายในการจัดหางานแตกต่างกันตามฐานเงินเดือนของแต่ละประเทศ ไม่เกิน 3 เท่าของค่าจ้างรายเดือนที่คนงานได้รับจากนายจ้างในเดือนแรก เป็นระเบียบที่ช่วยลดปัญหาการเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูง ดังนั้น ค่าจ้างเดือนแรกที่นางประนอมฯ เดินทางไปทำงานคือ 19,047 เหรียญไต้หวัน อัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่สามารถเรียกเก็บได้ คือ 19,047 x 4 = 76,188 เหรียญไต้หวัน หรือเป็นเงินไม่เกิน 83,807 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญไต้หวัน = 1.1 บาทโดยประมาณ)
4. เจ้าหน้าที่ตรวจคนหางาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติตามกฎหมายตั้งอยู่ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 จุด คือ ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิขาออก (อาคารผู้โดยสารขาออกชั้น 4 ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอินแถว P) และด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิขาเข้า (ชั้น 2 บริเวณสายพานรับกระเป๋าหมายเลข 23) ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน ทำหน้าที่ตรวจดูแลคนหางานที่เดินทางไป-กลับ จากต่างประเทศ รวมถึงการช่วยเหลือคนหางานที่ถูกส่งกลับจากต่างประเทศในกรณีต่าง ๆ ซึ่งเป็นการปฏิบัติภารกิจตามปกติ และ เมื่อนางประนอมฯ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ จึงเดินทางเข้าไปรับด้านในสนามบินเพื่ออำนวยความสะดวกตามหน้าที่
“จึงขอได้รับทราบ ถึงกระบวนการต่างๆ ในการปฏิบัติงานสำหรับคนงานที่ไปทำงาน ในแต่ละประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน แต่การดูแลช่วยเหลือนั้นเป็นนโยบายของกระทรวงแรงงาน ที่จะต้องดูแลช่วยเหลือคนงานที่ไปทำงานต่างประเทศทุกคน หากเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยเร่งด่วน ภายใต้ข้อระเบียบของประเทศนั้น ๆ สำหรับการพิจารณาคดีในกรณีนี้ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมซึ่ง สนร.ไทเป จะได้ติดตามเร่งรัดโดยเร็ว" นายธีรพล กล่าวในที่สุด