สภาวิศวกรระบุ 3 ปัจจัยเสี่ยงโครงสร้างอาคารสูงรับแผ่นดินไหวในกทม.

25 ส.ค. 2559 | 11:40 น.
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559        ที่ผ่านมา ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร ระบุว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแม้จะถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แต่จะไม่กระทบถึงโครงสร้างอาคารในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากจุดที่เกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างอยู่ไกลจากกรุงเทพมหานครหลายร้อยกิโลเมตร อีกทั้งเป็นแผ่นดินไหวที่เกิดลึกลงไปใต้พื้นดินถึง 80 กม. จึงไม่เกิดผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างอาคาร

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคารสูงในกรุงเทพมหานครได้ นั้น จะต้องมี 3 ปัจจัย คือ 1. ต้องมีขนาดใหญ่ระดับ 7.5-8.0 ตามมาตราริกเตอร์ขึ้นไป 2. ต้องเกิดห่างจากกรุงเทพมหานคร ในระยะไม่เกิน 300-400 กม. และ 3. อาคารต้องเป็นอาคารเก่าที่อ่อนแอ โครงสร้างไม่แข็งแรง

สำหรับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 ยังไม่เข้าปัจจัยทั้งสามนี้ จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอาคาร แค่ทำให้อาคารสั่นไหวหรือโยกตัว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ และอาคารในกรุงเทพมหานครก็เคยเกิดการโยกตัวภายใต้แผ่นดินไหวมาแล้วหลายครั้ง เช่น ปี 2547 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ในมหาสมุทรอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร. อมร พิมานมาศ กล่าวต่อว่า โอกาสที่กรุงเทพมหานครจะเผชิญแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ในรัศมี 300-400 กิโลเมตร ในอนาคตยังคงมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาเป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่มีพลังและอยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร ในระยะที่ส่งผลต่อโครงสร้างอาคารสูงได้ จึงไม่ควรประมาท โดยเฉพาะอาคารสูง พร้อมทั้งแนะนำเจ้าของอาคารให้ทำการประเมินความแข็งแรงและเสริมความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารต่อไป