เศรษฐกิจไทยโชว์แกร่ง ครึ่งปีโต 3.4% ปัจจัยหนุนลงทุนภาครัฐ

19 ส.ค. 2559 | 03:00 น.
เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัว 3.5% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 3.2% ในไตรมาส 1/2559 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วจีดีพีไตรมาส 2 ขยายตัวจากไตรมาส 1 ( QoQ) ที่ 0.8% รวมครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัว 3.4%

[caption id="attachment_86319" align="aligncenter" width="700"] ประมาณการเศรษฐกิจปี 2559 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2559[/caption]

บริโภคครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้น

โดยแรงขับเคลื่อนมาจาก 1.การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัว 3.8% เร่งขึ้นจาก 2.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13ไตรมาสที่ 4.8% เทียบกับการปรับลดลง 26.6% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่การลงทุนรวมขยาย 2.7% โดยการลงทุนภาครัฐยังคงขยายตัวได้ดี ถึง10.4%

2. ภาคการผลิต สาขาโรงแรม ภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง การผลิตสาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งผ่อนคลายลงและราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาสโดยสาขาเกษตรกรรมลดลงเล็กน้อย 0.1% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง 1.4%ในไตรมาสก่อน

3 ภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวดีขึ้นที่ 2% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ (โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ) ยาสบู ยานยนต์ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 64.4% เพิ่มขึ้นจาก 63.6% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวสูงต่อเนื่อง 15.5% (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวสูง15.8% และ 14.7% ตามลำดับ) แต่ลงทุนภาคเอกชนลดลง 2% เทียบไตรมาสแรกที่ขยายตัว 7% โดยที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวตลอดโดยจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว 8.2% จาก 5% และรายได้เพิ่ม 14.7% (387.6 พันล้านบาท)

[caption id="attachment_86320" align="aligncenter" width="335"] ปรเมธี วิมลศิริ  เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรเมธี วิมลศิริ
เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)[/caption]

เบิกจ่าย-ลงทุนรัฐ 1.65 ล้านล้านบ.หนุน

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559 สศช.ยังคงประมาณการขยายตัวที่กรอบ 3.0-3.5% หรือเฉลี่ยที่ 3.3 % เร่งขึ้นจากการขยายตัว 2.8% ในปี 2558 โดยมี 5 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากปี 2558 โดยครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีเม็ดเงินภาครัฐ (งบประมาณประจำปีงบเหลื่อมปี และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการเบิกจ่ายจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของการดำเนินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน
โดยปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 50,099 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา 7 โครงการ วงเงิน 430,587 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 โครงการ วงเงิน 249,890 ล้านบาท

2. แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 - เมษายน 2559 จำนวน 11 มาตรการ วงเงินรวม 671,442 ล้านบาท (ไม่รวมมาตรการภาษี)แบ่งเป็น มาตรการสินเชื่อวงเงิน 481,500 ล้านบาท และมาตรการด้านการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 189,942 ล้านบาทซึ่งมีการเบิกจ่ายในปี 2558 แล้ว 229,628 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 559 มีการเบิกจ่ายแล้ว 217,033 ล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปี 2559 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจากกรอบมาตรการดังกล่าวอีกประมาณ 100,488 ล้านบาท

ท่องเที่ยวขยายดีต่อเนื่อง

3. จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 16.6 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 881.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.0% และ 18.5% ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวจากตลาดหลัก ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้ง จีน สหรัฐฯ และอาเซียน ( 22.3% 14.2% และ 9.8% ตามลำดับ) ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากโซนยุโรปและรัสเซียฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ารวมทั้งปี 2559 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 33.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1.74 ล้านล้านบาท (12.4% ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 12.1% และ 13.9% ตามลำดับ

4. ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มทรงตัวจากระดับในไตรมาสที่ 2 ของปี และคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2559 จะอยู่ในช่วง 35.0 - 45.0 ดอลลารสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 50.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของภาคเอกชน และช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ

5. การปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกรที่ถึงจุดตํ่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2559 ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส และในกรณีฐานคาดว่าการผลิตภาคเกษตรในไตรมาสที่ 3 จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาสก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี

ชี้ปัจจัยหนุนศก.มีมากกว่าเสี่ยง

“เศรษฐกิจปีนี้ ยังเติบโตได้ในกรอบ3.0-3.5% ค่อนไปในด้านสูง จากปัจจัยหนุนที่มีมากกว่าปัจจัยเสี่ยง โดยแรงขับเคลื่อนหลักยังมาจากการใช้จ่ายภาครัฐและภาคท่องเที่ยว ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องของเศรษฐกิจโลกหรือเบร็กซิทก็ดียังไม่รุนแรง”

อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงในครึ่งปีหลังนี้ยังมี ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในเกณฑ์ตํ่ากว่าที่คาดไว้ ตามความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในครึ่งปีแรกและผลกระทบเพิ่มเติมจากผลการลงประชามติในอังกฤษ (เบร็กซิท)ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังรวมทั้งยังส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปหรืออียูและประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทนุ ใกลช้ ดิ กบั กลุ่มประเทศยูโรโซนและอังกฤษขยายตัวตํ่ากว่าที่คาดการณ์ไว้

โดยในกรณีที่ไม่มีปัจจัยลบอื่นๆ เพิ่มเติมคาดว่าผลกระทบดังกล่าวต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังอยู่ในขอบเขตจำกัด โดยในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมทั้งปีจะขยายตัว 3.1% ใกล้เคียงกับการขยายตัว3.0% ในปี 2558 แต่ตํ่ากว่า 3.2% จากที่คาดการณ์เดิม โดยต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทั้งพัฒนาการทางการเมือง และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในอังกฤษและอียูซึ่งเป็นผลจากการลงประชามติ

ศก.โลกชะลอ-บาทแข็งฉุดส่งออก

2. ความผันผวนท่ามกลางแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจสำคัญๆ ในช่วงครึ่งปีแรกและความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังการลงประชามติในอังกฤษ ทำให้หลายประเทศมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีแนวโน้มเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเป็นเดือนธันวาคม2559 ถึงไตรมาสแรกของปี 2560 ทำให้เงินบาทเริ่มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าทั้งปีมูลค่าส่งออกในรูปดอลลาร์จะติดลบ 1.9%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,184 วันที่ 18 - 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559