นำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยกระฉูด ยอดครึ่งปี 1.04 แสนล้าน/ครึ่งหลังยังแรงสวนเศรษฐกิจ

05 ส.ค. 2559 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

6 เดือนไทยนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยพุ่งกระฉูด ยอด 8 กลุ่มแตะ 1.04 แสนล้าน โตกว่า 17% เสื้อผ้าและรองเท้าเครื่องสำอาง นาฬิกา นำสินค้ายอดฮิตแห่นำเข้า 3 อันดับแรก วงการระบุผลจากภาษีนำเข้าลด คนไทยกระเป๋าหนัก นักท่องเที่ยวต่างชาติลูกค้าหลัก ชี้แนวโน้มครึ่งหลังยังแรงไม่ตก

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ระบุช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ไทยมีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมูลค่ารวม 3.31 ล้านล้านบาท ขยายตัวลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการนำเข้าสินค้าที่จัดอยู่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยในช่วงเวลาดังกล่าว กลับพบมีมูลค่า และอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้น

ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลใน 8 กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย พบ 3 กลุ่มที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดประกอบด้วย อันดับ 1 เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 28,313.05 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(ในจำนวนนี้มีการนำเข้าเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป มูลค่า 14,166.3 ล้านบาท ขยายตัว 24.3%) อันดับ 2 เครื่องสำอาง มูลค่านำเข้า 19,443 .8 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30% อันดับ 3 นาฬิกาและส่วนประกอบ มูลค่า 14,476.1 ล้านบาท ขยายตัว 0.6%

ส่วนอันดับ 4-9 ประกอบด้วย ผลไม้และของปรุงแต่งจากผลไม้ มูลค่า 16,550.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.7%, เครื่องประดับอัญมณี มูลค่า 12,488.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.3%, กระเป๋า มูลค่า 7,512.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%, เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 5,783.22 ล้านบาท ลดลง 0.06% และกล้องถ่ายรูป มูลค่า 19.4 ล้านบาท ลดลง 53.4% ทั้งนี้หากรวมมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้ง 8 กลุ่มช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 104,586.4 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการนำเข้า 88,934.9 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.5%

นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นข้างต้น (5 อันดับแรกไทยนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากจีน เวียดนาม กัมพูชา บังกลาเทศ และอิตาลี) มองว่าเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ 1. มีสินค้าเสื้อผ้าแบรนด์เนมชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาขยาย / ช็อปจำหน่ายในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจากยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น เพื่อรองรับความต้องการของคนไทย ต่างชาติทำงานในไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง 2.การนำเข้าเสื้อผ้าเกรดรอง หรือมีราคาถูกกว่ากลุ่มแรกเข้ามาตามแนวชายแดนทั้งจากจีน กัมพูชา เวียดนาม

"นอกจากนี้มองว่าเป็นผลจากไทยได้ทำเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับหลายประเทศ และภาษีนำเข้าลดลงเป็น 0 จูงใจนำเข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น บางยี่ห้อก็นำเข้า 100% เข้ามาจำหน่ายเช่นแบรนด์ยูนิโคล่ จากญี่ปุ่น แนวโน้มเดือนที่เหลือของปีนี้น่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น"

ด้านนางเกศมณี เลิศกิจจา นายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวว่า การนำเข้าเครื่องสำอางที่เพิ่มขึ้น มองว่าเป็นผลจากการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบเอฟทีเอต่างๆ ที่ไทยทำไว้กับคู่ค้า เช่น กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ (5 อันดับแรกไทยนำเข้าเครื่องสำอางจาก ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลง รวมทั้งผลจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ของผู้ผลิต หรือเจ้าของแบรนด์ เช่น จากเกาหลีใต้ จากญี่ปุ่น ขณะที่คนไทยมีกำลังซื้อและกล้าซื้อมากขึ้น เพราะมีความรู้สึกใช้ของนอกแล้วเท่ อย่างไรก็ดีทางกลับกันไทยก็มีศักยภาพในการผลิตและการส่งออกเครื่องสำอางไปต่างประเทศปีหนึ่งเป็นแสนล้านบาทเช่นกัน

"ปีที่แล้วไทยนำเข้าเครื่องสำอางประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่มีการส่งออกมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งการนำเข้าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มองว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะเครื่องสำอาจเป็นสินค้าแฟชั่น น้ำหอม ก็จัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอางซึ่งทุกปีเราก็มีการนำเข้าน้ำหอมมาจากฝรั่งเศสจำนวนมาก เพราะเขามีชื่อเสียงด้านนี้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,180 วันที่ 4 - 6 สิงหาคม พ.ศ. 2559