กรม สบส. ยัน พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ไม่กระทบอาชีพนวดคนตาบอด

02 ส.ค. 2559 | 07:39 น.
อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ยืนยันพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ไม่มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพนวดของผู้พิการทางสายตากว่า 4,500 คนอย่างแน่นอน ชี้หลังมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 กันยายน 2559 จะผ่อนผันให้ประกอบอาชีพตามปกติต่อได้อีก 180 วัน พร้อมเร่งรับรองหลักสูตรที่ได้มาตรฐาน เพื่อสามารถประกอบอาชีพได้ต่อเนื่องโดยขณะนี้มีหลักสูตรกลาง 255 ชั่วโมงรองรับอยู่แล้ว

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับผู้แทนมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพนวดของผู้พิการทางสายตา อาทิ ผู้แทนศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ผู้แทนมูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้แทนสมาคมส่งเสริมการนวดแผนไทยคนตาบอด ผู้แทนชมรมสุขสัมผัสพัฒนาการนวดไทย เป็นต้น เพื่อเยียวยาแก้ไขปัญหาภายหลังที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ในวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยมีนายแพทย์เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ว่าจากข้อมูลที่ได้จากมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ในขณะนี้มีสถานประกอบการนวด ที่ให้บริการโดยผู้พิการทางสายตา ประมาณ 1,000 แห่งมีผู้ให้บริการประมาณ 4,500 คนทั่วประเทศ

ผลการหารือในวันนี้มี 3 ประเด็น ประเด็นแรก คือ หลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 กันยายน 2559 กรม สบส.จะผ่อนผันให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ได้แก่ สปา นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมความงาม จำนวน 1,609 แห่ง ที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานจากกรม สบส. รวมทั้งสถานบริการนวดของผู้พิการทางสายตา สามารถให้บริการต่อไปอีก 180 วัน ในระหว่างนี้ให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับกรมสบส.ควบคู่กันไปด้วย

ประเด็นที่สอง ในกรณีของผู้พิการทางสายตาที่ประกอบอาชีพนวดมาก่อนแล้ว และผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมูลนิธิช่วยคนตาบอดในหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา 255 ชั่วโมง สามารถยื่นขออนุญาตเป็นผู้ให้บริการนวดกับกรมสบส.ได้ทันที เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวกรมสบส.ได้ใช้เป็นหลักสูตรกลาง 1 ใน 11 หลักสูตรที่ให้การรับรอง

ประเด็นที่สาม ในกรณีของผู้พิการทางสายตาที่ไม่ได้สำเร็จการอบรมจากหลักสูตรที่กล่าวมาข้างต้น กรมสบส.ได้วางแนวทาง โดยจะดำเนินการเร่งรับรองหลักสูตรที่เปิดอบรมไม่ว่าจะเป็นการนวดสำหรับผู้พิการทางสายตา 330 ชั่วโมง , 800 ชั่วโมง  และ1,500 ชั่วโมงก็ตาม  โดยจะนำ มาเทียบกับหลักสูตรฯกลาง  255 ชั่วโมงที่ได้รับการรับรองว่าได้คุณภาพ มาตรฐาน ทั้งเนื้อหาและวิทยากรที่สอนว่ามีความรู้ความสามารถตรงกับสาขาที่สอนหรือไม่ หากไม่ตรงตามเกณฑ์ก็จะดำเนินการส่งเสริมให้ผู้พิการสายตาได้รับการอบรมเพิ่มเติม เพื่อให้ได้มาตรฐานและได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการนวดกับกรมสบส.

“จึงขอให้ผู้พิการทางสายตาที่ประกอบอาชีพนวดอยู่ในขณะนี้ คลายกังวลได้ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและอาชีพนวด มีคุณภาพมาตรฐาน สร้างรายได้ และเป็นการส่งเสริมสุขภาพให้ประชาชนอย่างแท้จริงทั้งนี้หากผู้พิการทางสายตารายใหม่ที่ต้องการประกอบอาชีพนวดก็สามารถเข้ารับการอบรมหลักสูตรนวดไทยเพื่อสุขภาพสำหรับผู้พิการทางสายตา 255 ชั่วโมงที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมูลนิธิช่วยคนตาบอดได้” อธิบดีกรม สบส.กล่าว