สภาพคล่องเดือน มิ.ย.59 ตึงตัวต่อเนื่อง...ตามการเพิ่มของสินเชื่อ

25 ก.ค. 2559 | 10:30 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) พร้อมประเมินแนวโน้มในระยะถัดไปไว้ ดังนี้

สินเชื่อเดือนมิถุนายน เร่งตัวขึ้น จากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก

เงินให้สินเชื่อสุทธิปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.3 หมื่นล้านบาท สู่ระดับ 10.52 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 2.98%YoY และ 0.46%YTD โดยภาพรวมสินเชื่อเดือนมิถุนายนขยับขึ้นจากสินเชื่อในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ ขณะที่สินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กยังหดตัว เนื่องจากยังมีผลกระทบจากสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งยังคงมียอดการชำระคืนอยู่ในระดับสูงกว่ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่

เงินฝากยังคงปรับลดลงเล็กน้อย 2.9 พันล้านบาท จากเดือนก่อน จากการครบกำหนดของเงินฝากประจำและเงินฝากประจำแบบพิเศษในหลายธนาคาร ขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งพบว่ามีการไหลเข้าของเงินฝากออมทรัพย์จากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่

จึงทำให้ตัวเลขภาพรวมเงินฝากทั้งระบบลดลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 11.226 ล้านล้านบาท เติบโต 0.27% YTD เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อน  อย่างไรก็ตาม เงินฝากของเดือนมิถุนายนยังคงเติบโต 1.56% YoY เพราะเทียบกับฐานที่ต่ำของช่วงเดียวกันปีก่อน

เครื่องชี้สภาพคล่อง..ตึงตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า

สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เดือนมิถุนายน 2559 ตึงตัวขึ้นตามทิศทางฟื้นตัวของสินเชื่อ และการไหลออกของเงินฝาก โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นสู่ระดับ 91.41% เทียบกับระดับ 90.9% ในเดือนพฤษภาคม สอดคล้องกับทิศทางของเครื่องชี้สภาพคล่องอีกตัวหนึ่ง คือ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งปรับลดลงมาที่ระดับ 20.03% จากระดับ 21.48% ในเดือนก่อนหน้า

ทิศทางสภาพคล่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 เน้นรักษาสมดุล เพื่อประคองผลตอบแทนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

แนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 คาดว่า ธุรกิจหลักอย่างเช่นเงินให้สินเชื่อมีโอกาสฟื้นตัวจากช่วงครึ่งแรกของปี โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธุรกิจในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการลงทุนระยะยาวที่ได้รับอานิสงส์จากความก้าวหน้าในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งจะทยอยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ขณะที่ สินเชื่อรายย่อยน่าจะเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในช่วงท้ายปีเมื่อสินเชื่อเช่าซื้อทยอยปรับตัวดีขึ้นหลังผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกทยอยสิ้นสุดลง ขณะที่ทิศทางของเงินฝาก คาดว่าขยายตัวในระดับต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการสินเชื่อที่คงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผนวกกับการให้ความสำคัญในเรื่องบริหารต้นทุนการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจมีผลต่อทิศทางของสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก และเงินให้กู้ยืม ที่ยังทรงตัวสูงใกล้เคียงกับระดับปัจจุบัน อันส่งผลดีต่อการประคองผลตอบแทนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในระยะที่เหลือของปีนี้