เดินหน้าตั้ง ‘กองทุนบำนาญภาคบังคับ’ สรุปรูปแบบเสนอคลังก่อนสิ้นปี /กองทุนการออมรับลูกบริหารร่วม

19 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเดินหน้าศึกษาตั้ง"กบช.ภาคบังคับ" คาดสรุปรูปแบบเสนอคลังก่อนสิ้นปี ขณะที่ต้องประเมินผลตอบแทน- อัตราเงินเฟ้อ- เพดานเงินนำส่งและฐานรายได้ หลังพบคนไทยออมต่ำต่อเดือนต่อหัว 30-40% ด้าน กอช.รับลูกบริหารร่วม แจงต้องแก้กฎหมาย พ.ร.บ. กอช. ย้ำให้ประชาชนเป็นสมาชิก รับเงินอุดหนุนจากรัฐเต็มแม็ก

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาพร้อมกำหนดกรอบตลอดจนการเครื่องมือเพื่อให้เกิดการออมภาคบังคับขึ้น ในลักษณะกองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการออมและมีรายได้เพียงพอหลังวัยเกษียณ ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากเพราะเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังกังวล เนื่องจากยอดการออมต่อหัวต่อเดือนของคนไทยยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำ 30-40% ของรายได้ซึ่งจะต้องศึกษาเพื่อเสนอให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอย่างช้าที่สุดภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ อดีตที่ผ่านมาปี 2553 สศค.ได้เสนอให้จัดตั้ง กบช. เป็นกองทุนในระบบ defined contribution หรือ DC ที่จะต้องกำหนดประโยชน์ทดแทนไว้ล่วงหน้า โดยจะต้องให้ครอบคลุมผู้ทำงานในระบบประมาณ 13-15 ล้านคน

สำหรับการจ่ายเงินเข้ากองทุนนั้น โครงสร้างในระยะเริ่มต้นอาจกำหนดให้สมาชิกต้องส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเพิ่มเป็น5% จากเดิมเคยศึกษาไว้ที่ 3% เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยที่เปลี่ยนไป เช่น อัตรานำส่งต้องสูงเพื่อหนีอัตราเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต และนายจ้างจะต้องจ่ายสมทบในอัตรา 5% เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในอดีตเคยศึกษาการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่ 6-8 พันบาทและเพดานค่าจ้างที่ 4 หมื่นบาท ต้องนำปัจจัยที่เปลี่ยนไปมาประกอบการคำนวณ เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้น คือ ค่าแรงขั้นต่ำรายวัน วันละ 300 บาท หรือปริญญาตรี ที่ 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และท้ายสุดการจ่ายเงินจากกองทุนให้กับสมาชิก จะสามารถรับได้ทั้งแบบเงินก้อนหรือทยอยรับในรูปเงินบำนาญซึ่งจะต้องกำหนดให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

" ปี 2575 ที่กระทรวงการคลังกำหนดรายได้จะต้องอยู่ที่เดือนละ 4 หมื่นบาท จะต้องนำมาคำนวณต่อการนำส่งในอัตราสมทบที่จะต้องทบทวนทุกๆ 5ปีนั้นเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญที่ผ่านมาที่การผลักดันให้เกิดการออมภาคบังคับไม่เกิดขึ้น ปัญหาใหญ่มาจากธุรกิจเอกชนที่จะต้องนำส่ง เพราะถูกมองว่าเป็นการนำส่งที่ซ้ำซ้อน และมีไม่น้อยที่มองว่าเป็นการสิ้นเปลือง เป็นภาระของแต่ละบริษัท เมื่อมีการนำส่งในส่วนเข้ากับกองทุนประกันสังคมที่จะต้องนำส่งถึงอายุ 55ปี หรือไม่น้อยกว่า 180 เดือน เมื่อถึงกำหนดเวลาสามารถขอรับเงินนำส่งพร้อมผลตอบแทน จะสามารถทำควบคู่หรือต้องเลือกเพียงกองทุนใดกองทุนเดียว ตรงนี้ต้องศึกษาให้แน่ชัดเช่นกัน"

[caption id="attachment_62838" align="aligncenter" width="352"] สมพร จิตเป็นธม สมพร จิตเป็นธม[/caption]

สอดคล้องกับนายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หากในอนาคตรัฐบาลต้องการให้ กอช. เข้ามาช่วยบริหารกบช.ในลักษณะของภาคบังคับ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องปรับแก้กฎหมาย ในส่วนของพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ รวมถึงปรับโครงสร้างการบริหารของ กอช.ในอนาคต ให้ครอบคลุมรูปแบบของการเป็นกองทุนภาคบังคับ ที่ให้ทุกคนต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นเงินออมรองรับเมื่อถึงวัยเกษียณ สำหรับผู้ที่ไม่ได้มีการนำส่งเงินเหมือน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

"ตอนนี้ทางกระทรวงการคลังได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เร่งศึกษาตลอดจนออกเกณฑ์ในการนำส่งเงินในอนาคต สำหรับผู้ประกันตน แน่นอนว่าจะต้องไม่เป็นภาระต่องบประมาณรวมถึงต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนเนื่องจากเป็นการออมหรือนำส่งเงินภาคบบังคับ สำหรับกระบวนการน่าจะเดินหน้าได้เร็ว ต่างจาก กอช.ที่เป็นภาคสมัครใจซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้นำส่งเงิน"

นายสมพร กล่าวถึงภาพรวมตลอดจนสถานะการนำส่งเงินสมทบของสมาชิก กอช. ปัจจุบัน ว่าแบ่งเป็นสมาชิกที่อายุ 15-30 ปี โดยรัฐบาลจะจ่ายอีก 50% ของเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี หากเป็นสมาชิกที่มีอายุ 30-50 ปี รัฐจะจ่ายสมทบ 80% ของเงินสมทบ แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี และหากมีอายุ 50 ปีขึ้นไป รัฐจ่ายเงินสมทบ 100% แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี ดังนั้นการจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมของรัฐ ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้สมาชิก กอช.ได้ผลตอบแทนก้อนแรกทันทีโดยที ยิ่งหากสมาชิกอายุ 15 ปี และจ่ายเงินสมทบเต็มเพดานปีละ 1.32 หมื่นบาท รัฐบาลต้องจ่ายสมทบให้สมาชิกรายนั้น 600 บาท คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 4% ต่อปี สำหรับสมาชิกอายุ 30-50 ปี หากจ่ายสมทบ 1.32 หมื่นบาท รัฐบาลจะจ่ายสมทบ 960 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 7% กรณีสมาชิกอายุ 50 ปีขึ้นไป จ่ายสมทบ 1,200 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 9% ซึ่งผลตอบ แทน 4-9% เป็นผลตอบแทนแรกที่สมาชิก กอช.จะได้ทันทีถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงสุดที่จ่ายให้กับผู้ฝากในธุรกิจการเงินและยังสูงกว่าทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาลและอื่นๆ

"นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินสมทบ จากภาครัฐแล้ว สมาชิกยังจะได้ผลตอบแทน 2 ต่อ คือ ผลตอบแทนจากการลงทุนตาม พ.ร.บ.กอช. ที่กำหนดว่า กองทุนฯ จะต้องจ่ายคืนให้กับสมาชิก แต่หากปีใดผลตอบแทนขาดทุนแล้วรัฐบาลเองจะจ่ายชดเชยให้กับสมาชิกขั้นต่ำ ในอัตราที่ไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี รัฐบาลให้ความสำคัญกับ กอช.อย่างมาก ตามกฎหมายได้เปิดทางให้คนที่อายุเกิน 60 ปี สมัครเป็นสมาชิกเป็นเวลา 10 ปี โดยสมัครได้ถึงวันที่ 25 กันยายน นี้เท่านั้น ขณะเดียวกันยังเปิดทางให้คนที่อายุเกิน 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี หากสมัครสมาชิกภายในวันดังกล่าวจะเป็นสมาชิกได้ 10 ปี แต่หากสมัครหลังวันดังกล่าวจะเป็นสมาชิกได้ถึงอายุ 60 ปีเท่านั้น ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเมื่อครบกำหนดการเปิดช่องให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีสมัครได้ก็จะไม่มีการขยายหรือต่อระยะเวลาออกไปอีกอย่างแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559