ปตท.จ่อตัดขายธุรกิจถ่านหินต่างประเทศสนใจเข้าซื้อหุ้นในบงกช/ยาดานา

27 พ.ค. 2559 | 06:00 น.
ปตท.ยังคงแผนลงทุนปีนี้ 5 หมื่นล้านบาท แม้โอกาสซื้อกิจการแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพียบ เผยสนใจซื้อหุ้นแหล่งบงกช-ยาดานา ล่าสุดเตรียมเสนอบอร์ดพิจาณาขาย-ไม่ขายธุรกิจเหมืองถ่านหิน ชี้ไม่รีบร้อน มีเงินสดทั้งกลุ่ม 3.8 แสนล้านบาท ประเมินราคาน้ำมันผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เฉลี่ยปีนี้ 35-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในปีนี้ปตท.ยังคงแผนลงทุนอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะมีโอกาสซื้อกิจการแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หลังจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงก่อนหน้านี้ เนื่องจากต้องการเข้มงวดการลงทุนของกลุ่มไว้ก่อน ขณะเดียวกันหลายแหล่งก็ชะลอการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งทางบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. อาจชะลอการสำรวจและผลิตแหล่งใหม่ที่ไม่คุ้มทุน หากมีความเสี่ยงสูงก็สงวนปริมาณสำรองไว้ก่อน

ขณะที่แผนลงทุน 5 ปีของ ปตท. ยังคงไว้ที่ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2559 อยู่ที่ 5.08 หมื่นล้านบาท ,ปี 2560 อยู่ที่ 6.75 หมื่นล้านบาท ,ปี 2561 อยู่ที่ 5.83 หมื่นล้านบาท ,ปี 2562 อยู่ที่ 5.14 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามการลงทุนในกิจการต่างๆ จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบริษัท เชลล์ฯ จะขายหุ้นแหล่งบงกช ในอ่าวไทย และเชฟรอนจะขายหุ้นแหล่งยาดานา ในเมียนมา ซึ่งทาง ปตท.สผ.ก็สนใจเข้าซื้อและอาจใช้สิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นในแหล่งดังกล่าว ปัจจุบัน ปตท.สผ.ถือหุ้นแหล่งบงกช 44.4% และยาดานา 25.5% แต่ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้สำหรับการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะขายหรือไม่ขายธุรกิจถ่านหิน

ปัจจุบันบริษัท PTT Mining Limited (PTTML) ถือหุ้นบริษัท Sakari Resources Limited (SAR) ซึ่งทำธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ถือหุ้นทั้งทางตรง และทางอ้อมรวม 90.2% แต่ ปตท.ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขาย เนื่องจากปัจจุบันสามารถปรับลดต้นทุนให้ต่ำกว่าราคาขาย จากเดิมอยู่ที่ 35-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงเหลือ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เทียบราคาขายอยู่ที่ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน โดยยังมองว่าธุรกิจถ่านหินไม่จำเป็นต้องขายทิ้งเพราะยังมีอนาคตไกลกว่าธุรกิจน้ำมันเล็กน้อย และปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีกระแสเงินสดรวม 3.8 แสนล้านบาท ซึ่งมากพอที่จะขยายการลงทุนในอนาคตได้

[caption id="attachment_56412" align="aligncenter" width="394"] เทวินทร์ วงศ์วานิช เทวินทร์ วงศ์วานิช[/caption]

ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ คาดว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยในช่วงไตรมาส 1/2559 อยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ปัจจุบันอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีนี้ 35-40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ การลงทุนของ ปตท. เบื้องต้นยังคงเป็นไปตามแผน เนื่องจากโครงการลงทุนส่วนใหญ่ของ ปตท.เป็นโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 คลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เฟส 1 ส่วนขยายเป็น 10 ล้านตัน และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) มีมติให้ขยายเฟสแรกเพิ่มอีก 1.5 ล้านตัน และคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ระยะแรก 5-7.5 ล้านตัน โดยกระทรวงพลังงานจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อพิจารณาว่าขนาดคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 เพราะหากทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ลงทุนคลังแอลเอ็นจี FSRU เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ก็คงไม่จำเป็นต้องมีขนาด 7.5 ล้านตัน

นอกจากนี้ยังมีคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ(FSRU) ในเมียนมา เพื่อรองรับปริมาณก๊าซในเมียนมาที่จะหมดสัญญาลง เพื่อไม่ให้กระทบต่อโรงไฟฟ้าฝั่งตะวันตก สำหรับสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจี ปัจจุบันเซ็นสัญญาระยะยาวกับทางกาตาร์ 2 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างเจรจาซื้อแอลเอ็นจีระยะยาวกับทางเชลล์ และบีพี เพิ่มอีกรายละ 1 ล้านตันต่อปี แต่ขณะนี้ตลาดแอลเอ็นจีเป็นของผู้ซื้อ ทำให้ ปตท.ซื้อแอลเอ็นจีจากตลาดจร(สปอต) ก่อน จากเดิมที่ต้องเริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2559

ขณะที่ผลการดำเนินงาน ไตรมาส 1 ปีนี้ ปตท.มีกำไรสุทธิ 2.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.2 หมื่นล้านบาท สาเหตุหลักจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลงมากตามราคาน้ำมันดิบที่ลดลงตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ทำให้ผลการดำเนินงานของ ปตท. ดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ในส่วนของการขายผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเอ็นจีวีมีผลขาดทุนที่ลดลง

ส่วนผลการดำเนินงานบริษัทในเครือ ทาง ปตท.สผ. ยังอ่อนตัวลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลการดำเนินงานลดลงเล็กน้อย โดยในส่วนของโรงกลั่นนั้น ค่าการกลั่นทางบัญชีปรับตัวลดลงจากกำไรขั้นต้นจากการกลั่นไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันที่ปรับลดลง ขณะที่ผลการดำเนินงานของโรงปิโตรเคมีสายโอเลฟินและอะโรแมติกปรับสูงขึ้นจากกำไรขั้นต้นต่อหน่วยผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559