รัสเซียเล็งใช้มาตรการขึ้นภาษี แก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณหลังวิกฤติราคานํ้ามันพ่นพิษ

25 พ.ค. 2559 | 12:00 น.
เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียระบุ รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการทางภาษีใหม่ หลังจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำทำให้รัฐบาลหมดทางเลือกในการแก้ปัญหางบประมาณที่ขาดดุล

เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานโดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียจำนวนหนึ่งว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาปรับขึ้นภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะเกิดขึ้นหลังจากปีพ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเท่านั้น โดยแนวคิดการปรับขึ้นภาษีนับว่าเป็นเรื่องที่อ่อนไหวสำหรับชาวรัสเซีย หลังจากรายได้ที่แท้จริงของประชาชนหดตัวลง 9.5% ในปี 2558 และจำนวนผู้ที่มีรายได้ยากจนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ในอัตราที่รวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2541 จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก

"เวลานี้กำลังมีการปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ดูหนักหนาเกินไป และส่งผลกระทบกับผู้คนมากเกินไป" เจ้าหน้าที่ทางการรายหนึ่งกล่าว

ในขณะที่รัสเซียใช้งบประมาณขาดดุลมาก่อนในอดีต แต่การถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกจากปัญหาในยูเครน ทำให้รัสเซียมีปัญหาในการกู้ยืมเงินจากตลาดต่างประเทศ ขณะที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ก็ต้องการให้มีการกู้ยืมเงินจากนอกประเทศให้น้อยที่สุด และสนับสนุนแนวคิดที่จะทำให้งบประมาณขาดดุลเป็นศูนย์

เจ้าหน้าที่ทางการกล่าวว่า แม้ในตอนนี้รัสเซียกำลังเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สะสมไว้มาสนับสนุนงบประมาณ แต่วิธีการดังกล่าวจะไม่เพียงพอลดช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายในอีก 3-4 ปีข้างหน้า

เศรษฐกิจรัสเซียเผชิญกับปัญหาหนักสองด้าน จากทั้งราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศลดลงอย่างมาก และการถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลง 3.7% ในปี 2558 และเป็นที่คาดหมายว่าจะหดตัวต่อเนื่องถึงปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงองค์กรเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ได้ชมเชยรัฐบาลและธนาคารกลางรัสเซียในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้วยการควบคุมงบประมาณไม่ให้ขาดดุลอย่างรุนแรง

เจ้าหน้าที่ทางการรัสเซียกล่าวว่า แม้ในขณะนี้จะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด และท้ายที่สุดการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผู้นำทางการเมือง แต่เชื่อว่าอาจจะต้องมีการลดค่าใช้จ่ายและขึ้นภาษีในอนาคตอันใกล้

จนถึงขณะนี้ รัสเซียพึ่งพาเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เก็บสะสมไว้จากอานิสงส์ของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี แต่เงินทุนสำรองลดลงเหลือเพียง 4.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ต่ำสุดในรอบ 4 ปี และลดลงจาก 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อ 2 ปีก่อน ส่งผลให้รัสเซียต้องมองหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาควบคุมการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งนายปูตินตั้งเป้าหมายที่จะลดลงให้เหลือ 3% ของจีดีพีในปีนี้

ทั้งนี้ รัสเซียได้นำมาตรการภาษีการใช้ถนนสำหรับผู้ขับรถบรรทุกมาใช้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีชาวรัสเซียออกมาประท้วง พร้อมกับลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและการแพทย์ลง

นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ด้วยการขายหุ้นส่วนน้อยในบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เช่น บริษัทน้ำมัน รอสเนฟต์ หรือธนาคาร วีทีบี แบงก์ เป็นต้น โดยรัฐบาลคาดหมายว่าจะมีรายได้เข้ามาสนับสนุนจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดเล้ก แต่มีแนวโน้มไม่มากนักที่จะแปรรูปบริษัทขนาดใหญ่ได้ในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559