น้ำมันขาขึ้นแน่ ? l โอฬาร สุขเกษม

10 พ.ค. 2559 | 03:16 น.
ทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงเวลานี้สวิงขึ้นลงแบบถี่ยิบ ในสายตาทีมงานข่าว “ฐานเศรษฐกิจ” มองว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะอยู่ในเทรนขยับตัวขึ้นทีละน้อย ซึ่งช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 ราคาน้ำมันดิบดูไบซื้อขายกันที่ 22 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล แล้วขึ้นกว่าเท่าตัวในอีก 3-4 เดือน คือ วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ราคาน้ำมันจากแหล่งซื้อขายเดียวกันขยับราคาซื้อขายไปที่ 42.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ในขณะที่หนังสือพิมพ์บางฉบับยังมองว่าเป็นทิศทางขาลงอยู่เช่นเดิม ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าใครมองสถานการณ์ผิดไป และความจริงจะปรากฏเมื่อเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 3-6 เดือนนั่นหล่ะครับ เพราะเราไม่ใช่สมาชิกผู้ผลิตน้ำมัน หรือเป็น “ขาใหญ่” วงการน้ำมันดิบโลก เราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและผู้ค้าน้ำมันสำเร็จรูปรายจิบจ้อยต่างจากประเทศซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกรายใหญ่สุดของโลก จึงกำหนดทิศทางราคาน้ำมันได้ แต่ขณะนี้ซาอุดีอาระเบียก็ยังวางเฉยที่จะจำกัดโควตาการผลิตน้ำมันประเทศของตน

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2559 กลุ่มสมาชิกโอเปคและนอกกลุ่มโอเปคจัดการประชุมขึ้นที่กรุงโดฮาประเทศกาตาร์ เพื่อหารือประเด็นการผลิตน้ำมันแต่การประชุมก็ไร้ผลเพราะไม่ได้ข้อสรุปว่าจะจำกัดปริมาณการผลิตหรือไม่ โดยเฉพาะประเทศซาอุดีอาระเบียยังเห็นว่า ซาอุฯจะยังคงไม่กำหนดปริมาณการผลิตเช่นเดิม และพร้อมจะคงการผลิตไว้หากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นจะคงกำลังการผลิตเช่นเดียวกันกันทุกประเทศ ขณะที่การประชุมครั้งนี้ประเทศอิหร่านก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมด้วย แถมอิหร่านยังให้ข่าวว่า หลังจากการแซงชั่นทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านยกเลิกไปภายหลังจากข้อตกลงนิวเคลียร์ได้ข้อยุติ อีหร่านสามารถส่งออกน้ำมันเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว จากก่อนหน้านี้ผลิตป้อนตลาดส่งออกได้วันละ 1.3 ล้านบาร์เรล/วัน ปัจจุบันส่งออกได้วันละ 2 ล้านบาร์เรลเลยทีเดียว

ราคาน้ำมันดิบโลกยังเคลื่อนไหวไปตามทิศทางข่าวแบบเดิม ๆ อาทิ ปริมาณสำรองมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง หลุ่มผลิตเปิดใหม่และปิดไปมีมากน้อยเพียงใด พลังงานทดแทนมีเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ราคาน้ำมันขึ้นอยู่กับฤดูกาล รวมถึงขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายส์ อย่างล่าสุดมีการ(ปล่อย)ข่าวว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเบรนท์จากทะเลเหนืออาจจะพุ่งขึ้นในเดือนมิถุนายสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน หรือไฟป่าในแคนานาจะลุกลามถึงแหล่งผลิตน้ำมันทำให้ต้องปิดบ่อเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์อาจเลวร้ายเกิดขึ้น ทำให้ราคาน้ำมันขยับลงไปบ้าง

ที่แน่ๆ ของข่าววงการน้ำมันบอกว่า การผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกในเดือนเมษายนปรับตัวขึ้น 484,000 บาร์เรล/วัน สู่ระดับ 33.217 ล้านบาร์เรล/วัน โดยมีสาเหตุหลักมาจากอิหร่านและอิรักที่เพิ่มปริมาณการผลิต และสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐสำรวจ ณ เดือนนี้น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกก็น่าจะมีผลต่อราคาน้ำมันดิบโลกได้

ซามูเอล เอ็ม เกียร์ (Samuel M. Kier) เป็นบุคคลแรกที่ถือได้ว่าขุดพบน้ำมัน โดยในปี พ.ศ. 2391 เขาได้ขุดพบน้ำมันโดยบังเอิญจากบ่อที่เขาขุดขึ้นบนฝั่งแม่น้ำอัลเลเกนี (Allegheny) ในมลรัฐเพ็นน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania) และตั้งชื่อน้ำมันดังกล่าวว่า น้ำมันซีนีกา (Seneca oil) ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมืองอเมริกัน ต่อมาเมื่อเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันวาฬ ซึ่งขณะนั้นนิยมใช้เป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่าง และใช้เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์ต่างๆ กันอย่างแพร่หลาย จึงเป็นแรงผลักดันให้มีการแสวงหาปิโตรเลียมมาใช้ทดแทน และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทเจาะหาน้ำมันชื่อ บริษัทซีนีกาออยส์ จำกัด (Seneca Oil Company) ขึ้นมา

ในช่วงปี พ.ศ. 2402 เป็นช่วงของ ยุคตื่นน้ำมัน ซึ่งเริ่มจากการที่ เอ็ดวิน แอล เดรก (Edwin L. Drake) ถูกส่งไปเจาะสำรวจหาน้ำมันที่เมืองทิทัสวิลล์ (Titusville) ในมลรัฐเพ็นน์ซิลวาเนีย (Pennsylvania) และเขาได้ขุดพบน้ำมันที่ระดับความลึก 69.5 ฟุต โดยมีน้ำมันไหลออกมาด้วยอัตรา 10 บาเรลต่อวัน จึงถือเป็นการเริ่มต้นธุรกิจน้ำมันในเชิงพาณิชย์ของโลกนับตั้งแต่นั้นเป็น ต้นมา ข้อมูลเหล่านี้ผมได้มาจาก เว็บไซด์วิกิพีเดียครับ ก่อนหน้านี้ก็เคยดูหนังเรื่อง in the heart of the sea ของ Nathaniel Philbrick เล่าเรื่องล่าวาฬเพื่อเอาไขมันวาฬมาใช้ และในหนังบอกว่ามีคนขุดน้ำมันได้จากบนบกแล้วเขาก็หัวเราะ เพราะสมัยนั้นจะได้ไขมันวาฬสำหรับจุดตะเกียงและเป็นน้ำมันหล่อลื่นหรือใช้น้ำมันวาฬเพื่อสารพัดประโยชน์ ความจริงต้นแบบเรื่องนี้คงได้แรงบันดาลใจจากวาฬชื่อ Mody Dick นิยายผจญภัยสุดมันของ Herman Melville นั่นเอง

ช่วงชีวิตของผมโลกเคยโกลาหลเพราะราคาน้ำมันดิบโลกแพงสุดขีด ก็ประมาณปี 2547 – 2548 นี่หล่ะครับ มีบทความออกมาเผยแพร่ถี่ยิบว่าน้ำมันกำลังจะหมดโลก รายงานเป็นตุเป็นตะ ไม่ต่างกับช่วงปี 2518 ที่ทั่วโลกตื่นตระหนกว่าโลกกำลังกลับเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่อากาศหนาวเย็นผิดปรกติ จนกระทั่ง 7-8 ปีมานี้ ทั่วโลกจึงปรับความคิดใหม่ว่าโลกกำลังร้อนขึ้นไม่ใช่โลกกำลังจะเย็นลง

ย้อนหลังไปราวปี 2520 ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล แต่มาพุ่งสูงขึ้นทำลายสถิติเดิมๆ ตั้งแต่ปี 2550 เพราะราคาน้ำมันทะยานขึ้นมาสู่ระดับสูง อาทิ มิ.ย. 2550 เบรนท์ สูงสุดที่ระดับ 74 เหรียญต่อบาร์เรล เวสเท็กซัส (WTI) 70 เหรียญต่อบาร์เรล ดูไบ 67 เหรียญต่อบาร์เรล เดือน ก.ค. เบรนท์ 80 เหรียญต่อบาร์เรล WTI 75 เหรียญต่อบาร์เรล ดูไบ 70 เหรียญต่อบาร์เรล และวันที่ 16 ก.ค. 2550 น้ำมันดิบเบรนท์แตะ 78.12 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 เดือน และวันที่ 21 พ.ย. น้ำมันดิบไลท์สวีท ตลาดสิงคโปร์ ปรับสูงถึง 99.29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ถือเป็นการทำลายสถิติสูงสุด (นิวไฮ) อีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ปรับสูงถึง 98.62 เหรียญสหรัฐ ส่วนเวสต์เท็กซัส อยู่ที่ 98.22 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เบรนท์ 94.47 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดูไบ 87.20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ราคาตลาดโลกที่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในรอบ 100 ปี มาจากปัจจัยหลักสำคัญคือ 1. กำลังผลิตของโลกตึงตัวทำให้เกิดการเก็งกำไรจากเฮดจ์ฟันด์ 2.สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงทั้งอากาศที่หนาวเย็นและพายุเฮอร์ริเคนที่กระทบแหล่งผลิตโดยเฉพาะเฮอร์ริเคนดีนที่พัดเข้าอ่าวเม็กซิโกทำให้กระทบต่อการผลิต 3. ค่าเงินเหรียญสหรัฐที่อ่อนค่าลง 4. ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีนที่ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นมากและ 5. ปัญหาความไม่สงบในตะวันออกกลางทั้งไนจีเรีย อิรัก และอิหร่าน ซึ่งกรณีอิหร่านถือเป็นปัจจัยสำคัญในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2550 เนื่องจากมหาอำนาจตะวันตกหารือคว่ำบาตรกรณีนิวเคลียร์ และตอนปี 2551 ต่อมาราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอีกเป็นต้นว่า ราคาน้ำมันในตลาดไนเม็กซ์เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2551 อยู่ที่ 117.64 เหรียญสหรัฐ/ บาร์เรล จาก 118.75 เหรียญสหรัฐ/ บาร์เรล หลังๆ มานี้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นจนมีคนทำนายว่าราคาน้ำมันมีสิทธิ์แตะถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลเลยทีเดียว ด้วยสาเหตุจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง

แต่แล้วราคาน้ำมันโลกถึงคราวพลิกผันลดต่ำลงโดยข่าวเดิมๆ เรื่องน้ำมันจะหมดโลกสิ้นมนต์ขลัง ราคาน้ำมันดิบจากราคา 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลกลับมาเหลือ 62 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในวันที่ 10 ธันวาคม 2557 เป็นการตกครั้งแรกในรอบ 5 ปี สาเหตุจากอเมริกาเหนือผลิตน้ำมันจากหินดานได้สำเร็จและมีปริมาณมากเหลือคณานับและปล่อยออกท้องตลาดแข่งกับแหล่งขุดเจาะน้ำมันในแบบเดิมๆ กอปรกับการลดการใช้น้ำมันมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นจากการค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วย จากนั้นราคาน้ำมันก็ไหลลงเรื่อยๆ จนกระทั้งปลายเดือนมกราคม 2559 ราคาน้ำมันดิบดูไบซื้อขายกันที่ 22 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล แล้วขึ้นกว่าเท่าตัวในอีก 3-4 เดือน คือ วันที่ 6 พฤษภาคม 2559 ราคาน้ำมันจากแหล่งซื้อขายเดียวกันขยับราคาซื้อขายไปที่ 42.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และขณะนี้อยู่ระหว่าง 43-44 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล
ปี 2559 นี้ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) รายงาน ณ เดือน ธ.ค.2558 ว่า อุปสงค์น้ำมันโลกจะขยายตัวที่ 1.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งชะลอตัวลงจากการขยายตัวในปี 2558 ที่ 1.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IEA คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันโลกจะยังคงประสบกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดจนถึงสิ้นปีหน้า แต่ทว่าอุปทานน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มขยายตัวลดลงกว่าปี 2558 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากอัตราการผลิตน้ำมันดิบ และคาดว่ากลุ่มผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกจะชะลอตัวลงราว 6 แสนบาร์เรล โดยการลดลงส่วนใหญ่มาจากการชะลอตัวของอัตราการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่จะชะลอตัวลงประมาณ 4 แสนบาร์เรล เนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐบางส่วนได้ชะลอการผลิตและขุดเจาะน้ำมันดิบลง สะท้อนได้จากรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 60 จากระดับสูงสุดที่ 1,609 แท่น ในเดือน ตุลาคม 2557 อันเป็นผลมาจากสภาวะราคาน้ำมันดิบที่ตกต่ำ

สำหรับอุปสงค์การใช้น้ำมันของโลกในปี 2559 ยังมีแนวโน้มจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปี 2558 อยู่ที่ระดับ 96.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน (IEA ธ.ค.58) โดยได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.6 (IMF ต.ค.58) โดยเฉพาะความต้องการใช้ของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ เช่น อินเดีย เป็นต้น

นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ และกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น อาจสนับสนุนให้อุปสงค์การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันของประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอาจขยายตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม จากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่มุ่งเน้นการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น และลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงาน บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า (จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,154 วันที่ 5 – 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559) แนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โดยน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ส่งผลให้กลุ่มทุนโยกย้ายเงินเข้ามาลงทุนในตลาดทองคำและน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการเก็งกำไรจากน้ำมันดิบและทยอยขายออกมาในช่วงนี้ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันในช่วงนี้ปรับเพิ่มขึ้นแต่ส่วนตัวคาดว่าไม่น่าจะเกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกาลดลง โดยรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ต่อเนื่องกัน ล่าสุดพบว่าจำนวนแท่นขุดเจาะลดลง 11 แท่น อยู่ที่ 332 แท่น ทำให้ราคาน้ำมันช่วงนี้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำลังการผลิตในสหรัฐฯจะลดลง แต่ก็มีปัจจัยลบ ซึ่งกดดันราคาน้ำมันดิบลดลง คือกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบ(โอเปก) อาทิ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อิรัก และรัสเซีย ปรับเพิ่มขึ้น โดยพบว่าการผลิตในเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอีก 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากยังมีปัจจัยลบกดดันราคา โดยเฉพาะกำลังการผลิตจากกลุ่มโอเปก ซึ่งคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบระยะสั้น 1-2 เดือนเฉลี่ย 45-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล สำหรับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ คาดว่ามีโอกาสปรับขึ้นอีกรอบในช่วงปลายสัปดาห์นี้ สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้

นักวิเคราะห์บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์หน้า คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อยู่ที่ 41-47 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันเบรนต์ เคลื่อนไหวในกรอบ 44-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งมีปัจจัยที่น่าจับตามอง คือปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯลดลง โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ(อีไอเอ) เผยการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ลดลงมาอยู่ที่ 8.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ 332 แท่น

นอกจากนี้ปริมาณน้ำมันคงคลังในสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 540.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่มีการผิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินและปิดซ่อมบำรุงตามแผนในช่วงที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 2.9 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องและส่งผลกดดันราคาน้ำมันน้อยลง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมและยังคงไม่รีบปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในเร็วนี้

ขณะที่นายเทวินทร์ วงศ์วางนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกกับ “ฐานเศรษฐกิจว่า เมื่อเร็วๆ นี้ราคาน้ำมันดิบ 28 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล เป็นราคาที่ลงมาต่ำสุดแล้ว ในขณะที่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบขยับมาที่ระดับ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และคงจะไม่มีโอกาสกลับไปที่ระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในช่วง 3-5 ปีข้างหน้านี้ พร้อมกับชี้ให้เห็นว่า ราคาน้ำมันดิบในช่วงอีก 3-5 ปีข้างหน้าคาดว่าจะขึ้นไปที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลเนื่องจากแหล่งเชลออยล์ซึ่งเป็นระบบเสรีจะทยอยกลับมาผลิตจากราคาน้ำมันดิบที่คุ้มทุนได้

จากข้อมูลภาคสนามบอกว่าทรายน้ำมันชั้นหินดานได้มาจากการทำเหมืองเปิด ทรายน้ำมัน 2 เมตริกตันจะให้น้ำมัน 1 บาร์เรล ช่วงฤดูหนาวนอเมริกาเหนือต้องอุ่นทรายน้ำมันระหว่างขนถ่ายเพื่อทำการผลิต จากนั้นใช้น้ำอุ่นแรงดันสูงและตัวทำละลายจะแยกน้ำมันดินหรือบิทูเมนออกจากทราย จากนั้นต้องแปรสภาพบิทูเมนให้เป็นน้ำมันดิบก่อนโดยผ่านความร้อนที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียสในโค้กเกอร์ยูนิต (Coker Unit) เพื่อให้โมเลกุลขนาดใหญ่ของน้ำมันดินแตกตัว หรือใช้วิธีให้ความร้อนต่ำแล้วปั่นด้วยก๊าซไฮโดรเจนและสารเร่งปฏิกิริยา จนได้น้ำมันดิบที่สะอาดและมีกำมะถันต่ำ ต้นทุนการผลิตจึงสูงกว่าสูบน้ำมันดิบขึ้นมาจากพื้นดินมาก

ผมเชื่อว่าการบริโภคน้ำมันยังเพิ่มขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ก็ตาม ผมเชื่อว่าราคาน้ำมันอย่างไรก็จะต้องขยับตัวสูงขึ้นไปแน่ๆ และก่อนหน้านี้เคยประเมินว่าเฉลี่ยปี 2559 ราคาน้ำมันดิบโลกจะอยู่ที่ระดับ 54 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ครับ ถือว่าราคากลางๆ ดี ไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป หากราคาน้ำมันขยับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ ย่อมจะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย แล้วเรากำลังจะเริ่มต้นซ้ำรอยวิถีชีวิตน้ำมัน 2-3 ลิตรร้อยอีกครั้งในปีหน้าหรือปีถัดไปนั่นหล่ะครับ

Photo : Pixabay